หากใครรู้จักความหมายและความสำคัญของการอบรมก่อนขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ผ่านบทความที่แล้ว “เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง ของฝากจากห้องอบรมดอยหลวงเชียงดาว” มาแล้ว https://www.facebook.com/senseofhumanitas/posts/5454881997878427 คราวนี้จะพามารู้จักเบื้องหลังว่ากว่าจะมาเป็นหลักสูตรอบรมดอยหลวงเชียงดาวนั้น ผ่านวิธีคิดอะไรบ้าง

หลายคนอาจรู้จักดอยหลวงเชียงดาวในฐานะดอยสูงที่สุดอันดับ 3 ของไทย ก็เหมือนกับทุกๆ ดอยที่ทุกคนอยากแบกเป้เข้าป่าไปสัมผัสธรรมชาติพิชิตยอดดอย และถ่ายภาพสวยๆ กลับไป

แต่สิ่งที่ถูกทิ้งเอาไว้กลับเป็นขยะกองโตและร่องรอยความบอบช้ำเสียหายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ

ทุกปีหลังปิดดอย ทีมงานเชียงดาวต้องระดมพล ชวนเด็ก และเยาวชนในชุมชนเชียงดาวกลับขึ้นมาช่วยกันเก็บขยะที่ไม่ใช่แค่บรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงทิชชู่เปียกที่ปนเปื้อนด้วย “ปกติแต่ละปีจะเก็บขยะลงมาได้ประมาณ 10-20 กระสอบ” มล-จิราวรรณ คำซาว หนึ่งในคนเชียงดาวที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ทุกปี ร่วมกับทีมเยาวชนเขียวสดใสรักษ์เชียงดาว กลุ่มรักษ์ล้านนา กลุ่มม่วนใจ๋ และแก๊งถิ่นนิยมเริ่มเล่า

เพื่อลดปัญหานี้ที่เจอกันอยู่ทุกปี ทีมอนุรักษ์เชียงดาวจึงมารวมตัวกันในนาม “ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว” เพื่อเสนอการจัดการและออกแบบระบบการจัดการขึ้นใหม่ ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทีมรถกระบะรับ-ส่ง ทีมนักสื่อความหมายธรรมชาติ และทีมลูกหาบ 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบจอง ระบบการจัดคิวต่างๆ ระบบการกระจายรายได้ทั่วถึงทีมงานทุกกลุ่ม แม้แต่การอบรมที่นักศึกษาธรรมชาติต้องมาอบรมล่วงหน้าก่อน 1 วัน ก็เป็นระบบการจัดการหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่การเตรียมตัวลดผลกระทบบนดอยหลวง แต่รวมถึงการช่วยกระจายรายได้ให้กับที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า และสร้างเม็ดเงินมาหมุนเวียนในชุมชน

“ความอุดมสมบูรณ์ที่เราเห็นบนดอยหลวงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนเชียงดาวตั้งแต่บรรพบุรุษถึงปัจจุบันช่วยกันดูแล เราจึงอยากให้คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์ มีรายได้ด้วย” แหม่ม-ศรัณญู กิตติคุณไพศาล คือทีมงานอีกหนึ่งคนที่เป็นผู้ต้นคิดโมเดลการกระจายรายได้ที่เก็บจากผู้เข้าร่วมอบรมนี้

“หลักสูตรการอบรมที่เกิดขึ้นได้ในปีนี้ มันจึงเกิดจากการนำปัญหา และผลกระทบบนดอยหลวง ปัญหาการจัดการของทุกๆ กลุ่ม ทุกปีมารวบรวม แล้วหาทางปรับปรุง สื่อสารให้ผู้มาเยือนดอยหลวงได้เข้าใจการใช้ชีวิต การปฏิบัติตัวตามกฎที่ถูกต้องของเขตฯ เตรียมตัว เตรียมใจ” ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดผลกระทบและลดการจัดการบนดอยหลวงเชียงดาว 

“ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาผลกระทบที่ผ่านมาทุกปีส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไป เราจะไปโทษเขาก็ไม่ได้ เพียงที่ผ่านมาเราสื่อสารให้ความรู้น้อยไป มลคิดว่าถ้าเราชี้แจงและให้ความรู้ไปเพิ่มอย่างถูกต้องก็น่าจะดี” 

ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวจึงช่วยกันระดมสมองและออกแบบหลักสูตรเนื้อหาต่างๆ จุดประสงค์คือสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านหลักสูตรการอบรมถึง 5 หลักสูตร ด้วยการดึงผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์มาช่วยกันให้ความรู้ เช่น วิมลมาศ นุ้ยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ผู้ผลักดันการขึ้นทะเบียนดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน นักพฤษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชพันธุ์กึ่งอัลไพน์บนดอยหลวงเชียงดาว 

หลักสูตรทั้ง 5 ประกอบไปด้วย หลักสูตรของทีมนักสื่อความหมายธรรมชาติ หลักสูตรทีมรถรับส่ง หลักสูตรทีมลูกหาบ หลักสูตรทีมแกนนำ ผู้ประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น และสุดท้ายคือ หลักสูตรสำหรับนักศึกษาธรรมชาติ หลักสูตรพิเศษที่ถอดบทเรียนจากหลักสูตรอื่นๆ มาขมวดให้เหลือ 3 ชั่วโมง “ถ้าถามว่ายากไหม ตอบว่ายากค่ะ มันท้าทายมากที่เราจะทำยังไงให้ 3 ชั่วโมงนี้คนไม่เบื่อ และได้เนื้อหาตามเป้าที่พวกเราตั้งไว้”

“จริงๆ แล้วมันก็ยังไม่มีที่ไหนทำในประเทศ เราก็เลยไม่มีตัวอย่างให้ถอดบทเรียนมา มันเป็นเรื่องใหม่ที่นักท่องเที่ยวธรรมชาติในไทยไม่คุ้นชิน แต่เราก็หวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่นักท่องเที่ยวต้องมีความเข้าใจ เตรียมพร้อมที่จะเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติอันเปราะบาง เคารพกติกาในพื้นที่ และให้เกียรติพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนเชียงดาวนี้ด้วยเช่นกัน” สิ่งนี้จึงเป็นกำลังใจให้ทีมงานมุ่งมั่นลุยต่อ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความยุ่งยากที่จะต้องเสียเวลามาทำสิ่งนี้ก็ตาม

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว ทีมงานร่วมกันอดหลับอดนอนกันกว่า 2 อาทิตย์เพื่อให้หลักสูตรออกมาดีที่สุด

“ทุกอย่างดูเหมือนง่าย ก็เพราะว่าเรามีทีมงานและคอนเน็กชันที่เชี่ยวชาญ รวมถึงเจ้าหน้าที่และชาวบ้านให้โอกาสเชื่อมั่นในพวกเรา เราจึงขยับงานได้เร็วและสะดวก” คงเพราะจากผลงานจริงเมื่อครั้งเรื่องจัดการไฟป่าครั้งใหญ่ที่ดอยหลวงเชียงดาวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทีมงานคนเชียงดาว ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว และกลุ่มเพื่อนๆ ไปช่วยระดมทุน จัดหาจัดซื้อ สนับสนุนอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน รวมถึงคอยช่วยสนับสนุนจัดการระบบการรับมือไฟป่าให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

จากภารกิจไฟป่าสู่ภารกิจดอยหลวง เรียกได้ว่าเราเป็นทีมงานที่ลงมือทำจริง และพร้อมทุ่มเทเต็มที่ “แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ลงมาลุยทุ่มเทกับพวกเราด้วย ไม่สนใจเรื่องนอกเวลางานหรือค่าจ้างโอทีอะไรเลย เราสนใจเพียงแค่ให้งานออกมามีคุณภาพทันก่อนเปิดการท่องเที่ยว” และทุกคนก็สนุกเต็มที่พร้อมลุยงานไปด้วยกัน

