ชวนวาร์ปมาสูดกลิ่นวานิลลาท่ามกลางพื้นที่สร้างสรรค์ในคอนเซปต์เกาะ ทรอปิคัล ความเป็นเมือง และปลาทูสามตัว ที่ Villa Vanilla

ความภาคภูมิใจของคนหนึ่งคนคือสิ่งไหน สำหรับ ‘เป็ก–โชคชัย อินทโชติ’ เขาภาคภูมิใจกับการทำงานในโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง ‘Villa Vanilla’ บาร์เปิดใหม่ครบสูตรสไตล์ทรอปิคัลเพิ่งครบรอบหนึ่งเดือนหมาดๆ โดยเขานิยามโปรเจกต์คราวนี้ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นว่า “ที่นี่คืองานที่สนุกที่สุดในชีวิตผม” 

ด้วยลุคแนวสตรีตบอยชัดแจ๋วส่งผลลัพธ์ให้เป็กดูกลมกลืนไปกับ  Villa Vanilla อย่างไม่อาจปฏิเสธ หลายคนคงคุ้นหน้าค่าตาเขาในนิตยสาร Cheeze–Looker จนได้จับพลัดจับผลูเข้ามาสู่พาร์ตของอีเวนต์ ‘Longlay Beach Life Festival’ มันคืองานรวมกลุ่มคนรักการเสพไลฟ์สไตล์ ทั้งแอ็กทิวิตี้ชายหาด งานดนตรี ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดโดยทีมนิตยสาร Cheeze และ Looker 

และเขาคือคนบุกเบิกงานลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัลด้วยกันกับ ‘ปู–จิรัฏฐ์ พรพนิตพันธุ์’ หรือเจ้าของเพจ ‘Ppoojiradt’ ผู้นำแห่งวงการสตรีตแฟชั่น ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Cheeze และบรรณาธิการบริหาร Looker ที่เขาเปรียบเหมือนอาจารย์คนหนึ่งอีกด้วย

จากความเคยคุ้นในงานลงเล บีช ไลฟ์ เฟสติวัล จนมาถึง Villa Vanilla ผลผลิตใหม่เชื่อมโยงจาก Homeless นี้เกิดขึ้นโดยเฮดโปรเจกต์คือ ‘ตู่–ชัยวัฒน์ ฤทธิ์แรงกล้า’ พาร์ตเนอร์ของ Zodiac Bar จากเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ยังมีเอ็ม–ประกาศ แพเพชรทอง สถาปนิกนักออกแบบของ Homeless, Villa Vanilla และเป็ก–คนลงมือแปลงโฉมโปรเจกต์พร้อมจัดการเรื่องยากให้เป็นไปตามเรื่องราว– พวกเขาทั้งสามใช้วิธีเสาะหาของเก่าอย่างละเมียดละไมแล้วประยุกต์ขึ้นใหม่อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ตรงกับคอนเซปต์วิลลาวานิลลาให้มากที่สุด ไปจนถึงตัวตนของเป็กกับการชื่นชอบแต่งตัวอยู่ก่อนแล้วก็เท่ากับดัดแปลงให้เกิดการผสมผสานนั่นนี่เข้าด้วยกัน ภาพรวมเลยดูคล้ายการจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบประติมากรรมหลากหลาย แปลกแต่ก็ลงตัวไม่เบา 

อีกนัยหนึ่งเป็กบอกว่าวิลลาวานิลลาเกิดขึ้นจากอีโก้ ความมั่นใจ ทำงานกันไม่มีระบบระเบียบ (แต่มีรูปแบบการทำงานค่อนข้างชัดเจน) ดีตรงที่มีความเชื่อใจกัน เคารพกัน อีกทั้งยังใส่ใจกับเป้าหมายและทิศทางเดียวกันในแบบของพวกเขาทั้งสามคน 

Villa Vanilla = บ้านที่มีกลิ่นวานิลลา 

เป็กเล่าว่า “ทีแรกตีโจทย์ว่าอยากให้เป็น ‘Back Yard’ ในบ้านฝรั่ง เป็นบาร์ลับ ไม่ครึกครื้น แต่ต้องมองภาพกว้างด้วยว่าคนไทยชอบสังสรรค์กันซะส่วนใหญ่ อีกอย่างคนไทยเริ่มรู้จักการกินค็อกเทลจริงจังแล้ว พวกเราก็เริ่มวางแผนตั้งแต่ลงดีเทล เก็บรายละเอียด พอได้สถานที่มาก็ให้พี่ตู่คิดคอนเซปต์ เอ็มก็ดูทิศทางความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิด ผมดูหน้างานต้อง ‘รังสรรค์’ สิ่งที่พี่ตู่และเอ็มพูดออกมาให้ดี โดยรวมแล้ววิลลาวานิลลาจะเน้นคอนเซปต์ทรอปิคอลตั้งอยู่ในเมือง (หาดใหญ่) โดยเฉพาะคอนเซปต์ของ ‘กลิ่นวานิลลา’ หอมบางๆ ให้ความรู้สึกพร้อมต้อนรับผู้มาเยือน”  

