สถานะของภาษาฝรั่งเศสในแคนาดาได้กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศพูดได้แต่ภาษาอังกฤษ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีแคนาดาแสดงความผิดหวังอย่างชัดแจ้ง

เราทราบกันมานานแล้วว่า ภาษาทางราชการของประเทศแคนาดาคือ “อังกฤษ” และ “ฝรั่งเศส” แต่ล่าสุดได้เกิดประเด็นขึ้นที่ CN บริษัทเดินรถไฟที่ใหญ่สุดของแคนาดา ที่ในเวลานี้ไม่มีผู้บริหารระดับผู้อำนวยการที่นั่งอยู่ในบอร์ดของบริษัทพูดภาษาฝรั่งเศสได้เลย

คำถามที่ว่าผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรของแคนาดาต้องพูดได้ทั้งสองภาษา (bilingual) เริ่มกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา หลังนาย Michael Rousseau ประธานบริษัท Air Canada กล่าวว่า เขาไม่มีเวลาไปเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ต้องออกมาขอโทษที่กล่าวเช่นนั้น

ภายใต้กฎหมายของแคนาดา กิจการที่เป็นของรัฐ เช่น CN หรือ Air Canada รวมทั้งท่าอากาศยาน และรัฐมนตรีของประเทศ จะต้องพูดหรือให้บริการแก่ประชาชนได้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ

ด้านนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับ CN 

“ชาวแคนาดาที่พูดฝรั่งเศสทั่วประเทศคือภาพสะท้อนของความเป็นชาติของพวกเรา” นายกฯ ผู้พูดสองภาษากล่าว และยังขอให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ CN แก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว

ข้อถกเถียงล่าสุดนี้ชี้ชวนให้ตระหนักในสถานะอันล่อแหลมของภาษาฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนของคนพูดภาษาอังกฤษ หลังเกิดความพยายามที่จะรักษาภาษาฝรั่งเศสไว้เป็นภาษาราชการ จนต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของแคนาดาตั้งแต่ปี 1982

ขณะที่แคนาดามีประชากรทั้งหมด 37 ล้านคน และมีคนพูดฝรั่งเศสราว 8 ล้านคน ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในรัฐควิเบก 

“เอาเข้าจริงแล้ว เป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกของทรูโดต่างหาก” Stephane Beaulac ศาสตราจารย์ทางกฎหมาย และสิทธิทางภาษากล่าว

เขาชี้ว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนนี้รังเกียจสิ่งที่เกิดขึ้นใน CN แต่เมื่อปีก่อน เขาก็เพิ่งแต่งตั้งคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เป็นผู้แทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นทางการของแคนาดา

Mary Simon ถือกำเนิดในดินแดน Nunavik ทางตอนเหนือของรัฐควิเบก เป็นชาวแคนาดาพื้นเมืองคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ก็พูดได้เพียงภาษาอังกฤษ และภาษาของพื้นเมืองในตระกูลอินูอิตเท่านั้น

คณะกรรมาธิการภาษาราชการของแคนาดายังได้ตำหนิสำนักนายกรัฐมนตรีที่เผยแพร่วิดีโอสตรีมมิ่งบนเฟซบุ๊กทางการ โดยไม่มีบทบรรยายหรือบทพากย์ในภาษาฝรั่งเศส

การสำรวจครั้งล่าสุดชี้ว่า ชาวแคนาดากว่า 90 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนอย่างแข็งขันให้ประเทศแคนาดาเป็นประเทศสองภาษา (bilingualism) เพราะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแคนาดา ทว่าคนที่พูดได้สองภาษากลับมีน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

Beaulac ตั้งข้อสังเกตว่า นานมากแล้วที่ผู้ใดแสดงตัวปกป้องการใช้ภาษาฝรั่งเศส จะถูกเหมาเอาว่าเป็นพวกสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

“แต่ในวันนี้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมาก ผู้คนจึงกล้าท้าทายการครอบงำของภาษาอังกฤษมากขึ้น”

รัฐควิเบกเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา และเป็นรัฐเดียวที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางราชการแทนภาษาอังกฤษ และเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคือมอนทรีออล ซึ่งเป็นที่ตั้งของ CN

ประชากรร้อยละ 83 ของรัฐควิเบกใช้ภาษาฝรั่งเศส และยังบังคับใช้กฎหมายให้ห้างร้านหน่วยงานของรัฐใช้เป็นภาษาหลักอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองภาษาทางการของแคนาดาจึงมีทั้งสองภาษา

ด้วยกระแสชาตินิยมของคนควิเบกทำให้เกิดการเรียกร้องให้แบ่งแยกประเทศออกจากแคนาดา เพราะคนส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง จนเกิดการทำประชามติขึ้นถึงสองครั้ง ในปี 1980 และปี 1995 

โดยการลงประชามติในครั้งที่สองนั้น ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐควิเบกยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดาต่อไป ชนะไปด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 50.58 ต่อ 49.42 เปอร์เซ็นต์

หากสถานะของภาษาฝรั่งเศสในแคนาดายังล่อแหลมต่อไป ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเงื่อนไขทางการเมืองในสักวันหนึ่ง

ภาพจาก : pexels

ข้อมูล : https://www.voanews.com/a/new-controversies-arise-over-french-language-in-canada-/6542656.html

Writer

Related Posts

“ไจเดียว” ไหมพรมและเส้นด้ายย้อมมือที่ไม่มีไจไหนเหมือนกันเลยของ Manos del Uruguay องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ยืนระยะมาถึง 54 ปี

Virtual Influencer ส่งผ่านวัฒนธรรมในโลกจริง สู่การทำเงินใน Digital Economy

Life & Sound ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนกับเสียง ตอนที่ 1

ทำไมเราถึงโพสต์? : โซเชียลมีเดียสำคัญต่อมนุษย์ทำงานอย่างไร

ควันจากบ้องกัญชาอันตรายกว่าบุหรี่ถึง 4 เท่า

Plastitar ภัยคุกคามท้องทะเลและชายหาดหน้าใหม่