การเมืองทำให้คนต่างรุ่นต่างวัยในครอบครัวแตกแยก มิได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่บัดนี้สังคมรัสเซียก็กำลังเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน หลังปูตินสั่งกองกำลังทหารบุกยูเครน

The Guardian รายงานว่า หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เริ่มต้นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้ครอบครัวชาวยูเครนต้องแตกแยกพลัดพรากจากกัน ผู้ชายวัยฉกรรจ์ต้องเข้าประจำการ ส่วนสมาชิกครอบครัวอื่นๆ ต้องอพยพหนีภัย แต่ครอบครัวคนรัสเซียเองก็ระส่ำระสาย แตกแยกกันเองระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้ต่อต้านสงครามซึ่งเกิดกันคนละรุ่น

“โดยทั่วไปแล้ว คนรัสเซียรุ่นใหม่ๆ จะมีอารมณ์ความรู้สึกว่ายูเครนเป็นปรปักษ์น้อยกว่าคนรุ่นเก่าๆ เห็นได้ชัดจากการประท้วงต่อต้านสงคราม ที่มักเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว”

Andrei Kolesnikov จาก Carnegie Moscow Center กล่าว 

และเสริมว่า “การรับรู้สงครามว่าเป็นไปในทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณได้รับข่าวจากช่องทางไหน ถ้าคุณรับจากโทรทัศน์ ก็มีแนวโน้มจะเข้าข้างทางการมากขึ้น และคนสูงอายุมักจะดูโทรทัศน์มากกว่าคนหนุ่มสาว” 

การสำรวจที่ผ่านมาพบว่า โทรทัศน์ยังคงเป็นแหล่งข่าวแหล่งใหญ่สุดสำหรับชาวรัสเซีย ประชากรมากกว่า 60% อาศัยข้อมูลจากโทรทัศน์ และชาวรัสเซียที่อายุเกิน 65 ปี มีแนวโน้มที่จะดูโทรทัศน์มากกว่าคนอายุต่ำกว่า 25 ปีถึง 51% ทั้งนี้ สื่อทางการของรัสเซียได้พยายามฉายภาพสงครามครั้งนี้ว่า เป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (“special military operation”) เพื่อปลดปล่อยยูเครน และปกป้องคุ้มครองพลเมืองในเขต Donbas จาก “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) ของยูเครน ภาพวิดีโอการโจมตีในเมืองต่างๆ จากฝ่ายรัสเซีย ถูกอธิบายว่าเป็นการจัดฉากโดยฝีมือของยูเครน

เขาย้ำว่า ไม่น่าแปลกใจเลยที่สงครามครั้งนี้ ได้สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นในครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูง : “จึงยากมาก ที่คนที่จะยอมรับว่าฝ่ายของตัวเองเป็นคนเลว”

ในวันที่สามของสงคราม Victoria Gogh วัย 28 ปี เริ่มรู้แล้วว่า แม่ไม่ได้เป็นพวกเธออีกแล้ว เมื่อเห็นข้อความทางโทรศัพท์ที่แม่บอกเล่าเรื่องสงครามครั้งนี้ ว่าเป็นความผิดของนาโต้ (NATO) ทำให้รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่น จำเป็นต้องปกป้องตัวเอง

“ภารกิจของฉันคือเปลี่ยนความคิดของแม่ ชี้ให้เธอเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น”

Gogh กล่าว

แต่สุดท้ายแล้ว เธอตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากโดนควบคุมตัวเพราะเข้าร่วมประท้วงต่อต้านสงครามที่จัดขึ้นในมอสโก แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็โน้มน้าวความคิดของแม่เธอได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีภารกิจต่อไปในการเปลี่ยนความคิดของลูกพี่ลูกน้องและลุง ซึ่งน่าจะเป็นภารกิจที่ยากกว่าเดิม

ขณะที่รัสเซียได้ประกาศแบน Instagram ตามหลัง Facebook และ Twitter ไปแล้ว เพื่อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกประเทศเกี่ยวกับสงคราม และสร้างพลังให้สื่อของรัฐมากขึ้น

แต่สำหรับ Dmitry ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีในมอสโกนั้น สงครามได้ส่งผลร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ของเขากับคนในครอบครัว

หลังเริ่มต้นบุกยูเครน เขาไปอยู่กับพ่อแม่ของตัวเองเพื่อพยายามบอกว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดยแต่ละวันจะเปิดคลิปวิดีโอให้พ่อแม่เห็นการโจมตีเมืองต่างๆ ในยูเครนของฝ่ายรัสเซีย รวมทั้งรายงานจากบล็อกเกอร์อิสระและสื่ออิสระต่างๆ

“แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย พวกเขากลับยิ่งมั่นใจขึ้นว่าพวกเขานั้นถูกแล้ว อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผมก็ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ ซึ่งแม่ก็ส่งข้อความมาต่อว่า ว่าผมทรยศประเทศตัวเอง”

ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อพ่อของเขาส่งคลิปข่าวมาให้ดู แล้วอ้างว่าเหตุการณ์โจมตีโรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองมาริอูโปลนั้น ทางการยูเครนจัดฉากขึ้นเอง โดยใช้นักแสดงแสร้งปลอมตัวเป็นแม่ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ทางการรัสเซียสร้างขึ้น

“ผมโกรธมาก โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทำให้พวกเขากลายเป็นซอมบี้ไปแล้ว ถูกคุกคามโดยการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ จนมองว่าผมเป็นศัตรูของชาติไปแล้ว ผมยอมแพ้”

สำหรับบางคน แม้แต่ประสบการณ์ที่พวกเขาถูกปลอกกระสุนก็ยังไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้คนที่พวกเขารักเกี่ยวกับกิจกรรมที่แท้จริงของรัสเซีย

Ilya Krasilshchik บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวรัสเซีย ขอให้ผู้ติดตามบน Instagram ราว 110,000 คน ส่งเรื่องราวความขัดแย้งภายในครอบครัวมาให้ เพียงเวลาไม่นานนัก เขาได้รับภาพหน้าจอโทรศัพท์หลายร้อยชิ้นจากคนหนุ่มสาวรัสเซีย แสดงให้เห็นวิวาทะอันเผ็ดร้อนกับพ่อแม่ของตน เขาตัดสินใจโพสต์บทสนทนาเหล่านี้ เพื่อแสดงให้คนหนุ่มสาวรัสเซียเห็นว่า พวกเขามิได้เผชิญสถานการณ์แบบนี้ลำพังคนเดียว

“สงครามครั้งนี้เป็นประสบการณ์อันสั่นสะเทือนใจอย่างยิ่ง สำหรับหลายๆ ครอบครัวในประเทศนี้”

ภาพ : WikiImages

ข้อมูล : https://www.theguardian.com/world/2022/mar/13/my-mother-says-i-am-betraying-russia-putins-invasion-divides-the-generations

Writer

Related Posts

โอกาสของผู้พิการในตลาดแรงงาน “คุณค่า” มิใช่ “เมตตา”

Pop Culture วัฒนธรรมฉาบฉวยที่ทรงพลัง

ซี้ดบอมบ์ สวนกองโจร ดังโงะดิน เกษตรกรรมธรรมชาติ : ก้อนดินเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังสีเขียว

หาดทราย เกลียวคลื่น และกำแพง กับภาพยนตร์สามเรื่องในห้วงเวลาสิบปีของ อิฐ–ปฏิภาณ บุณฑริก

จุดเปลี่ยนครั้งสําคัญในชีวิตคุณคืออะไร?

Apple เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานในสหรัฐฯ