กรรมกรหญิงอายุ 13-20 ปี จำนวน 70 คน ได้เปลี่ยนโรงงานของนายทุนให้กลายเป็นโรงงานในอุดมคติที่กรรมกรไม่ถูกขูดรีดและขายสินค้าได้ในราคายุติธรรม สิ่งที่แรงงานหญิงกลุ่มนี้ทำเกิดขึ้นจากความศรัทธาต่อวิถีการผลิตรูปแบบใหม่ที่ต่อต้านระบบทุนนิยม นี่คือเรื่องราวการต่อสู้อันโด่งดังของสตรีจากชนชั้นแรงงานกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย “การประท้วงของกรรมกรหญิงแห่งโรงงานฮาร่า” ใน พ.ศ. 2518-2519

กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าเป็นกลุ่มแรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานผลิตกางเกงยีนส์ยี่ห้อฮาร่า ตั้งอยู่ในซอยวัดไผ่เงิน กรุงเทพมหานคร พวกเธอต้องทำงานด้วยความทุกข์ลำเค็ญและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน เช่น อยู่ในที่พักอาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ และถูกโกงค่าแรง ฯลฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 กรรมกรหญิงกลุ่มนี้เรียกร้องให้นายทุนเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการแรงงาน แต่ก็ล้มเหลว พวกเธอจึงตัดสินใจยึดโรงงาน แล้วเปลี่ยนโรงงานของนายทุนเป็นของตนเองในชื่อโรงงาน ‘สามัคคีกรรมกร’ และให้ประชาชนเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อนำเงินไปลงทุนซื้อวัตถุดิบผลิตกางเกงยีนส์ เพื่อขายให้แก่ลูกค้าโดยตรง

โรงงานสามัคคีกรรมกรไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่กรรมกรหญิงใช้ต่อรองเชิงกลยุทธ์กับนายทุนระหว่างประท้วงเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เสมือนเป็น “ห้องปฏิบัติการของแนวคิดสังคมนิยม” หรือโรงงานต้นแบบในการปฏิวัติระบบการผลิตจากแบบทุนนิยมสู่สังคมนิยมแบบซ้ายใหม่ และกลายเป็นความภาคภูมิใจและนั่นเป็นหัวใจหลักที่กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าต้องการนำเสนอ  

สังคมนิยมซ้ายใหม่ให้ความสำคัญกับการกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนชั้นกรรมาชีพ ผ่านการจัดระบบสังคมนิยมขนาดเล็กซึ่งกระจายอำนาจให้แก่กรรมกร โดยมุ่งเน้นอิสรภาพจากระบบทุนนิยมและระบบคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน แนวคิดดังกล่าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะนิสิต นักศึกษา และปัญญาชนเท่านั้นที่รับแนวคิดนี้ หากรวมถึงกลุ่มแรงงานชนชั้นล่างอีกด้วย

ความศรัทธาที่กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่ามีต่ออุดมการณ์สังคมนิยมแบบซ้ายใหม่เห็นได้จากองค์ประกอบต่างๆ ของการจัดการองค์กรภายในโรงงานสามัคคีกรรมกร เริ่มจากชื่อ ‘โรงงานสามัคคีกรรมกร’ สอดคล้องกับข้อความสุดท้ายของคำแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) อันโด่งดังของคาร์ล มาร์ซ ใน ค.ศ. 1848 ที่ว่า “Working Men of All Countries, Unite!” ซึ่งเน้นความสามัคคีและภราดรภาพของชนชั้นกรรมาชีพ 

ป้ายประท้วงภายในโรงงานก็มีเนื้อความสื่อถึงแนวคิดสังคมนิยมแบบซ้ายใหม่เช่นกัน เช่น ป้ายในห้องตัดเย็บมีข้อความว่า “แรงงานสร้างสรรค์โลก” แสดงถึงสำนึกของกรรมกรหญิงต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ และป้ายในห้องสมุดขึ้นข้อความว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ข้อความนี้มาจากกวีนิพนธ์อันโด่งดังของวิสา คัญทัพ นักคิดและศิลปินแนวสังคมนิยมในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ป้ายเหล่านี้เป็นหลักฐานอันชัดเจนว่ากรรมกรหญิงโรงงานฮาร่าเปิดรับความรู้และมีปฏิสัมพันธ์ทางภูมิปัญญากับโลกภายนอกอย่างเข้มข้น

ระบบสังคมนิยมซ้ายใหม่ของโรงงานสามัคคีกรรมกรยังแสดงออกมาผ่านระบบการทำงานภายในโรงงานอีกด้วย โรงงานสามัคคีกรรมกรเป็นโรงงานที่แรงงานกับเจ้าของปัจจัยการผลิตคือคนเดียวกัน นิยม ขันโท ตัวแทนกรรมกรหญิงเล่าถึงการผลิตสินค้าและจัดการด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและสีหน้าภาคภูมิใจ 

