Anna Reid นักประวัติศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ “Borderland: a Journey through the History of Ukraine” เผยแพร่บทความชิ้นนี้ผ่านเว็บไซต์ The Guardian
สงครามคือโศกนาฏกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางวัฒนธรรมอย่างน่ากลัว ยูเครนก็ไม่ต่างจากประเทศเล็กอื่นๆ ที่วัฒนธรรมนั้นสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวยูเครน โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่สั่งสมจนเป็นเอกลักษณ์แห่งชนชาติของตนเอง ผ่านการปกครองของคนต่างด้าวท้าวต่างแดนมาเนิ่นนานหลายศตวรรษ
เมืองที่เสี่ยงเสียหายอย่างหนักคือ คาร์คิฟ (Kharkiv) แม้จะยังอยู่ในอำนาจยูเครนก็ตาม แต่ก็ถูกระดมยิงอย่างหนักหน่วง
ตามย่านศูนย์กลางการค้าของเมือง จะเต็มไปด้วยบ้านพักพ่อค้านายวาณิชและคลังสินค้าที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อันน่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง แต่ที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คืออาคารสถานที่ราชการที่ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรม constructivist ในช่วงทศวรรษ 1920 ในฐานะที่คาร์คิฟเป็นเมืองหลวงประจำสหภาพโซเวียตยูเครน
นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม Owen Hatherley เปรียบไว้ว่า มีเพียงอาคารในเมือง Dessua ในดินแดนอดีตเยอรมันตะวันออก หรืออาคารใน Tel Aviv เท่านั้น ที่อาจนำไปเปรียบได้กับอาคารในยุคนั้น
ลักษณะอันโดดเด่นที่สุดของอาคารกลุ่มนี้คือ รูปแบบของ futurist ที่เป็นบล็อกคอนกรีตและทางเดินลอยฟ้า แม้ยังไม่ถูกทำลาย แต่ในบางที่ เช่น ห้องหนึ่งที่ตกแต่งในรูปแบบนีโอคลาสสิกยุคสตาลิน บานหน้าต่างทุกบานและหลังคาบางส่วนถูกโจมตีเสียหายไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม
ส่วนอาคารที่เป็นแลนด์มาร์กของเมืองที่ชื่อว่า “Slovo” (หรือ “คำ”) ถูกโจมตีโดยตรงถึงสามหน อาคารที่มีรูปร่างคล้ายตัว C ซึ่งเป็นพยัญชนะแรกของคำว่า slovo ตามภาษาซีริลลิก (Cyrillic) แห่งนี้ สร้างเพื่อเป็นที่พักของนักเขียน นักวิชาการ และศิลปินชาวยูเครนผู้ที่มีชื่อเสียง ที่แสดงถึงความเติบโตเบ่งบานทางวัฒนธรรมของประเทศ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะในเมืองคาร์คิฟยังได้รับความเสียหาย จากภาพถ่ายที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย พบเห็นผ้าม่านขาดเป็นริ้วๆ พื้นไม้ปาร์เก้และกระจกแตกกระจัดกระจาย ภาพเขียนบางชิ้นหล่นคว่ำบนพื้น ในบรรดางานล้ำค่าเหล่านี้ มีภาพเขียน 11 ชิ้น ของจิตรกรคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 19 Ilya Repia รวมอยู่ด้วย
แม้ศิลปินท่านนี้จะเกิดในละแวกนั้น แต่ก็เริ่มอาชีพจิตกรของตัวเองที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ปารีส และมอสโก หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า ช่างเป็นสถานการณ์ที่น่าเย้ยหยันเสียเหลือเกิน
“เราต้องช่วยเหลือดูแลรักษางานศิลปะของศิลปินรัสเซีย จากน้ำมือคนชาติเดียวกันเอง”
หนึ่งในเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งที่ถูกปิดล้อมก็คือ เชอร์นิฮีฟ (Chernihiv) ทางตอนเหนือของเมืองเคียฟ (Kyiv) ฉันไปเยือนที่นั่นเมื่อสี่สัปดาห์ก่อน ยังคงเป็นเมืองที่เงียบสงบและสวยงาม มีโบสถ์สีขาว เขียว และสีทอง ตระหง่านตัดกับท้องฟ้าสีคราม และหิมะที่ส่องประกายระยิบระยับ
