ในยุค Digital Disruption ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสิ่งรอบตัว โดยในด้านหนึ่ง การพัฒนานี้มอบตัวเลือกและสร้างการเข้าถึงเพลงแปลกใหม่มากขึ้น ทำให้เกิดความความสะดวกสบายในการสร้างสรรค์หรือช่วยคิดแทนเราด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาที่รุดหน้าไปไกลนี้ ก็ส่งผลให้คนบางกลุ่มหรือสายงานบางอาชีพตกหล่นไปเช่นกัน

อุตสาหกรรมดนตรีถูกพัฒนาควบคู่กับเทคโนโลยีมาตลอด โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อเครื่องบันทึกเสียง (โฟโนกราฟ) ถูกผลิตขึ้นโดยโทมัส อัลวา เอดิสัน ในค.ศ. 1877 ก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับเครื่องบันทึกเสียงและเครื่องกระจายเสียงในรูปแบบต่างๆ เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง (ค.ศ. 1888) เครื่องเล่นเทปแบบ 8 track ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบันทึกเสียงแบบแม่เหล็ก (ค.ศ. 1960)  จนถึงเทปแคสเซ็ต (ค.ศ. 1963) และแผ่นซีดี (ค.ศ. 1980) 

จนมาถึง การผลิตและเผยแพร่ผลงานแบบดิจิทัลในช่วงปลายยุค 90 เป็นต้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่า การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ของศิลปินและคนฟัง ยกตัวอย่างเช่น ก่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล คนฟังมักจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงผลงานศิลปิน เช่น ฟังเพลงศิลปินท้องถิ่นจากวิทยุท้องถิ่นเท่านั้น จะดูคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศได้ ก็ต่อเมื่อมีการจัดทัวร์เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว กลายเป็นว่าเราสามารถดูและฟังใครก็ได้ เวลาไหนก็ได้ จากประเทศไหนก็ได้ ด้วยเทคโนโลยี Live Stream และยังสามารถซื้อเพลงได้ทันทีแค่ปลายนิ้วจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ  มากไปกว่านั้นยังได้มีส่วนร่วมกับศิลปินที่เราชื่นชอบแบบข้ามทวีปในขณะที่ตัวอยู่บ้านด้วย เทคโนโลยี VR Concert เป็นต้น นอกจากนี้การพัฒนาดังกล่าว ยังทำให้ใครๆ ก็เป็นศิลปิน นักร้องดังในชั่วข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาดีๆ ที่ว่านี้ ก็ส่งผลให้ศิลปิน คนบางกลุ่ม หรือบางธุรกิจตกหล่นไป เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ จนทำให้เสียโอกาสไป เช่น รายได้ ชื่อเสียง ทุนและแรงในการผลิต และมากไปกว่านั้น ช่องว่างนี้ก็ส่งผลทำให้ผลงานดีๆ ที่น่าเก็บ ศึกษา ทำความเข้าใจหรือต่อยอด ก็เกิดการสูญหายไปด้วยเช่นกัน 

ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบัน เราแทบจะหาร้านขายเทปหรือซีดีเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ซึ่งแม้ว่ายอดขายของซีดี เทป และแผ่นเสียงจะกระเตื้องขึ้นบ้างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ความนิยมของระบบสตรีมมิ่งก็ครองตลาดเกิน 50% อยู่ในตอนนี้ หรือ ศิลปินในพื้นที่ห่างไกลที่มีความสามารถน่าชื่นชม แต่กลับไม่มีคนรู้จัก เพียงเพราะขาดความรู้หรือความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดของสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยปัญหา Digital Divide (ช่องว่างระหว่างผู้ที่เข้าถึงและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ) เป็นหนึ่งในปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และผลกระทบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในวงการดนตรีเท่านั้น แต่ก็เกิดขึ้นกับวงการอื่นๆ ด้วยเช่นกัน และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายๆ ประเทศกำลังเร่งแก้ไข

โดยจากประสบการณ์ทำงานร่วมกับนักดนตรีในหลากหลายพื้นที่ ปัญหา Digital Divide เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นได้ชัดถึงผลลัพธ์ของการมุ่งพัฒนาทางเทคโนโลยีในกลุ่มเมืองใหญ่ หรือพื้นที่ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต จนเกิดเป็นช่องว่างที่คนอีกหลายๆ กลุ่มยังไม่ได้รับการมีส่วนร่วม และกำลังส่งผลให้คุณค่าทางทักษะ อาชีพ จนถึงเสียงบางเสียง เครื่องดนตรีบางประเภท มีโอกาสในการสูญหายได้รวดเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานและพัฒนาการเข้าถึง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดช่องว่างนี้ลงได้เช่นกัน

ภาพจาก : Stas Knop จาก Pexels, Nicola Barts จาก Pexels, RF._.studio จาก Pexels,  cottonbro จาก Pexels, Tima Miroshnichenko จาก Pexels

ขอบคุณข้อมูลจาก :

Writer

Related Posts

มองภาพบูมเมอร์ใหม่ เจาะอาชีพบริการผู้สูงอายุให้ตรงจุด

McMuffin โคตรแพง

เตรียมเปิดประมูล “มาริลีน” ของ “วอร์ฮอล”

ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เพื่อความสุขในชีวิต

นโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ

กว่าจะมาเป็นหลักสูตรอบรมดอยหลวงเชียงดาว เบื้องหลังเรื่องราวระหว่าง “ผู้คน” และ “ธรรมชาติ” ที่ไม่จบแค่ห้องอบรม