Virtual Influencer อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง เกิดขึ้นจากนวัตกรรม Virtual Human ที่วิวัฒนาการจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำให้ระบบสามารถเข้าถึงมนุษย์ได้โดยไม่รู้สึกถึงเทคโนโลยีในฐานะหุ่นยนต์ ระบบปฏิบัติการจะสามารถประมวลผลและตอบโต้ได้ในทันที แรกเริ่มอาจตอบโต้ได้เพียงแค่โค้ดหรือข้อความ และพัฒนาเป็นระบบผู้ช่วยเสียง อย่าง Siri บนระบบ IOS หรือ Alexa จากอุปกรณ์ Amezon Echo 

จากเสียงได้พัฒนาเป็นรูปร่างที่เคลื่อนไหวได้ ทำให้ระบบใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น อะไรที่มนุษย์ทำได้ Virtual Human ก็ต้องทำได้ แรกเริ่มอาจทำได้เฉพาะบนพื้นที่ดิจิทัลเท่านั้น อย่างเกม The Zim หรือตัวการ์ตูนในเกมประเภท MMORPG ซึ่งย่อมาจาก Massive Multiplayer Online Role-Playing Game 

ในสารคดี We Need to Talk About A.I. ที่อำนวยการสร้างโดย Leanne Pooley และ James Cameron เล่าว่าวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ได้ใช้เวลาพัฒนามาตลอดระยะเวลา 100 ปีของมนุษยชาติ พัฒนาการของ AI ในแต่ละรุ่น ส่งผลต่อมุมมองของผู้คนในแต่ละยุค โดยเฉพาะช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับเป็นคลื่นลูกใหญ่ในวงการเทคโนโลยีที่ AI สามารถประมวลผลได้ทั้งรูปแบบเสียงและกราฟิกเคลื่อนไหว จนมาถึง AI รุ่นปัจจุบัน ที่สร้างสรรค์ด้วยโปรแกรม CGI เลียนแบบหน้าตาและร่างกายมนุษย์ ความเสมือนที่แทบจะเหมือนจริง สามารถทำให้ผู้คนน้อมรับความสำเร็จในวิวัฒนาการรุ่นนี้ และเรียกตัวตนเหล่านี้ว่า “Virtual Human”

อาจเป็นได้ทั้งความสำเร็จและความหวาดกลัว เพราะการมีตัวตนที่สามารถโลดแล่นไปมาได้ทั้ง 2 โลก ทั้งในโลกดิจิทัลและบนโลกจริงแบบ AR มีข้อได้เปรียบสำหรับธุรกิจในตลาดดิจิทัล โดยพวกเขาเหล่านี้สามารถเข้าถึงกิจวัตรประจำวันของผู้คนได้จากไลฟ์สไตล์ในโลกจริงและความแฟนตาซีในโลกเสมือนจริง โดยเฉพาะการเข้าถึงในฐานะ Virtual Influencer อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ซึ่งเป็นได้ทั้งอาชีพนาง-นายแบบดิจิทัลในลุคชิคๆ ไปจนถึงตัวแทนแอมบาสเดอร์แบรนด์หรือบริษัทได้ตรงตามโจทย์ของลูกค้า

จริงอยู่ที่ Virtual Influencer เป็นผลงานสร้างสรรค์จากโปรแกรมกราฟิกคอมพิวเตอร์ แต่การประสานตัวตนให้อยู่ในบริบทของสิ่งมีชีวิต ย่อมได้ผลลัพธ์ที่กว้างกว่าในแง่อายุการทำงานที่ไม่หมดอายุขัย และการเปิดกว้างทางความคิดที่หลากหลาย จากตัวตนที่ไม่สมบูรณ์แบบหรือสมบูรณ์แบบจนแฟนตาซี ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดขายสำหรับตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนี้ไปแล้ว

Virtual Influencer มักถูกสร้างให้มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่เกิด เพื่อดึงกลุ่มความสนใจสำหรับคนในวัฒนธรรมย่อยหรือผู้คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบเดียวกัน กลยุทธ์ตลาดผู้มีอิทธิพลนี้ถูกวางกรอบภายใต้ Influencer KOL ซึ่งหมายถึงผู้มีอิทธิพลจะต้องวางกรอบทางความคิด ทัศนคติ และไลฟ์สไตล์ที่แน่นอน เพื่อให้ผู้ติดตามรู้สึกได้ถึงความชัดเจนและมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คล้อยตาม

