
สนามเลือกตั้งท้องถิ่น “กรุงเทพมหานคร” กลับมาแล้ว ผู้เข้าแข่งขันต่างเสนอตัวแข่งขันด้วยนโยบายอันน่าจูงใจ แต่ถามหน่อยว่า เราจดจำนโยบายของแต่ละคนกันได้ไหม เว้นแต่ว่าคุณจะเป็นแฟนคลับของผู้สมัครคนหนึ่งโดยเฉพาะ
ว่าแล้วก็อยากย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2539 จำไม่ได้หรอกว่าใครเป็นผู้ชนะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แต่ผมจำหนึ่งในนโยบายที่ผู้สมัครท่านหนึ่งใช้หาเสียงได้อย่างติดหู “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่เชื่อว่าเพื่อนคนอื่นๆ ที่ทันการเลือกตั้งครั้งนั้นยังจดจำได้
ยังจำได้ว่าเขาคือ “อากร ฮุนตระกูล” มหาเศรษฐีเจ้าของโรงแรมระดับชั้นนำของประเทศในเวลานั้น
หลายคนเยาะเย้ย หลายคนวิจารณ์ นโยบายขายฝันเลื่อนเลย เพราะไม่มีทางทำได้ หรืออยู่นอกเหนืออำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

แต่ในวันนี้ หากมองย้อนกลับไปแล้วก็จะเห็นว่าเป็นนโยบายหาเสียงที่ก้าวหน้า เพราะมองปัญหาของกรุงเทพฯ ในระดับโครงสร้าง มิได้ตัดแยกปัญหาของกรุงเทพฯ ออกมาโดดเดี่ยว ไม่สัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของประเทศเลย กรุงเทพฯ ก็คือจังหวัดหนึ่งในสายตาของคุณอากร ที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่โตเดี่ยว
นานหลายสิบปีแล้วที่กรุงเทพฯ เติบโตแต่ฝ่ายเดียว คนในกรุงเทพฯ กว่าครึ่งมาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าชีวิตในเมืองกรุงคือความหวัง มีเงินทองยิ่งกว่า สภาพชีวิตเหนือกว่าอยู่ในภูมิภาคหรือบ้านนอกคอกนา ความเหลื่อมล้ำขยายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จวบจนทุกวันนี้
“ผมอยากเห็น กทม. เหลือคนแค่ 6 ล้านคน พยายามชักจูงให้คน 4 ล้านคนออกไปอยู่ต่างจังหวัด ลองคิดดู ถ้า กทม. เหลือแค่ 6 ล้านคน ใช้เวลาอีก 10 ปี กทม. ก็น่าอยู่ เมืองไทยก็น่าอยู่ด้วย”
หากคุณอากรได้รับการเลือกตั้ง หรือนโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ถูกนำไปปฏิบัติ น่าสนใจยิ่งว่า วันนี้กรุงเทพฯ จะมีหน้าตาเป็นเช่นไร
ในการเลือกตั้งครั้งนั้น คุณอากรได้คะแนนเสียงเพียงสองหมื่นกว่าๆ แต่ชัยชนะนั้นไม่สำคัญสำหรับเขา
“ผมไม่ต้องการมีอำนาจ แต่ผมต้องการมีอิทธิพลต่อความคิดของคน”
อากร ฮุนตระกูล เริ่มจับทำธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ พ.ศ. 2516 จนเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมเครืออิมพีเรียล
เขาเป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้าและสนใจการเมืองมาตั้งแต่ยังหนุ่ม และมักเปิดโรงแรมให้พวกพ้องนักวิชาการหรือนักหนังสือพิมพ์เข้ามาจัดสัมมนาวิชาการและเหตุบ้านการเมืองกันอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นที่ชุมนุมของปัญญาชน รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากหน้าหลายตา

นายอากรยังเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 1 สังกัดพรรคพลังธรรม จากการเลือกตั้งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 แต่เพียง 7 เดือนเท่านั้นก็ลาออก เนื่องจากถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวโทษว่าปั่นหุ้น แต่สุดท้ายเขาก็พ้นข้อกล่าวหา
หลังพบตัวเองมีปัญหาสุขภาพ โดยตรวจพบมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะราวกลาง พ.ศ. 2537 นายอากรได้ตัดสินใจยุติบทบาททางธุรกิจลง แล้วขายกิจการโรงแรมในเครืออิมพีเรียล ซึ่งเป็นธุรกิจเก่าแก่ของตระกูล ให้แก่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี คงเหลือกิจการโรงแรมที่ตนรักเพียงบางแห่ง เช่น โรงแรมบ้านท้องทราย เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
หลังรักษาตัวจนหายจากโรคมะเร็งใน พ.ศ. 2539 นายอากรได้หวนกลับสู่งานการเมืองอีกหน โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แข่งขันกับนายพิจิตต รัตตกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา พร้อมกับประกาศนโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง”

แม้มิได้ชนะการเลือกตั้ง แต่อากรเคยแถลงเป้าประสงค์ของการลงสมัครว่า เพื่ออาศัยเวทีเลือกตั้งนำเสนอความคิดเรื่องกรุงเทพฯ ต่อคนในสังคม มากกว่ามุ่งชนะการเลือกตั้ง
ต่อมาเขาตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นการเลือกวุฒิสมาชิกครั้งแรกของประเทศไทย แต่กลับล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสียก่อน เขาเสียชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 วันเดียวกันกับวันเลือกตั้งวุฒิสมาชิกนั่นเอง
ภาพจาก :
- https://www.dek-d.com/board/view/2701491/
- https://www.thenormalhero.co/arkorn-bangkok/
ข้อมูล :