“ลองหลับตาลง เปิดหูให้กว้างไกลออกไป ตอนนี้ได้ยินเสียงอะไร…เสียงลมหายใจ เสียงนก เสียงเพื่อน ลองเปิดประสาทสัมผัสให้ไกลออกไปอีก มีเสียงอะไรที่อยู่ไกลออกไป” 

หากคุณเคยมีประสบการณ์อาบป่า ก็อาจจะพอคุ้นชินกับบทบรรยายนี้จากผู้นำทางที่จะเริ่มให้คุณได้ลองทำก่อนเริ่มกิจกรรม “อาบป่า”

อาบป่า หรือ Forest Bathing เป็นศาสตร์การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วยธรรมชาติ โดยมีจุดกำเนิดที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ยุค 80 (คนญี่ปุ่นเรียกว่าชินรินโยกุ)

ในบทความนี้จะไม่ลงรายละเอียดของที่มา จะไม่สอนวิธีการอาบป่าอย่างเป็นขั้นตอน แต่อยากจะชวนให้ไปทำความเข้าใจการทำอาชีพไกด์อาบป่า หรือนำทางในการทำกิจกรรม ที่ได้ มิ้นท์-ธนาพร ตระกูลดิษฐ์ หรือ Mint Barefoot มาช่วยเล่าประสบการณ์และเสริมความหมายที่แท้จริงของการอาบป่าให้ฟังมากกว่า

เธอคือไกด์และผู้สอนการอาบป่าแห่ง The Mindful Tourist สถาบันเล็กๆ ที่เปิดอบรมให้คนที่สนใจศาสตร์ด้านการอาบป่าทั่วโลก โดยมีหนึ่งในผู้ก่อตั้งเป็นคนไทย มินท์คือหนึ่งในสมาชิกที่ผ่านการอบรม จนสามารถเรียกการเป็นไกด์อาบป่าเป็นอาชีพที่ 2 ได้อย่างเต็มปาก “ข้าราชการเป็นงานเลี้ยงชีพ แต่อาบป่าเป็นงานเลี้ยงจิตวิญญาณเนอะ” เธอเริ่มเล่าอย่างสบายๆ

แต่ก่อนที่มิ้นท์จะค้นพบเส้นทางการเป็นไกด์อาบป่า เธอเคยผ่านบทบาทวิทยากรให้กับค่ายสำหรับเด็กๆ มาก่อน “เรารู้สึกว่าเด็กสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ง่ายจากสิ่งที่เราชวนให้เขาลองสัมผัสและรู้สึกกับมัน เช่น เวลาอยู่ใต้ต้นไม้แล้วรู้สึกยังไง เย็นมั้ย มันก็จะมีวิธีการในการดึงความรู้สึกของเด็กๆ ให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ โดยที่ตอนนั้นเราไม่รู้จักคำว่าอาบป่าเลย” เธอว่า

ความสนใจในธรรมชาติของมิ้นท์ทำให้เธอได้ตัดสินใจร่วมเวิร์กช็อปกับมูลนิธิโลกสีเขียวในคอร์ส Nature Mentor หรือผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ที่บ่มเพาะคนที่รักในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสื่อสารออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน “สุดท้ายแต่ละคนก็มีความถนัดของตนเอง และสามารถหาแนวทางของตัวเองได้ เรารู้จักคำว่าอาบป่าครั้งแรกที่นี่” 

สิ่งที่สั่งสมมาค่อยๆ หล่อหลอมความเชื่อ แนวคิด และเส้นทางของเธอ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นระยะเวลา 5 ปีที่มิ้นท์จัดกระบวนการอาบป่า ในที่สุดก็มาจับงานไกด์อย่างเป็นทางการ

“การอาบป่าจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีพื้นที่ธรรมชาติ อาจจะเป็นป่า หรือต้นไม้เล็กๆ ในห้องก็ได้ และตัวเรา ซึ่งตัวเราต้องมีความใส่ใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่าง 100% โดยการเปิดผัสสะทั้งหมด นี่คือแก่นของการอาบป่า” เพราะการอาบป่าที่ว่าคือทักษะการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะดูดาว ชงชา หรือจัดดอกไม้ ก็นับว่าเป็นการอาบป่าได้ทั้งนั้น เพียงแค่เราต้องอยู่กับสิ่งตรงหน้าด้วยความใส่ใจ

“สูดลมหายใจเข้าลึกแล้วรู้สึกถึงความสดชื่นของธรรมชาติ หรือหลับตาฟังเสียงนก เสียงแมลง เสียงบรรยากาศในป่าแล้วจิตใจเบิกบานได้ด้วยตัวเอง ไกด์ก็ไม่จำเป็น” ที่มิ้นท์หันมาทำเรื่องอาบป่าก็เพราะอยากเห็นคนมีทักษะนี้ติดตัว “การอาบป่ามันเป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนี้ก็ได้ แค่มีสกิลในการเชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วยตัวเองได้” เพราะนั่นคือทักษะเดิมที่มนุษย์เราเคยมี เพียงแต่ปัจจุบันเราถอยห่างออกจากธรรมชาติมาเอง