“ต้นทุนสูงกว่านายทุนเราขายในราคาถูกได้ … เราจะแบ่งเป็นค่าจ้างแรงงานของเพื่อนทั้งหมดทำงานคิดเป็นชั่วโมง ใครทำงานวันละกี่ชั่วโมงจะมีการจดเวลาทำงาน รายได้เท่าไหร่เราหักต้นทุนแล้วก็เฉลี่ยชั่วโมงให้แก่เพื่อนๆ”

คำพูดของนิยม แสดงให้เห็นความภาคภูมิใจที่ชีวิตของกลุ่มแรงงานดีขึ้นได้เพราะได้กำจัดนายทุนออกจากวัฏจักรของระบบการผลิต และพวกเธอมีสิทธิ์ควบคุมค่าแรงและราคาสินค้าให้สมเหตุสมผล เช่น นายทุนขายกางเกงยีนส์ตัวละ 280 บาท พวกเธอจะขาย 180 บาท แต่ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า การเป็นเจ้าของกิจการเองและมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้เหล่ากรรมกรหญิงมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งเป็นลูกจ้างของนายทุน

ระบบการผลิตตามแนวทางสังคมนิยมซ้ายใหม่ของโรงงานสามัคคีกรรมกรเปิดโอกาสให้กรรมกรหญิงมีรายได้และเวลาว่างจากการทำงานมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีเวลาหันมาสนใจสถานการณ์บ้านเมืองที่กระทบต่อชีวิตของแรงงาน ในมุมหนึ่งของโรงงานถูกเปลี่ยนเป็นห้องสมุดสำหรับให้กรรมกรหญิงเข้ามาอ่านและเรียนหนังสือ หรือนั่งพักผ่อนพูดคุยกันทั้งประเด็นการเมืองและแรงงาน เช่น การต่อต้านการตั้งฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย หรือปัญหาแรงงานภายใต้รัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช 

แนวคิดสังคมนิยมซ้ายใหม่ทำให้กรรมกรได้รับความเป็นมนุษย์กลับคืนมา คุณนิยม ขันโท ได้เล่าเปรียบเทียบระบบการทำงานภายใต้นายทุนกับระบบการทำงานที่พวกเธอเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเองด้วยน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายว่า 

“เราทำงานกับนายทุนมีแต่ความขัดแย้งกัน เพราะนายทุนมันจัดระบบงานให้พวกเราเอารัดเอาเปรียบ ระบบงานที่มีแค่ความแบ่งแยก ทำให้พวกเราขาดความสามัคคีกัน” 

คำพูดของนิยมชี้ว่า นายทุนกำลังทำลายความเป็นมนุษย์ของกรรมกร เพราะระบบงานทำให้พวกเธอไม่สามัคคีกัน แต่เมื่อพวกเธอนำแนวคิดสังคมนิยมแบบซ้ายใหม่มาปรับใช้ในโรงงานสามัคคีกรรมกร สภาพชีวิตของพวกเธอก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่มีแรงกดดันด้านเวลา และทุกคนก็สามัคคีกัน 

กรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า คือกลุ่มกรรมกรหัวก้าวหน้าที่นำแนวคิดสังคมนิยมซ้ายใหม่มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น แต่รัฐบาลมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐและสังคม ถ้ามีโรงงานอื่นทำตามกันทั่วประเทศอาจนำไปสู่การปฏิวัติโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศจากทุนนิยมสู่สังคมนิยม นี่จึงเป็นสาเหตุให้กรรมกรหญิงกลุ่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามในวันที่ 14 มีนาคม 2519 ความฝันและจินตนาการทางการเมืองในโรงงานสามัคคีกรรมกรของกรรมกรหญิงเหล่านี้ก็สิ้นสุดลงไปด้วยเช่นกัน แต่วีรกรรมอันแรงกล้าของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่ายังคงเป็นมรดกในประวัติศาสตร์แรงงานไทยจนถึงทุกวันนี้

ภาพ : หอภาพยนตร์ www.fapot.or.th

ข้อมูล :

  • Tul Israngura Na Ayudhya and Apisid Pan-in. ‘Dreaming the Impossible Dreams: Reading the Working-Class Ideals in the Hara Factory Workers Struggle (1975)’. จาก https://ssrn.com/abstract=3957353
  • จอน อึ๊งภากรณ์และคณะ ‘การต่อสู้ของกรรมกรหญิงโรงงานฮาร่า พ.ศ. 2518’ [ภาพยนตร์สารคดี] จาก

Writer

Related Posts

Pop Culture วัฒนธรรมฉาบฉวยที่ทรงพลัง

“เมือง 15 นาที” ทางเลือกหรือซ้ำเติม “กรุงเทพฯ”

สภาพอาการณ์โลกปีล่าสุด ย่ำแย่อย่างหนัก

วีรบุรุษท้ายรถบรรทุก

วัฒนธรรมของการดูโทรทัศน์แบบดั้งเดิมในครัวเรือนไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป

ทำมาหากินกับคนธรรมดา