ในปี 2007 มีข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ณ เมืองชิคาโก มีคนค้นพบฟิล์มเก่าจำนวน 1 แสนกว่าภาพ ล้วนเป็นรูปถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่ให้ใครเห็น และภาพถ่ายแสดงถึงความเป็นมืออาชีพอย่างมาก ภาพเหล่านั้นไม่ใช่ฝีมือของช่างภาพที่โด่งดังในยุคสมัยนั้น หากนี่คือฝีมือของ วิเวียน ไมเออร์ (Vivian Maier) สตรีผู้ประกอบอาชีพพี่เลี้ยงเด็กเพื่อหารายได้ให้ตนเอง แต่ใช้เวลาว่างออกไปถ่ายภาพสตรีทจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เธอทำมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950-1990 

วิเวียน ไมเออร์ เป็นลูกของพ่อแม่รุ่นใหม่ที่รับแนวคิด ‘อเมริกันดรีม’ (American Dream) แนวคิดนี้ว่าด้วยความสุขสบายและความสำเร็จในชีวิตที่เกิดจากความขยันและการทำงาน อเมริกาคือพื้นที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้ชีวิตดีขึ้น ดังนั้นดินแดนแห่งนี้จึงเป็นความหวัง ความฝัน และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของใครหลายคน คู่รักอย่าง มารี โจโซด์ หญิงชาวฝรั่งเศส กับชาร์ลส์ ไมเออร์ ชายชาวออสเตรีย มองว่าอเมริกาก็คือชีวิตใหม่ ทั้งคู่อพยพมาทำงานในนิวยอร์กและมีลูกด้วยกัน 2 คน คือคาร์ล ไมเออร์ (ค.ศ. 1920) และวิเวียน ไมเออร์ (ค.ศ. 1926) แต่ชีวิตคู่ก็ไม่สมหวัง ทั้งคู่ตัดสินใจแยกทางกัน มารี โจโซด์พาลูกย้ายกลับมาบ้านเกิดแถบชนบทในประเทศฝรั่งเศส ทว่าโจโซด์ก็ยังคงพยายามพาลูกกลับไปแสวงหาความสำเร็จในอเมริกาเป็นครั้งคราว

จากรุ่นแม่ถึงรุ่นลูก อเมริกายังคงเป็นความหวังของครอบครัวไมเออร์ เมื่อวิเวียน ไมเออร์ อายุ 24 ปี เธอตัดสินใจย้ายมาทำงานในนิวยอร์ก งานแรกที่ทำคือกรรมกรตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานทอผ้า แต่เธอรู้สึกว่าอาชีพนี้ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะออกไปถ่ายรูป เธอจึงเปลี่ยนมาทำอาชีพพี่เลี้ยงดูแลเด็กในครอบครัวอเมริกันชนชั้นกลาง ทำให้ไมเออร์มีที่พักอาศัยฟรีและมีอิสระ ออกไปถ่ายรูปข้างนอกหรือระหว่างงานก็ยังถ่ายรูปได้ เส้นทางชีวิตของวิเวียน ไมเออร์ ในอเมริกาจึงประสบความสำเร็จทั้งในแง่ความมั่งคงด้านการทำงานและความสุขที่ได้ถ่ายภาพ 

ภาพถ่ายคือชีวิตของวิเวียน ไมเออร์ เธอมักจะบอกกับนายจ้างเสมอว่า “ฉันมากับชีวิตของฉัน ชีวิตฉันอยู่ในกล่องใบนี้” ไมเออร์จะเก็บม้วนฟิล์มและของสะสมอื่นๆ ไว้ในกล่อง และห้ามให้ใครมายุ่งกับกล่องของเธอเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะภาพถ่ายเปรียบเสมือนการบันทึกความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับนายจ้างและสังคม และภาพถ่ายยังเป็นภาพแทนชีวิตของผู้คนอเมริกันผ่านมุมมองของไมเออร์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมและการเมืองอีกด้วย ฟิล์มทุกม้วนจึงสำคัญกับเธอมาก และไมเออร์มักไม่เปิดเผยภาพถ่ายให้ใครเห็นตลอดการมีชีวิตอยู่ของเธอ

ภาพถ่ายของวิเวียน ไมเออร์แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างเธอกับนายจ้าง และภาพความอบอุ่นของครอบครัวชนชั้นกลาง อาชีพพี่เลี้ยงดูแลเด็กของไมเออร์ทำให้ภาพถ่ายจำนวนมากเป็นรูปของเด็กๆ เช่น ภาพเด็กวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพเด็กในอ้อมกอดของพ่อแม่ และภาพเด็กร่วมถ่ายรูปกับไมเออร์ นอกจากนี้เธอยังถ่ายภาพกิจกรรมของครอบครัวนายจ้าง เช่น ภาพครอบครัวไปท่องเที่ยวในป่าและทะเล และภาพทุกคนกำลังทานอาหารในบ้าน ฯลฯ ภาพเหล่านี้ ไมเออร์ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนม ความสนุกสนาน และความสุขสบายในการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นเหมือนภาพแทนของแนวคิดแบบอเมริกันดรีม 

