Gangubai Kathiawadi อันโด่งดัง ช่วยทำให้ข้อเสนอว่า ควรให้ “โสเภณี” เป็นอาชีพตามกฎหมายอย่างถูกต้องกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเสนอจาก “คนนอก” ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการทางเพศ

ฝ่ายที่สนับสนุนเสนอให้ตรากฎหมายเป็นกรณีเฉพาะในเรื่องนี้ เมื่อกฎหมายรับรองแล้ว สถานะของผู้ให้บริการก็จะเข้าสู่โลกแห่งแสงสว่าง หลังจากตกอยู่ในความมืดดำมายาวนาน เธอสามารถเดินเข้าโรงพยาบาลแล้วยื่นบัตรประชาชน เพื่อใช้สิทธิประกันสังคมดูแลรักษาตัวเองได้อย่างภาคภูมิ เพราะเป็นสิทธิที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอ

ในฐานะผู้ประกอบอาชีพตามกฎหมาย จ่ายภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง เธอแค่แสดงบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เขาดึงข้อมูลของเธอออกมา เพียงเท่านี้ก็พร้อมจะได้รับสิทธิและได้รับความคุ้มครอง ในฐานะพลเมืองของประเทศนี้

ที่กล่าวมาข้างต้นคงเป็นฝันของนักอุดมคติหลายคน ที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมาย แต่ในที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นการจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนโสเภณีนั่นเอง 

แต่เสียงของผู้ให้บริการทางเพศล่ะ เห็นชอบด้วยไหม 

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานองค์กรมูลนิธิ Empower ซึ่งเคยเป็นผู้ให้บริการ และในวันนี้ผันตัวมาทำงานด้านสิทธิของผู้หญิงบริการ โดยมุ่งเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ thematter.co ว่า

“แต่ในสังคมก็ยังเข้าใจเราผิดนะ ว่าเราพยายามทำให้งานนี้กลายเป็นงานถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ การเอาพ.ร.บ.การค้าประเวณีออก เพื่อเราจะไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไปเท่านั้นเอง … คำว่าถูกกฎหมายมันแปลว่าต้องสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อระบุว่าใครถูกใครผิด ซึ่งเราก็ไม่ต้องการ”

“เมื่อไม่มีกฎหมาย พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณีแล้ว พนักงานบริการก็จะเข้าสู่ภายใต้กฎหมายแรงงานโดยอัตโนมัติ”

โสเภณีกับนักกีฬาอาชีพเหมือนกันตรงที่ใช้ร่างกายทำมาหากิน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น สังขารร่วงโรย ก็ต้องพ้นจากงานไป อาชีพโสเภณีหรือนักกีฬาจึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของชีวิต คงมีผู้ให้บริการไม่กี่คนที่ยินดีจะถูกตีตราว่าเป็น “อดีตโสเภณี” เมื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แตกต่างจากนักกีฬาอาชีพที่ยังยอมรับ “อดีต” ของตัวเอง

“ในตอนแรก พวกเรามักไม่ได้คิดถึงเรื่องรักในอาชีพหรอกค่ะ อย่างพี่ก็ไม่ได้คิดเรื่องรักในอาชีพ แต่คิดว่างานนี้มันตอบโจทย์ชีวิต” ทันตากล่าว “แล้ววันนึงเราก็กลับมาคิดว่า เอ๊ะ ร่างกายนี้มันก็ของเรานี่หว่า … คือควรจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล มันไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดว่าควรมีเซ็กแบบไหนถูกกฎหมาย มีเซ็กซ์แบบไหนผิดกฎหมาย”

พรรคการเมืองบางส่วนฉวยใช้ประเด็นดังกล่าว เพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง อวดอ้างว่าตนนั้นหัวก้าวหน้า และพร้อมทำงานเพื่อช่วยเหลือคนชายขอบ ยินดีที่จะเสนอกฎหมายที่ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ด้วยกรอบวิธีคิดของนักการเมือง ก็ชอบที่จะคิดว่า การออกกฎหมายใหม่ๆ แสดงถึงความสามารถและความสำเร็จของตัวเอง หรือปักใจเชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยกฎหมาย

“ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายพ.ร.บ.การค้าประเวณี เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานค้าประเวณีนี้เนี่ย ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มีกฎหมายมาบอกว่าเขาถูกกฎหมายนะ แค่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเลย” ทันตาระบุ

บางทีแล้ว คนในอาชีพนี้อาจเข้มแข็งกว่าที่นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักรณรงค์คิดก็ได้

ภาพจาก : JOHN MACDOUGALL/AFP/GETTY IMAGES 

ข้อมูล : https://thematter.co/social/sex-work-is-work/130075

Writer

Related Posts

“ทรัมป์” ขวางโลก หนุน “มะกัน” ติดอาวุธสู้

ศาลสูงสหรัฐฯ พลิก “ทำแท้งผิดกฎหมาย”

ใครไม่ป๊อป ของโปรดพวกเราป๊อป อิทธิพลทางอาหารจากเหล่าตัวการ์ตูนดัง ที่คุณเองต้องเคยลิ้มลองตาม

Kindness Hotel โรงแรมในไต้หวันขวัญใจนักท่องเที่ยว ที่เบื้องหลังความใจดีคือการเลือกลงทุนที่ถูกจุด

สหรัฐฯ รีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 5%

กระแส NFT แจ้งเกิดอาชีพ Creator สู่วงการเมทาเวิร์ส