‘ทหาร’ การรับรู้ของใครหลายคนคือชายผู้กล้าหาญและเข้มแข็ง แต่เมื่อได้เผชิญกับความโหดร้ายในสนามรบ พวกเขากลับแสดงออกตรงกันข้าม นั่นคือรู้สึกอ่อนแอและหวาดกลัวสงคราม เพราะสงครามทำให้เกิดความสูญเสียจนต้องจากครอบครัวและคนรักไปชั่วนิรันดร์

ในช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศโจมตียูเครนจากทางอากาศ และส่งกองทัพทหารเข้ายึดพื้นที่สำคัญจนทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพย์สินและชีวิต สงครามที่เปิดฉากขึ้นย่อมไม่ใช่เพียงการแสดงอำนาจทางทหารเพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐเท่านั้น หากยังหมายถึงจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่พรากชีวิตเราไปจากครอบครัวและคนรักด้วยเช่นกัน

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มักนำเสนอเรื่องยุทธศาสตร์ทางการทหารและการต่อรองเชิงกลยุทธ์ด้านการทูต อาทิ รัสเซียยกทัพบุกยูเครนอย่างไร? กองทัพรัสเซีย VS ยูเครนใครได้เปรียบกว่ากัน? และเงื่อนไขของรัสเซียในการหยุดโจมตียูเครนคืออะไร? หากจุดประสงค์ของบทความนี้ตั้งคำถามต่างออกไป โดยอยากให้ได้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกของบรรดาทหารหนุ่มในสนามรบ ผ่านคำถามที่ว่า “ความโหดร้ายในสงครามส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของทหารหนุ่มอย่างไร?”

ภาพลักษณ์ของทหารที่เรารับรู้กันมาตลอดคือชายผู้กล้าหาญ อดทน และพร้อมยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐและความผาสุกของประชาชน อาทิ ภาพสวนสนามในวันสำคัญของกองทัพ ประเทศต่างๆ มักจัดแสดงขบวนทหารเพื่อให้เห็นถึงความเข้มแข็งของบรรดาทหารหนุ่มผู้กล้าหาญที่พร้อมปกป้องชาติ รวมทั้งสื่อความบันเทิงอย่างภาพยนตร์แนวสงคราม ที่ทำให้เห็นความกล้าหาญของตัวละครทหารที่ยอมสละชีวิตเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความกล้าหาญ อดทน และเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นภาพลักษณ์หลักที่รัฐแต่ละประเทศได้สร้างขึ้นแก่ทหารหนุ่ม

แต่เราก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธความอ่อนแอและความกลัวในร่างกายและจิตใจของบรรดาทหารหนุ่ม เมื่อพวกเขาเริ่มสัมผัสได้ถึงความโหดร้ายของสงคราม ก็ทำให้พวกเขาละทิ้งความเป็นทหารผู้กล้าหาญสู่ความเป็นชายที่อ่อนแอและหวาดกลัวสงครามได้เช่นกัน ซึ่งคงได้เห็นกันบ้างแล้วจากข้อความที่กำลังเป็นกระแสในโลกออนไลน์ที่ทหารหนุ่มส่งถึงครอบครัว อาทิ ข้อความสนทนากับแม่ในโทรศัพท์ของทหารหนุ่มรัสเซียที่เสียชีวิต และคลิปวิดีโอทหารหนุ่มที่กำลังร่ำไห้คิดถึงแม่ เป็นต้น ภาวะสงครามที่โหดร้ายนี้ส่งผลต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของบรรดาทหารอย่างมีนัยสำคัญ

ผู้คนทั้งโลกต่างสะเทือนใจอย่างมากเมื่อได้เห็นภาพถ่ายโทรศัพท์ของทหารรัสเซียรายหนึ่งซึ่งมีข้อความสนทนาระหว่างแม่กับลูก ภาพถ่ายใบนั้นถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว และเซอร์จีย์ ไคสลิตสยา (Sergiy Kyslytsya) เอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหประชาชาติ ได้นำภาพถ่ายมาเผยแพร่ต่อหน้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 พร้อมกับอ่านข้อความในภาพถ่ายที่ทำให้เห็นว่า ทหารหนุ่มรายนี้รู้สึกหวาดกลัวสงครามอย่างมาก

แม่ : ทำไมลูกตอบกลับมาช้า ลูกอยู่ที่ค่ายฝึกใช่ไหม?