เมื่อมีเวลาว่าง วิเวียน ไมเออร์มักออกมาถ่ายภาพผู้คนตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองนิวยอร์กและชิคาโก ทำให้ภาพถ่ายของเธอเป็นเหมือนภาพแทนชีวิตของผู้คนในเมืองนั้น เช่น ภาพถ่ายกลุ่มชนชั้นแรงงาน และภาพถ่ายผู้หญิงที่แต่งตัวสวยและดูทันสมัยที่เดินอยู่ตามท้องถนน ภาพเหล่านี้มีหลากหลายอารมณ์ ทั้งตลกขบขัน รู้สึกเจ็บปวด และมีความสุข แต่ที่น่าสนใจคือเธอมักใช้มุมกล้องต่ำทำให้คนที่อยู่ในเฟรมดูมีอำนาจและมีเกียรติสูงส่ง ภาพถ่ายของเธอมิได้ด้อยค่าผู้คนเหล่านั้น แต่กำลังทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรีและเกียรติในสังคม

วิเวียน ไมเออร์ยังถ่ายภาพเพื่อบันทึกเป็นความทรงจำให้กับตนเองอีกด้วย เธอมักจะถ่ายภาพสิ่งของและเอกสารสำคัญเก็บไว้เสมอ เช่น ใบเสียภาษี ตั๋วภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ เสื้อผ้า ฯลฯ และที่สำคัญ เธอมักจะถ่ายภาพตนเองกับสถานที่อื่นๆ เพื่อเก็บเป็นความทรงจำ เช่น เธอถ่ายภาพตนเองผ่านการสะท้อนของเงา กระจก และน้ำ เป็นต้น ซึ่งภาพเหล่านั้นมักจะถูกจัดเฟรมและองค์ประกอบของแสงอย่างมืออาชีพ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามุมมองการถ่ายภาพชั้นเลิศของวิเวียน ไมเออร์เกิดขึ้นได้เพราะเธอมีความสัมพันธ์กับสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ไมเออร์เป็นสตรีหัวก้าวหน้าที่มีแนวคิดสตรีนิยมสายสังคมนิยม จึงไม่แปลกใจที่ภาพถ่ายจำนวนมากจะเป็นกลุ่มชนชั้นแรงงานและผู้หญิงสมัยใหม่ นอกจากนี้ วิเวียน ไมเออร์ ยังเป็นสตรีที่สนใจเหตุการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่การเข้าไปฟังปราศรัยของพรรคคอมมิวนิสต์ จนถึงการประท้วงของขบวนการนักศึกษา ซึ่งไมเออร์จะถ่ายภาพเก็บไว้โดยเฉพาะภาพนักการเมืองหลายคน เช่น จอห์น เอฟ. เคนเนดี, ริชาร์ด เดลีย์, และริชาร์ด นิกสัน เป็นต้น

วิเวียน ไมเออร์ เป็นสตรีที่ไม่ได้อยู่ในโลกที่ปิด เธอเปิดรับความรู้เพื่อเพิ่มพูนภูมิปัญญาให้กับตนเองอยู่เสมอ กิจกรรมเวลาว่างของเธอนอกจากถ่ายภาพแล้ว เธอยังชื่นชอบการอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ละครเวที และงานศิลปะในแกลเลอรี่ เช่น เธอชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ การเมือง สถาปัตยกรรม และการถ่ายภาพ อ่านหนังสือพิมพ์ The New York Times ทุกฉบับ เป็นต้น กิจกรรมทางปัญญาเหล่านี้อาจหล่อหลอมให้เกิดมุมมองและความคิดในการถ่ายภาพของไมเออร์ก็เป็นได้

อาชีพพี่เลี้ยงดูแลเด็กที่วิเวียน ไมเออร์ทำงานอยู่อาจไม่ได้มอบฐานะทางสังคมที่ดูสูงส่งอย่างที่ผู้คนอยากจะมี แต่อาชีพนี้ได้มอบเวลาและพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์กิจกรรมทางภูมิปัญญา มุมมองการถ่ายภาพชั้นเลิศของไมเออร์ในอดีตกลายเป็นภาพถ่ายที่ถูกผู้คนทั่วโลกชื่นชม แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าวิเวียน ไมเออร์ เสียชีวิตในปี 2009 เธอไม่ได้มีโอกาสเห็นถึงความโด่งดัง การยอมรับ และการชื่นชมฝีมือการถ่ายภาพของเธอจากคนทั่วโลกเลย 

ภาพจาก : vivianmaier.com

ข้อมูล :

  • Ann Marks. Vivian Maier Developed: The Untold Story of the Photographer Nanny. New York, 2021.
  • Colin Westerbeck. Vivian Maier: The Color Work. New York, 2018
  • Pamela Bannos. Vivian Maier: A Photographer’s Life and Afterlife. Chicago, 2017.
  • John Maloof. Vivian Maier: A Photographer Found. New York, 2014.
  • Vivian Maier. Vivian Maier: Street Photographer. New York, 2011
  • John Maloof. Vivian Maier. จาก vivianmaier.com

Writer

Related Posts

พบน้ำมหาศาลใต้แอนตาร์กติกา

Homeless Bar การต่อยอดจาก Homeless House ที่อยากให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่เข้าถึงได้และตอบสนองอุดมการณ์โดยไร้ความตะขิดตะขวง

วัฒนธรรมของการดูโทรทัศน์แบบดั้งเดิมในครัวเรือนไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป

ปัจจัยความสำเร็จและบทเรียนจากเซลล์มะเร็ง

หลักคิดการทํางานบริการแบบสไตล์ญี่ปุ่น: คิดแบบญี่ปุ่น ทําแบบญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

Endu Tree ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองด้วยความเอ็นดู