รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านกฎหมายความรุนแรงทางเพศที่รอกันมานาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งหวังสร้างกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้เหยื่อได้รับความยุติธรรม ในสังคมที่มองว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่สมควรเปิดเผย

สมาชิกสภานิติบัญญัติเสียงข้างมากสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากพิจารณามาเป็นเวลานานถึง 6 ปี จนเอาชนะแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก

“เราหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขคดีความรุนแรงทางเพศได้” โฆษกรัฐสภา ปวน มหารานี กล่าว

นักเคลื่อนไหวทางสังคมให้การต้อนรับกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าบางคนจะไม่เห็นด้วยในขอบเขตนิยามความรุนแรงทางเพศในกฎหมาย โดยยอมรับความผิดทางอาญาในเรื่องเพศเพียงบางส่วนเท่านั้น และยังละเว้นรายละเอียดปลีกย่อยอันเฉพาะเจาะจงในบางเรื่องว่าด้วยการข่มขืน ซึ่งรัฐบาลรับปากว่า กรณีเหล่านี้จะไปรวมอยู่กับกฎหมายฉบับอื่นๆ

“นับเป็นความก้าวหน้าอย่างแน่นอน” อัสฟีนาวาตี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประจำโรงเรียนกฎหมายเจนเทอราและผู้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศกล่าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า คำจำกัดความของการข่มขืนภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบันควรทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การร้องเรียนในเหตุความรุนแรงทางเพศในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งการดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศนับว่ายังซับซ้อน เพราะขาดกรอบการทำงานทางกฎหมาย ขณะที่เหยื่อมักกังวลว่าต้องอับอายในระหว่างการไต่สวน ซึ่งขัดขวางให้เหยื่อหลายคนไม่กล้าแสดงตัว

กฎหมายฉบับที่ได้รับความเห็นชอบระบุโทษจำคุกสูงสุด 12 ปี สำหรับความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศทั้งในและนอกสมรส จำคุกสูงสุด 15 ปี ในกรณีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ จำคุกสูงสุด 9 ปี ในกรณีการบังคับขืนใจให้ทำการสมรสอันรวมถึงการแต่งงานในเด็กด้วย และจำคุกสูงสุด 4 ปี สำหรับการส่งต่อเนื้อหาเรื่องเพศโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ศาลต้องบังคับให้ผู้ถูกตัดสินว่าผิดให้ชดใช้ค่าเสียหาย และผลักดันให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาแก่เหยื่อ โดยข้อเสนอก่อนหน้านี้ ต้องให้กฎหมายครอบคลุมถึงการทำแท้ง รวมทั้งให้คำจำกัดความว่าอะไรคือการข่มขืนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยความรุนแรงต่อสตรีและกลุ่มภาคประชาสังคม เสนอแนวคิดให้ออกกฎหมายฉบับนี้เป็นครั้งแรกเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว และอีกสี่ปีต่อมาก็ส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภา

ในเดือนมกราคม ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดระบุว่า รัฐบาลได้เร่งรัดการตรากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะช่วยให้การทำสำนวนส่งฟ้องคดีและการลงโทษผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น

ขณะที่พรรคอิสลามิสต์ พรอสเพรัส จัสติส ได้คัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยแย้งว่า กฎหมายฉบับนี้ควรวางระเบียบขัดขวางการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส รวมทั้งประกาศห้ามความสัมพันธ์ทางเพศที่มองว่าเป็นรสนิยมทางเพศอันเบี่ยงเบน

ภาพจาก : voice of sky.unsplash

ข้อมูล :

  • https://edition.cnn.com/2022/04/12/asia/indonesia-sexual-violence-bill-abuse-forced-marriage-intl-hnk/index.html?fbclid=IwAR12d9Ph5dgQEpifKNBfYigdMCAD2TpgqLGQ5tbpSgWVjB48x_hmnhGdsW8
  • https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3173970/indonesia-passes-long-awaited-sexual-violence-bill?fbclid=IwAR2Zn4uLu_ueD3qZuMUJ10qA4OxDsIFvlTpTGCN6li5E06HvRMeWmDid-Ns

Writer

Related Posts

มีเคือง เมื่อ Kim Kardashian สวมเดรสในตำนานของ Marilyn Monroe

เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง ของฝากจากห้องอบรมดอยหลวงเชียงดาว

พบน้ำมหาศาลใต้แอนตาร์กติกา

Sound of the Craftmanship – เสียงที่อาจเลือนหายของงานช่างฝีมือ

ดนตรี เสียง และชีวิต ผูกพันกันอย่างไรบ้าง?

Life & Sound ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนกับเสียง ตอนที่ 1