
“ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่า ในสงครามโลกครั้งที่ 3 จะใช้อาวุธอะไรปะทะกัน แต่สงครามโลกครั้งที่ 4 จะสู้รบกันด้วยก้อนหินและกระบอง” คำเปรียบเปรยของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ มีเค้าลางว่าอาจเป็นจริงก็ได้ หากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน บานปลายกลายเป็นสงครามโลกขึ้นมา
เพราะเมื่อเริ่มสงครามวันแรกๆ ก็ได้ข่าวว่า ฝ่ายรัสเซียเตรียมติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ ข่มขู่ศัตรูไว้แล้ว ต่อมาอีกวันก็เห็นภาพข่าวของชาวยูเครน ร่วมแรงร่วมใจกันผลิตระเบิดขวด หรือ molotov cocktail อย่างขยันขันแข็ง ช่างขัดแย้งกันเหลือเกิน
ฝ่ายหนึ่งมีอาวุธที่ทรงแสนยานุภาพ สร้างหายนะได้อย่างราบคาบ จนเรียกได้ว่าล้างโลกเลยทีเดียว ส่วนอีกฝ่ายก็เริ่มต้นใช้อาวุธพื้นๆ ระดับเด็กอาชีวะบ้านเราใช้เป็นอาวุธประจำกาย ก่อนจะไปถึงก้อนหินและกระบองรบกัน คงต้องผ่านวาระของระเบิดขวดแบบนี้ไปก่อนกระมัง
แต่การต่อสู้ที่ไร้ปืนไร้อาวุธหนัก หรือแม้แต่ไร้ระเบิด ก็ทำให้คนตายได้เหมือนกันนะ
ย้อนหลังไปสองปีก่อน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ทหารของอินเดียกับจีนเข้าปะทะกันตรงชายแดน บริเวณหุบเขากาลวาน (Galwan valley) ในลาดักห์ ฝ่ายอินเดียรายงานว่า ทหารของตนเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นาย ส่วนฝ่ายจีนไม่ยืนยันข้อมูลใดๆ
ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่สันเขาสูงเกือบ 14,000 ฟุต (4,000 เมตร) ทหารบางนายร่วงลงสู่แม่น้ำกาลวานความยาว 80 กิโลเมตร ที่ไหลเชี่ยวและมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ที่สำคัญก็คือ ทหารทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยมือเปล่า แท่งเหล็กที่มีตะปูแหลมตอกติดไว้ และก้อนหิน
อ่านข่าวแล้วก็ขนลุก ในหัวจินตนาการถึงภาพสงครามโลกครั้งที่ 4 ขึ้นทันที หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนพัฒนากลายไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 จริงๆ
ย้อนกลับไปที่ไอสไตน์ คำกล่าวอ้างของเขานั้นไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แต่ใจความสำคัญที่เขาต้องการสื่อก็คือ สงครามมิได้ทำลายเฉพาะชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ที่น่ากลัวกว่า กลับเป็นการทำลายล้างอารยธรรมของมนุษย์ ในยามสงคราม เราช่วยเหลือปกป้องชีวิตมนุษย์ไม่พอ ยังต้องคุ้มครองอารยธรรมของมนุษย์ด้วย
แม้ว่างานเร่งด่วนคือการรักษาชีวิตพลเรือนชาวยูเครน ในยามที่ทหารรัสเซียจู่โจมยึดเมือง
แต่ Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก (UNESCO) แถลงว่า มรดกทางวัฒนธรรมในยูเครนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพื่อแสดงถึงความเป็นมานับแต่อดีต พร้อมกับเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดขบวนการสันติภาพขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความสามัคคีเพื่อก้าวต่อไปในอนาคตร่วมกัน
“ความท้าทายแรกสุดเลยคือการปักหมุดทำเครื่องหมายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและอนุสรณ์สถานต่างๆ เพื่อแสดงสถานะพิเศษ ว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในพื้นที่คุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” Azoulay ระบุ