แม้ว่าอาบป่าจะเป็นทักษะที่ใครก็สามารถมีได้ กับธรรมชาติแบบใดก็ได้ สวนสาธารณะใกล้บ้าน แม้แต่สวนหน้าบ้านก็ยังได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นที่ป่าเท่านั้น แต่มิ้นท์แนะนำว่า “ถ้าทำได้ก็อยากให้พาตัวเองไปจุ่มแช่กับบรรยากาศในป่า ในธรรมชาติที่ห่างไกลจากเมืองดู” ผลดีก็คือที่เพราะป่าสามารถดูแลเราได้ถึงระดับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่สวนสาธารณะในเมืองอาจจะยังให้ไม่ได้ระดับนั้น “แต่ด้านอื่นๆ พวกความผ่อนคลาย ลดความเครียด มีความสดชื่นขึ้น ยังพอทดแทนกันได้

คำว่า Barefoot ที่ห้อยอยู่ท้ายชื่อก็มีที่มา เพราะว่าเธอมักจะนำการอาบป่าเริ่มต้นด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมได้ถอดรองเท้า สัมผัสกับผืนดิน ผืนหญ้า “เพราะการใส่รองเท้าคือการคอนเฟิร์มว่าเราจะปลอดภัย การที่มนุษย์คนนึงสามารถถอดรองเท้าแล้วยืนบนดินได้ มันคือการที่เราไว้วางใจธรรมชาติตรงนั้น” เธออธิบาย 

หากจะสัมผัสธรรมชาติให้ลึกกว่าเดิมก็จะให้นอนราบลงบนพื้น แล้วค่อยๆ หลับตา “สำหรับบางคนที่กังวล ก็ลืมตามองท้องฟ้า มองก้อนเมฆ หรือยอดไม้ที่อยู่เหนือเราไปก็ได้ แล้วค่อยๆ ปล่อยความรู้สึกไปกับภาพที่เรากำลังเห็น อันนี้คือสเต็ปที่ง่ายที่สุด แล้วอยู่ตรงนั้นสัก 15 นาที มันจะรู้สึกเลยนะว่าตัวเบา” นี่คือสิ่งที่เธออยากให้ทุกคนได้ลองพิสูจน์ดูด้วยตนเอง ใครที่อ่านบทความนี้จบจะไปลองที่สนามหญ้าหน้าบ้านดูก็ได้

ระหว่างการอาบป่า ไกด์ก็จะคอยชวนทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะเรียกว่า การเชื้อเชิญ หรือ Invitation “มันเหมือนการส่งบัตรเชิญ เวลาเราจะชวนให้ทุกคนมาถอดรองเท้าด้วยกัน สุดท้ายผู้เข้าร่วมจะรับบัตรเชิญของเราหรือไม่ขึ้นอยู่กับเขา” ไกด์ก็จะเป็นคนเฝ้าดู สังเกตการณ์ปฏิกิริยาของแต่ละคนในการอยู่กับธรรมชาติตรงนั้น แล้วเป็นคนช่วยถอดความหมายของการกระทำ ความรู้สึกต่างๆ ออกมาผ่านการพูดคุยกันเพื่อสะท้อนความคิดหลังจบกิจกรรม 

ในบริบทโลก การอาบป่าถือเป็นกิจกรรมด้านสุขภาวะ หรือ Health and Wellness แต่บ้านเราถูกนำมาใช้ในบริบทอื่นๆ ที่ต่างกันไป เช่น การศึกษา หรือการท่องเที่ยว “หลายคนยังเข้าใจว่าการอาบป่าเป็นการพาคนไปเสพสุขกับธรรมชาติในฐานะผู้เสพ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงในฐานะที่อยากดูแลรักษา” นี่คือมุมมองต่อศาสตร์การอาบป่าในบ้านเราที่มิ้นท์พบเจอ

“ในมุมมองของเรา การที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนความคิดจากประสบการณ์กับธรรมชาติออกมามันทรงพลังมากเลยนะ” มิ้นท์เล่าว่าเคยมีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งรู้สึกขอบคุณที่เขาได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติในมิติที่รู้ว่าธรรมชาตินั้นจำเป็นต่อชีวิตเขาอย่างไร พร้อมกับสัญญาว่าจะดูแลรักษาธรรมชาติ “เราว่าอันนี้มันอิมแพ็กจากหัวใจของคนคนนั้นจริงๆ นี่คือคุณค่าที่เราได้รับ” และเธอก็ยังเชื่อว่าการอาบป่าในประเทศไทยไปต่อได้แน่นอน แค่ขึ้นอยู่กับว่าคนจะสามารถนำการอาบป่าทำให้คนตระหนัก หรือเชื่อมโยงในระดับนี้ได้มากขนาดไหน 