Villa Vanilla ตัวแทนบุคลิกของพาร์ตเนอร์ทั้งสาม

คงบอกได้ว่าเฟิสต์อิมเพรสชั่นแรกๆ ในร้านนั้นอาจเป็นกลิ่นวานิลลา แต่ที่นี่ก็งัดเอาจุดเด่นออกมาเสนอด้วยนั่นคือการออกแบบร้านด้วยของวินเทจ ไหนจะเหล็ก อิฐบล็อก ไม้ โคมไฟ กระจก เชิงเทียนสีแดง หรือกระทั่งป้ายเก่า ฯลฯ และการตกแต่งภายในที่แยกเซกชั่นออกค่อนข้างชัดเจน 

ถ้าเริ่มจากด้านซ้ายมือติดกับทางเข้าเรียกว่าห้องมิกเซอร์ ห้องนี้จะเสิร์ฟเครื่องดื่มจำพวกโทนิก จิน วอดก้า เป็นห้องที่ให้มู้ดเเอนด์โทนเหมือนในหนังเรื่อง The Godfather เป็กบอกว่า “ผมเป็นคนบ้าก๊อดฟาเธอร์มาก” ถัดไปด้านขวามือคือห้องใหญ่จะเสิร์ฟเครื่องดื่มซิกเนเจอร์หรือสแตนดาร์ดค็อกเทล ห้องนี้ใครไปใครมาจะได้กลิ่นวานิลลาต้อนรับตั้งแต่ทางเข้า อีกห้องตรงกับประตูทางออกคือห้องเบียร์คราฟต์เสิร์ฟด้วยเบียร์หลากหลาย มีเก้าอี้นั่งหน้าบาร์คล้ายเสิร์ฟอาหารแบบโอมากาเสะ รวมทั้งลานเล็กๆ ด้านนอกเอาไว้จัดปาร์ตี้ มีวงดนตรีแจ๊ซ เหล่าดีเจแวะเวียนเปิดเพลงสไตล์อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ (House) และศิลปินในแวดวงมาร่วมอีเวนต์ต่อเนื่อง 

เป็กอธิบายต่อว่า “วิลลาวานิลลาเมื่อก่อนคือโรงคั่วกาแฟกว่า 80 ปี แล้วพวกเรามาทำร้านกันเอง ส่วนใหญ่จะใช้ของเก่า อย่างพวกอิฐบล็อกที่เห็นปูทาบบนพื้นหรือโครงสร้างบนผนังตามห้องต่างๆ เราไปตามหาอิฐเก่าตามชายหาดทะเลสาบสงขลา เท่านั้นยังไม่พอเรายังหาซื้ออิฐเก่าอายุ 40-50 ปีมาใช้ด้วย” 

“หรือโต๊ะ-เก้าอี้ตามห้องเราก็ทำกันขึ้นมาเอง อย่างในห้องเบียร์คราฟต์ก็จะมีป้ายเก่าของโรงคั่วกาแฟติดอยู่บนตู้กดเบียร์คราฟต์ตรงหน้าแผงเหล็กเหลือใช้จากการตัด CNC มีชื่อว่า ‘สหายนานหาดใหญ่’ พวกเราชอบความหมายของชื่อนี้ เมื่อก่อนป้ายนี้เป็นภาษาจีนแปลความได้ว่า ‘โรงกาแฟ’ เราเอามาซ่อมแซมใหม่อย่างที่เห็น หรือตรงลานเล็กๆ ไว้จัดอีเวนต์จะเห็นรูปปั้นผู้หญิงสไตล์โรมันเราเรียกติดปากกันว่า ‘เจ้วิลล่า’ อยู่กับพวกเรามาตั้งแต่เริ่มเปิดร้านช่วงแรกๆ” 

ระหว่างเป็กเดินนำขึ้นไปชมบนชั้นสองจนมาหยุดตรงหน้าห้องเชิงบันได เป็กเริ่มสาธยายต่อว่าบริเวณชั้นสองมีแผนจะทำที่นั่งชิลไว้ดูพระอาทิตย์ตกแบบ Sunset Bar ด้วย และบริเวณชั้นสองนี้ยังมีมุมน่าสนใจอยู่ตรงทางเชื่อมบันไดลงไปยังฝั่งห้องมิกเซอร์ มุมนี้ตกแต่งด้วย ‘ลูกจิก’ จากเกาะหลีเป๊ะร้อยต่อกันอย่างกับสร้อยลูกปัดขนาดยักษ์แขวนเรียงจากชั้นสองยาวไปจนถึงชั้นล่างเหมือนอยู่บนเกาะร้างที่ไหนสักแห่ง 

