NFT ได้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครองตลาดสื่อดิจิทัล ด้วยกระแสที่พร้อมเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทุกรูปแบบ ทำให้ NFT เป็นดั่งจิ๊กซอว์สำคัญแห่งยุค Web 3.0 แจ้งเกิดอาชีพใหม่ๆ เข้าสู่วงการเมตาเวิร์ส
NFT หรือ Non-Fungible Token คือคริปโตเคอเรนซีที่มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถปลอมแปลงหรือดัดแปลงเป็นของส่วนตนได้ โดยปกติแล้วคริปโตเคอเรนซีรูปแบบ Fungible Token ถือเป็นทรัพย์สินดิจิทัลในรูปของเหรียญที่มีมูลค่าเทียบเท่าเงิน แต่สำหรับ NFT ไม่ได้มีฐานะเป็นเงิน แต่เป็นผลงานดิจิทัลที่ถูกออกแบบให้มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้าง NFT คือ อาชีพ Creator ในแวดวงศิลปะ วิดีโอ เพลง และงานออกแบบ ซึ่งผู้สร้างสรรค์สามารถนำผลงานมาเปลี่ยนฐานะเป็น NFT เพื่อให้มูลค่าของชิ้นงานปรากฏบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างรายได้กลับคืนสู่เจ้าของ และสามารถตรวจสอบการซื้อขายหรือโอนย้ายกรรมสิทธิ์ในผลงานชิ้นนี้ได้ด้วยระบบบล็อกเชนที่มีโครงสร้างการทำงานแบบ Decentralized ไม่ต้องจำเป็นต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง
ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้ จึงมีผู้สร้างสรรค์ผลงานออกสู่แพลตฟอร์ม Marketplace มากมาย แม้กระทั่งตลาดคริปโตในจีนที่ถูกกีดกันอย่างหนัก จนระบุเป็นข้อกฎหมายห้ามทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซีทั้งหมด และยังคงไม่ยอมรับระบบบล็อกเชนที่เป็น Decentralized แบบ 100% ผู้คนอาจคิดว่าตลาด NFT ในจีนคงทำกำไรได้ยาก แต่กลับตรงข้าม จีนได้กลายเป็นผู้ครองตลาด Digital Asset อันดับต้นๆ ของโลกไปแล้ว โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท NFT จีนได้สร้างระบบ Open Permissioned Blockchain (OPB) ซึ่งเป็นระบบบล็อกเชนที่มีผู้ควบคุมจัดระบบอยู่หลังบ้าน หนุนหลังด้วยเงินสกุลหยวนเท่านั้น เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม NFT ภายในประเทศ
แม้รัฐบาลจีนจะแบนเงินคริปโต แต่ยังคงเห็นศักยภาพการทำเงินของ NFT จึงเลือกให้ NFT เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลที่ขับเคลื่อนระบบอีคอมเมิร์ซและวงการดิจิทัลอาร์ตในระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล รายงานจาก Newzoo ได้เผยระดับความสนใจของผู้บริโภคในตลาดจีนกับเทคโนโลยีประเภทดังกล่าว พบว่ามีผู้สนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีเสมือนจริงจำนวน 78% ขณะที่สหรัฐอเมริกา 57% และสหราชอาณาจักร 46% ที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2022 จะมีสินทรัพย์ NFT ออกสู่คริปโตในจีนจำนวน 10 ล้านรายการ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มการลงทุนใน NFT ที่ต่ำลงบ้างจากปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนของ NFT ของสะสมดิจิทัลสำหรับแฟนกีฬา ศิลปิน และเกมเมอร์ ความนิยมใน Fan Token เพื่อได้รับสิทธิ์จากกล่องสุ่มหรือกิจกรรมพิเศษกับไอดอลที่ชื่นชอบยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ตลาดจีนจะลงทุนในตลาด