ไกด์ท้องถิ่นซึ่งตอนนี้อพยพพร้อมครอบครัวไปยังโปแลนด์แล้ว บอกฉันผ่านโทรศัพท์ว่า โบสถ์หลังดังกล่าวยังคง “แสดงสง่าราศีแด่พระเจ้า” ต่อไป ยังไม่โดนทำลาย แต่โรงภาพยนตร์ในยุคสหภาพโซเวียตที่จัตุรัสใจกลางเมืองถูกทำลายไปแล้ว “รวมทั้งน้ำพุของพวกเราด้วย” เธอกล่าวพลางร้องไห้
นอกจากนี้ เอกสารสำคัญในหอจดหมายเหตุของยูเครนก็กำลังอยู่ในความเสี่ยง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินปิดไม่ให้คนรัสเซียยกเว้นนักวิจัยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้งานจดหมายเหตุ ทำให้บันทึกเอกสารจดหมายเหตุของยูเครน มิได้เป็นเอกสารที่ใช้ค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประเทศยูเครนเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นช่องทางการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคสหภาพโซเวียตทั้งหมดของนักประวัติศาสตร์อีกด้วย
Daria Mattingly นักประวัติศาสตร์ยุคสตาลินชื่อดังเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า จะเกิดการทำลายล้างจดหมายเหตุ (archivovcide) เพราะผู้ยึดครองรัสเซีย “อาจทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่สอดรับกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพวกเขา … นั่นคือหายนะครั้งยิ่งใหญ่ จนลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นยูเครนทิ้งไป”
ในเคียฟ (Kyiv) และที่ต่างๆ นักจดหมายเหตุทำงานแข่งกับเวลาเพื่อสแกนเอกสาร และโยกย้ายข้อมูลดิจิทัลไปเก็บยังเซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ แต่สำหรับบางที่ก็สายไปเสียแล้ว อาคารแห่งหนึ่งที่เก็บเอกสารของ KGB ในเขตเชอร์นิฮีฟ หลังคาพังพินาศจากการถล่มยิง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเกิดความเสียหายอะไรบ้าง
ขณะที่ Konstantin Akinsha นักประวัติศาสตร์ศิลปะในบูดาเปสต์ กำลังหวาดกลัวต่อชะตากรรมของเมืองโอเดสซา (Odesa) ที่กองทหารรัสเซียเฝ้ารออยู่นอกชายฝั่ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะโอเดสซาถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทีมงานอาสาสมัครกำลังช่วยกันเก็บภาพวาด เพื่อนำไปซ่อนยังที่ปลอดภัย เพราะหวั่นกลัวการปล้นสะดมของรัสเซีย แต่เนื่องจากข้าวของมีหลายพันชิ้น สมบัติส่วนใหญ่จึงยังคงอยู่ที่เดิม
Akinsha ยังเป็นห่วงพิพิธภัณฑ์ศิลปะตะวันตกและตะวันออก แล้วยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์วรรณคดีที่สำคัญ “มีเอกสารต้นฉบับที่ยากจะเชื่อ” เขากล่าว “ฉันอยากจะร้องไห้ ช่างน่ากลัวมาก”
สิ่งที่ Akinsha ต้องการเห็นตอนนี้ นอกเหนือจากประเทศตะวันตกที่สัญญาว่าจะส่งปืนต่อสู้อากาศยานให้ยูเครน แต่ยังเป็นคำแถลงการณ์คัดค้านสงครามต่อสาธารณะอย่างจริงจัง จากบุคคลสำคัญในวงการพิพิธภัณฑ์ในรัสเซียเอง
“ฉันไม่ได้ขอให้พวกเขาไปที่จัตุรัสแดง แล้วจุดไฟเผาตัวเอง แต่อย่างน้อยพวกเขาสามารถแสดงออกในบางสิ่งได้ แต่กลับเงียบสนิท ช่างน่าขยะแขยง”
ข้อมูล :
- https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/mar/15/ukrainian-heritage-under-threat-truth-soviet-era-russia
- https://en.wikipedia.org/wiki/Slovo_Building
ภาพถ่ายโดย : Masha Raymers จาก Pexels