Imma มนุษย์เสมือนจริงสัญชาติญี่ปุ่น ที่ได้ขึ้นแท่นเป็น Virtual Influencer หลักของ IKEA Japan ตำแหน่งนี้ไม่ได้ได้มาเพราะความโด่งดังจาก Instagram เท่านั้น แต่เพราะคาแรกเตอร์สาวฮาราจูกุที่ทันสมัย แต่หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และสร้างไลฟ์สไตล์สำหรับสาวยุคเรวะ ที่ฉลาดใช้ ฉลาดเลือก และรักษ์โลกในแบบชิคๆ ทำให้ Imma ครองตำแหน่งอิเกียเกิร์ลมานานหลายปี

Rae ในชื่อแอ็กเคานต์ here.is.rae บน Instagram และ Weibo จากเดิมที่เป็นเพียงหุ่น CGI ที่เป็นความภาคภูมิใจด้านปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท AI Solution ของสิงคโปร์ แรกเริ่มคนสิงคโปร์ยังไม่ได้รู้จักหรือเข้าใจการมีอยู่ของ Virtual human มากนัก มีเพียงกลุ่มธุรกิจที่มุ่งเน้นจะยัดผลิตภัณฑ์ใส่มือ Rae แล้วขายของให้ตรงโจทย์ลูกค้า 

แต่ด้วยความแน่วแน่ในคาแรกเตอร์ที่สร้างมาโดยมีจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมสตรีตอาร์ตตรงสไตล์คนพื้นถิ่นเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ แม้จะเปลี่ยนทรงผมก็ต้องไปตัดกับช่างท้องถิ่น ทุกการเคลื่อนไหวของ Rae ถูกออกแบบให้เป็นดั่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำชาติ แฟนคลับชาวต่างชาติหลายคนรู้จักเรื่องราวใหม่ๆ ในประเทศสิงคโปร์ผ่านตัวเธอ ถึงแม้ Rae จะมีอายุช่วงวัยเจนซี แต่สามารถเชื่อมต่อกิจกรรมสไตล์แอนะล็อกได้ลงตัว จึงไม่แปลกที่เธอจะกลายเป็นขวัญใจสำหรับสายสตรีตและชาวมิลเลนเนียลในสิงคโปร์ได้

Lu do Magalu มนุษย์เสมือนจริงสัญชาติบราซิล ซึ่งทำรายได้ในตลาดกลุ่ม Virtual KOL มากที่สุดในปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงอาจไม่โด่งดังสำหรับแฟนต่างชาติ แต่เธอสามารถสร้างยอดขายในสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ทะลุเพดานขาย จนขึ้นแท่นเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านไลฟ์สไตล์สำหรับคนบราซิลยุคใหม่ ซึ่งมีผลต่อตลาดอุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ของบราซิลไปแล้ว 

แม้ Virtual Influencer จะทำให้รู้สึกตื่นเต้นในช่วงแรก แต่สำหรับคนบางกลุ่มแล้วมนุษย์เสมือนเหล่านี้กลับไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้เลย โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่นซีบางกลุ่มที่มองว่ามนุษย์เสมือนเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของบริษัทเท่านั้น เจนซี 48% มีทัศนคติเชิงลบกับ CGI ที่เป็นแอมบาสเดอร์ของบริษัท แต่ในทางตรงกันข้ามคนเหล่านี้จะยอมรับ Virtual human ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้จริงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคมและขับเคลื่อนวัฒนธรรม มากกว่าความสามารถในการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่แบรนด์สินค้า

ภาพจาก :

  • instagram.com/here.is.rae
  • instagram.com/imma.gram
  • instagram.com/magazineluiza

ที่มา : https://www.tcdc.or.th/th/all/service/resource-center/e-book/33202-Trend-2022

Writer

Related Posts

นโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ

กว่าจะมาเป็นหลักสูตรอบรมดอยหลวงเชียงดาว เบื้องหลังเรื่องราวระหว่าง “ผู้คน” และ “ธรรมชาติ” ที่ไม่จบแค่ห้องอบรม

ถอดบทเรียนพัฒนาสินค้าผ่านกระแสชาไข่มุก

มองภาพบูมเมอร์ใหม่ เจาะอาชีพบริการผู้สูงอายุให้ตรงจุด

คนทรยศชาติ

มนุษย์โลกใกล้ 8 พันล้านคน อินเดียเตรียมแซงจีนปี 2023

มนุษย์โลกใกล้ 8 พันล้านคน อินเดียเตรียมแซงจีนปี 2023