“คนมานั่งอบรม 3 ชั่วโมงเราต้องให้อะไรบ้างเพื่อเป็นหลักฐานการผ่านอบรม มันคงไม่ใช่แค่กระดาษ A4 หรือใบประกาศ เราคิดว่ามันควรจะเป็นสิ่งที่พกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้ เป็นที่ระลึก เท่ อวดได้ด้วย” นี่จึงเป็นที่มาของบัตรศึกษาธรรมชาติแบบการ์ดแข็งที่มีอายุ 2 ปี ทุกคนที่ผ่านการอบรมจะได้รับกลับไป ซึ่งออกแบบโดย โอ๊ค-คฑา มหากายี ผู้ริเริ่มจัดกระบวนการห้องเรียนธรรมชาติ และเชียงดาวคลาสรูม (Chiang Dao Classroom) ร่วมกับแก๊งถิ่นนิยมที่มลเป็นทีมงานอยู่ด้วย

บัตรใบนี้ไม่ใช่แค่บัตรที่ระลึกจากการอบรม แต่เป็นบัตรสารพัดประโยชน์ในการใช้ศึกษาธรรมชาติ ทั้งวัดขนาดของดอกไม้ ความสูงของต้นไม้ ความสวยงามของพรรณไม้บนดอยหลวงก็ถูกประทับอยู่บนบัตรพร้อมระบุชนิดของป่าแต่ละแบบ ความสูงจากระดับน้ำทะเล เพื่อให้นักศึกษาธรรมชาติได้ค่อยๆ สำรวจธรรมชาติสองข้างทางขึ้นดอยหลวง ทำให้การไปเดินศึกษาธรรมชาติไม่ว่าจะที่ไหนๆ มีความหมายมากขึ้น

3 ปีของการก่อตั้งเชียงดาวคลาสรูม เป็นการค่อยๆ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ธรรมชาติสำหรับเด็กๆ รวมถึงเปิดให้คนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้ เชื่อมโยงกับธรรมชาติ มาใช้พื้นที่ป่าชุมชนรอบดอยหลวงเป็นห้องเรียนได้ตลอดปี “ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เขาเปิดใจ เข้าใจ ฝึกเคารพธรรมชาติ ก่อนเข้าไปในพื้นที่เปราะบางจริงเช่นยอดดอยหลวงเชียงดาว”

“นี่ก็ยังคิดกันอยู่ว่า ถ้าใครผ่านป่าข้างล่าง ป่าชุมชนรอบๆ ดอย เหมือนมาเก็บคอร์สกับปราชญ์ชุมชนรอบดอยหลวงแล้ว ถ้าต้องการขึ้นยอดดอยหลวงในปีต่อไปก็อาจจะไม่ต้องมาอบรม 3 ชั่วโมงกับเราก็ได้” มลเล่าความเป็นไปได้ของแผนการในอนาคตที่กำลังอยู่ในช่วงระดมสมองวางแผนงานกันภายใน

และในปีนี้ ความตั้งใจที่ได้สื่อสารผ่านการอบรมธรรมชาติได้ประทับลงไปในความเข้าใจให้กับนักศึกษาธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อย “ขยะน้อยมาก ลดลงกว่า 10 เท่า ผลกระทบก็ลดลงด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่สะดวกกับการจัดการ เราสามารถสร้างนักศึกษาธรรมชาติที่เป็นมากกว่านักท่องเที่ยวได้เกือบ 5,000 คนในปีนี้” นี่คือกำลังใจที่ค่อยๆ เห็นผล “เพราะสุดท้ายเป้าหมายหลักของเราก็คือการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเชียงดาว ดูแลคนในชุมชนให้อยู่ดีกินดี มีความสุข จากนั้นเราจะมีทรัพยากรไปต่อยอด สร้างมูลค่าด้านอื่นให้ยั่งยืนได้เอง” มลทิ้งท้าย

Writer

Related Posts

สงครามล้าง “อารยธรรม” (1)

Billie Eilish: จากวัยรุ่น E-Girl สู่ไอคอนสาวแห่งยุค Gen-Z

เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู

ยอมรับความรู้สึกตัวเอง ในวันที่ต้องเจอกับความสูญเสีย

เนปาลวางแผนย้ายเอเวอเรสต์เบสแคมป์

เนปาลวางแผนย้ายเอเวอเรสต์เบสแคมป์

กรุงเทพฯ คือเมืองสำหรับ Digital Nomad อันดับที่ 2