NFT ไปเยอะ แต่ครีเอเตอร์ที่มาแรงกลับไม่จำเพาะแค่ในจีนเท่านั้น เพราะเหล่าครีเอเตอร์เหล่านี้เชื่อว่าผลงานออกแบบ เป็นสินค้าระดับ Universal ไม่จำกัดสัญชาติ คนที่จะมิ้นท์ NFT มาสะสมอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าตำแหน่งประเทศการลงทุน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นงาน และการนำเสนองานที่ “ถูกที่ถูกเวลา” ซึ่งหมายถึงการลงขายถูกแพลตฟอร์มตามกลุ่มนิยมที่ชื่นชอบผลงานสไตล์เดียวกัน หรือขับเคลื่อนวัฒนธรรมย่อยเฉพาะกลุ่ม และลงขายถูกสถานการณ์ที่กำลังเป็นประเด็นฮอตฮิต NFT ที่มาแรงนำหน้างานออกแบบทั้งหมด คือผลงานของครีเอเตอร์ประเภทต่อไปนี้
“Noteworthy Creator” นักสร้างสรรค์ที่มีสไตล์โดดเด่น มักเป็นผลงานดิจิทัลอาร์ตจากศิลปินหน้าเก่าที่มีฐานแฟนคลับ และหน้าใหม่ที่โฟกัสในผลงานเพื่อนำไปใช้งานบนเกมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เช่น Beeple, Larva Labs, Mad Dog Jones และ Krista Kim
“Fashion Creator” นักสร้างสรรค์ด้านแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย มักอยู่ในแวดวงสินค้าแฟชั่นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ขยับฐานลูกค้าวงกว้างสู่เสื้อผ้าดิจิทัลในรูปแบบภาพสินค้าเสมือนจริง VR และรูปแบบ AR ความจริงเสริมในโหมดฟิลเตอร์บนโซเชียลมีเดีย เช่น RTFK Studio, The Fabricant Republiqe และ Mason Rothschild
“3D Creator” นักสร้างสรรค์งาน 3 มิติ และผลงาน illustration ส่วนใหญ่นิยมออกแบบร่างอวตาร (Avatar) ซึ่งเป็นได้ทั้งร่างเสมือนจริงแบบ CGI และตัวการ์ตูน การสร้างฉากจำลองพื้นที่เสมือนจริงแบบ 3 มิติ หรือพื้นที่เหนือจินตนาการสำหรับงานโฆษณาและแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส เช่น Shavonne Wong, Alexy Prefontaine, Six N. Five Studio และ Blake Kathryn
“Motion Video Creator” หรือ “Animation Creator” นักสร้างสรรค์ผลงานภาพเคลื่อนไหว ภาพเหล่านี้อาจเป็น 2 หรือ 3 มิติก็ได้ สำคัญอยู่ที่ภาพสามารถเคลื่อนไหวทั้งรูปแบบ GIF หรือวิดีโอ เช่น Refik Analdol, Chris Torres, Jen Stark และ Mr.Misang
“Music Creator” นักสร้างสรรค์งานดนตรี มักเป็นศิลปินหรือดีเจ ที่ผันตัวมาจับฐานแฟนคลับสายอาร์ต เพิ่มของให้สะสมสำหรับกลุ่มแฟนคลับ หรือจะเป็นการทำงานดนตรีร่วมกันระหว่างศิลปินดิจิทัลอาร์ตกับคนทำเพลง แทนที่การทำมิวสิกวิดีโอ เช่น Steve Aoki, 3LAU, Grimes และ Daniel Allan
เหล่าครีเอเตอร์เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายส่วนของวงการเมตาเวิร์ส มีทั้งครีเอเตอร์ที่แจ้งเกิดและรอวันแจ้งเกิด แต่ทุกคนล้วนเป็นจิ๊กซอร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและโลกเสมือนจริงให้ไปไกลขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่าน
ภาพจาก : sharan pagadala-unsplash
ข้อมูล :
- บทความ “Metaverse Strategy: APAC Entertainment” โดย Alison Ho จาก wgsn.com
- บทความ “NFT Creator to Know” โดย Elizabeth Tan จาก wgsn.com