ยูเนสโกได้ติดต่อรัฐบาลยูเครนเพื่อขอทำเครื่องหมายระบุสถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ ด้วยการติดตราสัญลักษณ์ “โล่สีน้ำเงิน” ตามข้อกำหนดของอนุสัญญากรุงเฮก เพื่อปกป้องคุ้มครองสมบัติทางวัฒนธรรมในเหตุความขัดแย้งของสถานการณ์สงครามปี 1954 (1954 Hague Convention for the Protection of Cultural Property in the Event of Armed Conflict) เพื่อให้รอดพ้นความเสียหาย ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่เจตนาก็ตาม
งานติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ดังกล่าว เริ่มต้นบริเวณศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ในเมือง L’viv ทางภาคตะวันตกของยูเครน ขณะที่คนส่วนใหญ่อพยพหนีสงครามไปทางตะวันออก
สถานที่ที่เป็นมรดกโลก เช่น มหาวิหาร Saint-Sophia Cathedral รวมทั้งตัวอารามต่างๆ และ Pechersk Lavra ในเมืองเคียฟ (Kyiv) ถือว่ามีความสำคัญในลำดับต้นๆ
นับตั้งแต่สงครามระเบิดขึ้น ทางยูเนสโกได้เรียกร้องให้เคารพต่อกฎหมายว่าด้วยมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และต้องปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดความเสียหายแก่มรดกทางวัฒนธรรม
ทั้งนี้ ยูเนสโกชี้ว่า การปล้นสะดมและทำลายมรดกทางวัฒนธรรมเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่พบได้ในสถานการณ์ความข้ดแย้งทางการทหารและสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญกันมาตลอดประวัติศาสตร์การสงครามอันยาวนาน
ด้วยความร่วมมือระหว่างยูเนสโกกับ UNITAR ทำให้สามารถติดตามความเสียหาย ผ่านการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจได้รับความเสียหาย สูญหาย หรือได้รับผลกระทบอื่นๆ โดยครอบคลุมถึงพื้นที่สำคัญหลายสิบแห่ง รวมทั้งแหล่งมรดกโลกด้วย
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดนั้น Lazare Eloundou หัวหน้าศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก เปิดเผยว่า หน่วยงานทางวัฒนธรรมของยูเอ็นกำลังได้รับรายงานการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมในเมืองต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือเมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) ซึ่งเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้วย เพราะมีชีวิตทางวัฒนธรรมที่สดใส และในเมืองเชอร์นิฮิฟ (Chernihiv) ที่มีย่านใจกลางเมืองอันเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ได้รับความเสียหาย ทำให้เกิดความกังวลในวันข้างหน้าอย่างยิ่ง
“มรดกทางวัฒนธรรมในยูเครนนั้น สำคัญสำหรับคนทั้งโลก ชุมชนนานาชาติต้องทำทุกอย่างเพื่อปกป้องแหล่งมรดกโลก นอกจากการปกป้องสมบัติทางวัฒนธรรมต่างๆ แล้ว เรายังต้องช่วยให้ชาวยูเครนฟื้นคืนจากความบอบช้ำหลังสงครามด้วย” เขาระบุ
ในตอนนี้ผู้คนกำลังร่วมมือกับปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมเท่าที่จะทำได้ ขณะที่อาสาสมัครในยูเครนกำลังจัดเก็บวัสดุจากหน่วยงานทางวัฒนธรรมหลายแห่ง บรรณารักษ์ นักจดหมายเหตุ และนักวิจัยกว่า 1,000 คน ที่มีส่วนร่วมด้วยการใช้เทคโนโลยีรวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหา และแหล่งทางวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อรักษาไว้ให้คนรุ่นต่อไป
ข้อมูล :
- https://www.theguardian.com/world/2022/mar/09/ukrainians-in-race-to-save-a-nations-cultural-heritage
- https://news.un.org/en/story/2022/03/1113602
- https://www.bbc.com/thai/international-53085499
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Kyiv_Pechersk_Lavra#/media/File:%D0%9B%D0%B0%D0%B2%D1%80%D0%B0.jpg