
ช่วงปลายปี 2020 ตรงย่านถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 ที่ชาวหาดใหญ่รวมไปถึงคนในพื้นที่ใกล้เคียงเรียกติดปากกันว่า “สายหนึ่ง” ตรงถนนเส้นนี้มีแหล่งคอมมูนิตี้เล็กๆ ถือกำเนิดขึ้นแบบซอฟต์ๆ เอาไว้เชื้อเชิญผู้คน และหากมองดูเผินๆ จากภายนอก สิ่งแรกที่เตะตาคือร้านกาแฟตกแต่งสไตล์ร่วมสมัยและคงความเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้แบบไม่ดูโมเดิร์นจนเกินงาม ได้ซ่อนสิ่งละอันพันละน้อยไว้ เป็นทั้งพื้นที่รวมกลุ่มของคนที่ชอบหรืออยากดูหนังนอกกระแส (ถ้าใครติดตามจากเพจเรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดูน่าจะทราบกันดี) เป็นคาเฟ่ที่มีกาแฟและขนมรสดี เป็นแกลเลอรีที่ให้ศิลปินอิสระมาปล่อยของ เป็นฟลอร์สวิงแดนซ์ หรือเป็นได้แม้กระทั่งการโซโลดนตรี ที่นี่ก็คือ “Lorem Ipsum” สเปซสร้างสรรค์และคอมมูนิตี้ในเมืองหาดใหญ่โดยเกิดจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่ต้องการปลุกเมืองหาดใหญ่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นอท-เรวัฒน์ รักษ์ทอง สถาปนิกและดีไซเนอร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Lorem Ipsum คือผู้ปลุกปั้นอาคารหลังนี้ซึ่งเป็นที่ตั้งของคอมมูนิตี้ร่วมสมัยแห่งนี้โดยที่ยังคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ในระหว่างที่นอทเล่าย้อนให้เราฟังถึงความเป็นมาของถนนเส้นประวัติศาสตร์และจุดเริ่มต้นของ Lorem Ipsum สายตาและน้ำเสียงนอทชี้ชัดถึงความสุขที่ฉายแววออกมาทางสีหน้าอยู่เป็นระยะ พลอยทำให้เรื่องเล่าทั้งหมดฟังดูแล้วเหมือนปลุกความเฉารอบตัวให้มีชีวิตชีวาเช่นเดียวกับตัวอาคารได้ไม่แพ้กันแม้แต่น้อย

สายหนึ่ง : พระเอกแห่งเมืองหาดใหญ่
“เล่าย้อนไปสมัยก่อนว่า ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1หรือที่เรียกกันว่าสายหนึ่ง เป็นถนนเส้นแรกในเมืองหาดใหญ่ โดย ขุนพิพัทธ์จีนนคร (เจียกีซี) ต้นตระกูลจิระนคร ท่านทำบริษัทรับเหมาสร้างทางรถไฟสายเพชรบุรีจรดชายแดนใต้ โดยรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจการและผู้จัดการทั่วไปจนเล็งเห็นว่าพื้นที่ข้างสถานีรถไฟน่าจะสร้างเป็นเมืองได้ เขาเลยซื้อที่ดินทำเป็นถนน แล้วปล่อยที่ให้บริษัทเอกชนหรือคหบดีสมัยก่อนนำไปสร้างบ้าน ซึ่งต่อมาเจ้าของอาคารชุดนี้คือคหบดีชาวปีนัง-อิโปห์ โดยอาคารชุดนี้ (ที่ตั้งของ Lorem Ipsum) จะมีความเป็นพหุวัฒนธรรมแฝงอยู่ เพราะได้รับอิทธิพลจากฝั่งมลายู จีน ยุโรป รวมถึงไทยเจืออยู่ด้วย เป็นแนวผสมผสานหรือพหุวัฒนธรรม ยกตัวอย่าง façade จะเป็นรูปดาว รูปพระจันทร์ที่บ่งบอกว่าได้รับอิทธิพลจากอิสลาม, จีน หรือลายวิกตอเรีย ซึ่งเรียกรูปแบบของ façadeแบบนี้ว่า Jubilee anniversary คือการสร้างเพื่อเฉลิมฉลองสมัยที่ควีนส์วิกตอเรียเคยขึ้นครองราชย์ ซึ่งโดยรวมแล้วยังคงรูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ครบถ้วน อย่างหน้าต่าง ประตู หรือกระเบื้องปูพื้นในห้องน้ำถึงจะมีอายุกว่าร้อยปีก็ยังคงสภาพที่ใช้ได้