การเป็นไกด์อาบป่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเก่ง รู้พรรณไม้ หรือเป็นนักเดินป่าตัวยง เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พร้อมจะเปิดกว้างให้มนุษย์คนอื่น และธรรมชาติรอบข้างก็เพียงพอ “แต่ถ้ามีความรู้เฉพาะทาง เช่น ความรู้เรื่องต้นไม้ดอกไม้ ก็เป็นกำไรที่จะช่วยเติมรสชาติในการอาบป่าได้” มิ้นท์เสริม 

และหากที่ใครเริ่มต้นการอาบป่าจากศูนย์ หรือควบคุมสมาธิให้อยู่กับปัจจุบันได้ยาก แม้แต่ต้องการใครสักคนที่พาไปทำกิจกรรม ไกด์อย่างมิ้นท์ก็ถือว่าจำเป็น

“เราจะบอกในกระบวนการทุกครั้งว่าจะไม่อินก็ได้ แต่แค่อยากให้บอกความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองออกมา” สำหรับมิ้นท์เธอไม่ได้จะพาผู้เข้าร่วมเชื่อมโยงแค่ธรรมชาติภายนอก แต่ต้องกลับมาเชื่อมกับธรรมชาติภายในตัวเอง ด้วยการอยู่กับตัวเองและรู้ทันความคิดความรู้สึกที่แท้จริง 

ความท้าทายของการเป็นไกด์คือการเปิดกว้างให้มนุษย์ทุกรูปแบบ “ไกด์ต้องทำงานกับตัวเองอย่างมากที่จะวางอคติต่อผู้คนตรงหน้า หรือแม้แต่สถานที่ที่มันไม่เอื้อ เช่น สวนสาธารณะที่อยู่ๆ ก็มีเสียงรถ เสียงตัดหญ้าขึ้นมาโดยไม่คาดคิด เราจะวางใจยังไงให้ยอมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติแบบที่มันเป็น ณ ขณะนั้นและนำตรงนั้นกลับมาเป็นข้อเรียนรู้” และนี่ก็คือความยากในการเป็นไกด์ที่เธอประสบ 

“หลายคนพอออกจากการอาบป่าแล้ว กลับไม่สามารถอยู่กับธรรมชาติรอบตัวได้แบบที่มันเป็น ไม่ว่าจะในบ้านหรือในเมือง” มิ้นท์จึงตั้งคำถามว่าทำไมเราเปิดใจให้ป่า เฝ้ารอวันที่จะได้อาบป่าในป่าจริงๆ จนลืมสัมผัสธรรมชาติเล็กๆ รอบตัวที่เห็นอยู่ทุกวัน เพราะโอกาสในการอาบป่าสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไม่ว่าธรรมชาตินั้นจะเล็กแค่ไหนก็ตาม

ความจริงจังของการอาบป่าที่ญี่ปุ่นคือการจัดตั้ง “ฐานอาบป่า” โดยมีรัฐบาลรับรองและสนับสนุน ซึ่งจะใช้พื้นที่ป่าไม้ อุทยานต่างๆ เพื่อสร้างเส้นทางการอาบป่าโดยเฉพาะ ที่จะมีแพทย์และนักบำบัดคอยประจำเพื่อให้คำปรึกษาอยู่ด้วย พร้อมทั้งมีการพิสูจน์ผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์จากนักวิจัยรองรับว่า ความรู้สึกดีขึ้นหลังจากการอาบป่าไม่ใช่แค่คิดไปเอง

แม้บ้านเรายังไม่ถึงขั้นนั้นแต่ก็ยังมีคนกลุ่มทีคอยผลักดันและใช้ศาสตร์การอาบป่ามาช่วยบำบัดสุขภาวะกายและใจ เช่น ที่บ้านกลางทุ่งออร์แกนิคโฮมสเตย์ของ ป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ หรือศูนย์รวมตะวัน ณ กาญจนบุรี ที่ตั้งเป็นฐานอาบป่าอย่างเป็นทางการแบบที่คนในวงการรู้กัน 

“ถ้าถามว่าอาบป่าคืออะไร มันจะบอกไม่ได้ แต่ต้องมาลองสัมผัสด้วยตัวเอง มันเป็นประสบการณ์เฉพาะ” และไกด์…ก็เป็นแค่คนเปิดประตู แต่นักบำบัดที่แท้จริงคือป่า โดยมีการอาบป่าเป็นสะพานอีกทอดหนึ่ง

เอาละ ตอนนี้พร้อมจะรับบัตรเชิญจากไกด์อาบป่ากันหรือยัง

ภาพจาก : ธนาพร ตระกูลดิษฐ์

Writer

Related Posts

สร้างประสิทธิภาพการทำงานด้วย “วันลารอบเดือน”

กรุงเทพฯ คือเมืองสำหรับ Digital Nomad อันดับที่ 2

มองภาพบูมเมอร์ใหม่ เจาะอาชีพบริการผู้สูงอายุให้ตรงจุด

“แบดบอย” ยุค 50’s ในตำนาน

“แบดบอย” ยุค 50’s ในตำนาน

เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู

สงครามล้าง “อารยธรรม” (ตอนจบ)