การศึกษาครั้งล่าสุดพบว่า ควันกัญชาที่เกิดจากการสูบด้วยบ้อง (bong) หรือ “ควันกัญชามือสอง” อันตรายยิ่งกว่าควันบุหรี่มือสอง เพราะเต็มไปด้วยละอองอนุภาคขนาดเล็ก (หรือที่เราเรียกว่า PM) ในระดับเข้มข้น
นักวิจัยจาก University of California แห่ง Berkeley สหรัฐฯ เพิ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ โดยทดสอบกับนักศึกษาของทางสถาบันเองในปี 2018 ด้วยการตรวจวัดระดับอนุภาคขนาดเล็ก (fine particulate matter) ทั้งก่อนและหลังการสูบกัญชาร่วมกันทั้งหมด 8 ครั้ง ในเวลา 2 เดือน ภายในห้องนั่งเล่นของอพาร์ตเมนต์ใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวเองเป็นคนนำกัญชาและบ้องกัญชาของตน มาตั้งวงสูบกัญชาโดยไม่มีใครเฝ้าจับตามองแต่อย่างใด
Katharine Hammond อาจารย์ผู้รับผิดชอบงานวิจัยเรื่องนี้ร่วมกับนักศึกษาระดับบัณฑิตวิทยาลัย Patton Khuu Nguyen ระบุว่า เราไม่ได้ไปควบคุมหรือชี้แนะใดๆ แก่นักศึกษา ว่าควรสูบอย่างไร พวกเขามีอิสระที่จะเสพได้มากเท่าที่ต้องการตลอดเวลาที่ทำการทดลอง
ทั้งนี้นักวิจัยทั้งสองคนใช้มิเตอร์ตรวจจับละอองฝอยในอากาศเพื่อวัดคุณภาพของอากาศ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังสูบกัญชาแต่ละครั้ง แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลจากผู้สูบใบยาสูบด้วยเครื่องบาระกู่ ทั้งคู่พบว่าอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มาจากการสูบกัญชาด้วยบ้องสูงกว่ายาสูบถึง 4 เท่า
“เราได้นำข้อมูลอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กจากบ้องกัญชาไปเทียบกับคุณภาพอากาศช่วงท้องฟ้าสีส้มหลังเกิดไฟป่าเมื่อเดือนกันยายน 2020 พบว่าความเข้มข้นของอนุภาคภายในห้องนั่งเล่น ในขณะสูบกัญชาสูงกว่า 5-10 เท่าทีเดียว” Hammond กล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า กว่าที่ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กจะสลายตัวไปนั้น ต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ จนกว่าจะลดลงเหลือเท่ากับระดับก่อนสูบ และในการสูบครั้งหนึ่ง พบความเข้มข้นมากกว่าปกติถึง 10 เท่า กว่าระดับฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กจะลดลงเหลือในระดับก่อนสูบ ก็ต้องใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมง
ผลการศึกษาครั้งนี้ขัดแย้งกับความเชื่อที่มีมานานแล้วว่า กัญชาเป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ Hammond ย้ำว่า การศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้ทุกคนตระหนักในข้อเท็จจริงว่า กัญชามีความเสี่ยงทั้งต่อผู้เสพและคนรอบข้าง
“การศึกษาชี้ว่าการสูบกัญชาด้วยบ้องนั้นไม่ปลอดภัย ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั่วไป ความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของควันกัญชานั้น ช่วยสนับสนุนให้คนสูบกัญชากันภายในบ้าน ซึ่งอาจส่งผลต่อเด็กๆ และคนอื่นที่อยู่ใกล้ตัวผู้เสพ”รื่อง : ธนัย เจริญกุล
ภาพจาก : unsplash
ข้อมูล : https://www.theguardian.com/society/2022/apr/01/secondhand-bong-smoke-worse-tobacco-study