จริงๆ แล้วถนนเส้นนี้ยังได้แบบแปลนมาจากปีนัง ซึ่งถ้ามองจะเห็นคล้ายกับห้างสรรพสินค้าแนวราบ ถนนสามเส้นนี้จึงต่อกันด้วยซอยเล็กๆ เป็นตารางหมากรุก (ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 1, 2, 3) มีร่องรอยของห้างขายผ้าชาวซิกข์ บ้านคนจีน บ้านพ่อค้าชาวจีน ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นคุณูปการของขุนพิพัทธ์ฯ ที่บรรจงสร้าง facility และสร้างระบบนิเวศในเมืองให้เข้มแข็งจนครบถ้วนสมบูรณ์ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ชุมชนต่างๆ ที่เกิดขึ้น เลยทำให้เมืองหาดใหญ่เจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว” นอทเล่า

สเปซที่อัดแน่นด้วยการคิดนอกกรอบ
“ผมชอบที่นี่ ผมวิ่งเล่นและรู้สึกผูกพันกับแถวนี้ตั้งแต่เด็ก เพราะมันร่มเย็น ทิศทางลมดี ไม่ร้อน ประจวบกับการล้อเลียนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นด้วย ซึ่งเราชอบสถาปัตยกรรมแนวนี้อยู่แล้ว ก็ได้แต่เล็งไว้ คิดไว้ว่าอยากมีสเปซแบบพี่เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล (เจ้าของ a.e.y.space ที่สงขลา) เรื่องมันเริ่มต้นจากไปที่ a.e.y.space แล้วคิดว่าอยากจะมีสเปซแบบนี้ ช่วงนั้นเผอิญได้รู้จักกับพี่ต้น (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ Lorem Ipsum) พอดี ซึ่งพี่ต้นอยากมีสเปซไว้ฉายหนังและคอมมูนิตี้ที่รวมกลุ่มคนรักหนังด้วย

“ก่อนจะเป็น Lorem Ipsum อย่างทุกวันนี้ เมื่อก่อนบ้านหลังนี้ชื่อว่า ‘ห้างกิจชัย’ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจชัย เอเซียวิทยุโทรทัศน์) ซึ่งขายพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบครบวงจรและถือว่าเป็นผู้ค้าของใช้อิเล็กทรอนิกส์เจ้าแรกๆ ในหาดใหญ่ ถ้าสังเกตในร้านจะเห็นว่ามีร่องรอยของการเจาะผนังอยู่เยอะ ร่องรอยนี้มีที่มาจากพวกชั้นวางสินค้าในห้าง จนต่อมากิจการเขาล้มละลายเพราะวิกฤติต้มยำกุ้ง เขาก็มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เขาก็สู้จนสุดท้ายสู้ไม่ไหว ที่นี่เลยว่าง ผมก็เข้ามาช่วงนั้นพอดี เหมือนบ้านหลังนี้รอให้ผมทำอะไรกับมันสักอย่าง พอผมเห็นสภาพบ้านแล้วเห็นภาพเลยว่าเราจะทำอะไร แต่เราไม่ได้ออกแบบใหม่นะ เอาสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป แต่ถ้าจะเรียกว่าออกแบบก็ไม่ผิด แต่เราแค่ไม่ได้ใส่ความเป็นดีไซน์เข้าไป เราแค่ดึงแกนหลักและร่องรอยของสถาปัตยกรรมออกมาให้มากที่สุด ซึ่งถ้าคนที่มาที่นี่เขาเป็นในแบบที่เราคิดก็จะเข้าใจในสิ่งที่เราจะนำเสนอ เลยอยากจะให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแกลเลอรี พื้นที่ฉายหนัง หรือคาเฟ่ได้