ลูก : ผมไม่ได้อยู่ในไครเมียแล้ว ผมไม่ได้ฝึกซ้อมแล้ว

แม่ : แล้วลูกอยู่ที่ไหน?

ลูก : ตอนนี้ผมอยู่ที่ยูเครน มีสงครามเกิดขึ้นจริงที่นี่ ผมกลัว

ข้อความแสดงนี้ให้เห็นว่าทหารหนุ่มคนนี้รู้สึกกลัวว่าจะไม่มีชีวิตกลับไปเจอพ่อแม่อีกครั้ง แล้วก็เป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือข้อความสุดท้ายระหว่างแม่ลูกคู่นี้ก่อนที่ลูกชายจะเสียชีวิตในสนามรบ นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งที่ทั้งคู่ไม่มีโอกาสได้พบกันอีก และคนที่ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากที่สุดก็คือพ่อแม่

ในคลิปวิดีโอของนายทหารหนุ่มรัสเซียรายหนึ่งที่ถูกจับใส่กุญแจมือ เจ้าหน้าที่ยูเครนอนุญาตให้เขาโทรศัพท์หาคุณแม่ เขาก็บรรยายถึงความยากลำบากและความทุกข์ทรมานในสงครามให้แม่ฟัง จากนั้นแม่พูดกับเขาพร้อมร้องไห้ไปด้วยว่า “แม่อยากให้ลูกกลับบ้านนะ” 

คำพูดของแม่ทำให้นายทหารหนุ่มคนนี้ร้องไห้คร่ำครวญออกมาพร้อมพูดกับแม่ทั้งน้ำตาว่า “ผมก็รักแม่นะ” 

คำพูดและกิริยาท่าทางของเขาได้แสดงความอ่อนแอต่อหน้าศัตรูซึ่งขัดต่อความเป็นทหารผู้กล้าหาญที่ต้องเสียสละเพื่อชาติ เขาเลือกที่จะละทิ้งภาพลักษณ์นั้นและเปลี่ยนมาแสดงออกด้านความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นฐานที่สุดนั่นคือครอบครัว การที่เขาเลือกโทรหาแม่และบอกรัก แสดงให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความปรารถนาสูงสุดของนายทหารหนุ่มคนนี้คงมิใช่การต่อสู้จนต้องสละชีพตนเอง หากเป็นการได้กลับไปอยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่

ความโหดร้ายของสงครามส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของบรรดาทหารจากชายผู้กล้าหาญสู่ความเป็นชายที่อ่อนแอและหวาดกลัว ซึ่งพวกเขาแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัว การรับรู้เกี่ยวกับสงครามคงมิใช่มีแค่เรื่องอาวุธ ยุทธศาสตร์การรบ และการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังรวมถึงความรัก ความใกล้ชิด และความห่วงใยในลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและคนรักอีกด้วย สงครามกำลังทำให้เราสูญเสียความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ไป เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของความเป็นมนุษย์กันบ้างแล้ว ก่อนที่เราจะสูญเสียสิ่งนั้นไปเราไม่จำเป็นต้องเห็นความสูญเสียก่อนแล้วเราค่อยเห็นคุณค่ามันก็ได้  

ข้อมูล :

ภาพ : Vasily Yashkin จาก Pexels

Writer

Related Posts

วีรบุรุษท้ายรถบรรทุก

Coming Soon

Sound of the Craftmanship – เสียงที่อาจเลือนหายของงานช่างฝีมือ

Billie Eilish: จากวัยรุ่น E-Girl สู่ไอคอนสาวแห่งยุค Gen-Z

ย้อนรอย “สินค้ามือสอง” : จากร้านค้าเพื่อการกุศล สู่เหตุผลด้านความยั่งยืน

สภาพอาการณ์โลกปีล่าสุด ย่ำแย่อย่างหนัก