“อีกอย่างหนึ่งผมพยายามชูคำว่า “สเปซ” ให้ได้มากกว่าภาพจำของความเป็น “คาเฟ่” ถ้าลูกค้าเดินเข้ามาจะได้สัมผัสกับสเปซก่อนที่จะเดินมาถึงเคาน์เตอร์ร้านกาแฟ เราเลยอยากเน้นสเปซมากกว่าที่จะเป็นร้านกาแฟ เหมือนคุณเดินเข้ามาในบ้านคน ที่ไม่ใช่เดินเข้ามาแล้วมันคือร้านกาแฟจนเกินไป อยากให้เป็นสถานที่ที่ใครก็ได้มาถ่ายรูปที่นี่ให้ได้สักครั้ง ได้มากินกาแฟหรือกินขนมดีๆ หรือมีพื้นที่ไว้จัดกิจกรรมได้ ผมคิดว่าสเปซตรงนี้เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ แต่ได้ความเป็นประวัติศาสตร์ ความอิมแพ็ก ความยูนีค มันจะต่อยอดอะไรก็ได้ และอยากจะฟื้นฟูย่านนี้ให้กลับมาคึกคัก ตอนนี้ก็ดีมากกว่าเดิมแล้ว อะไรหลายๆ อย่างเริ่มสว่างมากขึ้น มีคนมาถ่ายวิดีโอ ถ่ายรูปตึก ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี”

พบเจอ รู้จัก คอมมูนิตี้ไซส์เล็กอันอบอุ่น ผ่านไปไม่กี่นาที คำบอกเล่าอย่างจริงจังของนอทล้วนเป็นสิ่งที่บอกได้เป็นอย่างดีว่าอยากให้ Lorem Ipsum เป็นแหล่งบ่มเพาะ เกิดไอเดีย เกิดการต่อยอด หรือเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่อยากส่งต่ออะไรดีๆ ให้แก่กัน
“คอมมูนิตี้คือการมารู้จักกัน อย่างถ้าใครมาดูหนังบนโรงฉายหนังชั้นสอง พอดูจบคนดูจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่ยังคงค้างอยู่ในหัวคล้ายๆ ป๊อปคอร์นคล้ายกำลังปะทุออกมาประมาณว่าหนังแบบนี้ก็มีด้วยเหรอ แล้วจากที่เขาได้ดูเรื่องแรก เขาก็มาดูเรื่องต่อๆ ไป หรือบางคนที่ดูก็อาจจะมีความเห็นต่างกันไปก็ได้ ซึ่งสถานที่นี้มันไม่ได้เป็นแค่โรงฉายหนัง มันเป็นแกลเลอรีก็ย่อมได้ เพราะผมมีคอนเซปต์อยากจะทำ Temporary Exhibition (นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย), Moveable Gallery (นิทรรศการหมุนเวียน) เล็กๆ อยู่แล้ว ที่ชวนศิลปินท้องถิ่นในหาดใหญ่มาร่วมเป็นช่องทางในการนำเสนอผลงานของเขา อย่างล่าสุดมีงานจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Long Street Still a long way to go ของ กร-ธนากร แซ่เตีย ก็จัดแสดงเป็น Solo Exhibition ได้ คนในพื้นที่ก็จะได้มีจุดเริ่มต้นที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง เอาเข้าจริงคนในพื้นที่มีศักยภาพเยอะมาก แต่เขาแค่ไม่มีช่องทาง

“ตอนนี้ถ้าถามถึงเป้าหมายผมอยากให้ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองหรือชุมชนที่ช่วยพลิกฟื้นความซบเซาขึ้นมา แม้อาจจะดูช้าไปสักหน่อย แต่จะทำเท่าที่ไหว อยากให้ที่นี่เป็นระบบนิเวศแบบปิดเหมือน Sub-consumer แบบที่สงขลา ถึงจะไม่มีนักท่องเที่ยวแต่คนในพื้นที่ก็ยังใช้จ่ายกันได้เหมือนเดิม ต่อไปเราอาจจะเริ่มจับจุดเหมือนสงขลา ค่อยๆ ทำสตอรี่ของย่านนี้ไป” นอทปิดท้ายด้วยหวังว่าอยากจะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเร็วๆ แล้ว