จากที่เป็กเล่าถึงคอนเซปต์โดยรวมของบริเวณร้าน ห้องใหญ่ (ซิกเนเจอร์สแตนดาร์ด) ห้องเบียร์คราฟต์แล้ว มีอีกห้องนั่นคือห้องมิกเซอร์ ดูท่าจะอัดแน่นด้วยเรื่องเล่ารออยู่มาก ขณะเราหยุดยืนอยู่หน้าห้องมิกเซอร์เขาเริ่มต้นเล่าถึง ‘เหล็ก’ แผ่นใหญ่ขนาดราว 2.5 เมตรติดอยู่บนฝาผนัง เป็นเหล็กครอบเตาเผาอายุพอๆ กับโรงคั่วกาแฟ รวบตึงไปยังก้อนอิฐขนาดใหญ่นำมาจากเตาเผามาก่อเป็นฐานบาร์และก่อเตาผิงขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน โดยห้องมิกเซอร์นี้จะใช้อิฐจากเตาเผาเก่าเพียงเท่านั้น ต่างจากบริเวณอื่นของร้านที่ใช้อิฐด้วยการไปตามหาหรือซื้อมาใช้ 

เป็กเน้นว่า “ห้องมิกเซอร์จะออกแบบและทำหลังสุดเพราะมีโจทย์คือนำของเหลือใช้ที่ทำเสร็จแล้วจากทุกห้องเพื่อจะมาทำห้องนี้ ดังนั้นจะดูไม่เนี้ยบ มีความดิบ ไม่มีความสมบูรณ์แบบ และตั้งใจจะให้ทุกส่วนของร้านถอดบุคลิกของพาร์ตเนอร์ทั้งสามคนได้ มันจะปนเปื้อนไปด้วยความรู้สึกแปลกๆ ซ่อนความหมายที่สอดแทรกความเป็นเมือง (หาดใหญ่) เอาไว้ด้วย กระทั่งโครงเหล็กรูปซี่โครงปลาทู ตอนแรกเป็นซี่เหล็กที่เหลืออยู่แผ่นเดียวแต่คิดไม่ตกว่าจะทำอะไรดี พี่ตู่เสนอไอเดียว่าให้ทำเป็นซี่โครงปลาทู เพราะปลาทูใครๆ ก็รู้จักและเข้าถึงง่าย พาร์ตเนอร์มีสามคนก็กลายมาเป็นปลาทูสามตัว” 

Villa Vanilla ประสบการณ์ของคนหน้าบาร์

ในเมื่อวิลลาวานิลลาให้อารมณ์คล้ายกับไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน จะขาดจุดชูโรงอย่างค็อกเทลเครื่องดื่มเสียไม่ได้ สิ่งสำคัญคือพาร์ตเนอร์ทั้งสามให้ความสำคัญกับบทบาทของการเป็น ‘บาร์เทนเดอร์’ ไม่แพ้กัน 

“อาจเพราะพี่ตู่มีประสบการณ์ด้านการทำบาร์กว่าสามสิบปีทั้งที่อำเภอปาย (ติ๊งต๊องบาร์) และบนเกาะหลีเป๊ะ ผมก็เคยไปศึกษาธุรกิจของบาร์โดยใช้ชีวิตเสพกลิ่นอายอยู่ที่หลีเป๊ะ ผมเลยกลับมามองว่าต้องให้ความสำคัญในบาร์และต้องการบาร์เทนเดอร์ที่มีประสบการณ์มากพอสมควร เมื่อมีคนเก่งหลายคนมารวมกันควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่อง “ระบบ” จะได้ทำงานในหน้าที่ของตัวเองชัดขึ้น หลายๆ คนผมเลือกเข้ามาทำงานเพราะพวกเขาชอบและรักในทางเดียวกับพวกเรา”

“จะมีอีกตำแหน่งในบาร์เรียกว่า ‘บับเบิ้ล’ ผมตั้งตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อจะได้เป็นกำแพงกันกระแทกระหว่างลูกค้าและคนในร้านให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดถ้าเกิดเหตุการณ์สุดวิสัย อย่างรสชาติของเครื่องดื่ม หรือคอยต้อนรับดูแลการจัดการภายในร้านให้ราบรื่น เพราะการทำบาร์ต้องเจอคนเยอะ ตำแหน่งนี้จะพบเจอได้ในบาร์ของประเทศญี่ปุ่น และผมนำมาปรับใช้กับที่นี่อีกที” เป็กอธิบาย 

Villa Vanilla หนึ่งกระบอกเสียงอยากเห็นหาดใหญ่มีแลนด์มาร์กชัดเจน

อย่างไรก็ดี นอกจากเป็กจะวาดไอเดียด้วยบุคลิกของคนมีไหวพริบและเก็บรายละเอียดงานทุกเม็ดให้ออกมาอย่างสร้างสรรค์แล้ว เขายังวางแผนไว้อีกหลายโปรเจกต์ โดยเขาได้รับโอกาสจาก ‘นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์ทั้งหมด หนึ่งในโปรเจกต์เร็วๆ นี้คือการจัดงาน ‘Flea Market’ หรือการเชิญชวนเพื่อนในวงการทั้งจังหวัดเดียวกันเเละจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้มาเปิดตลาดร่วมกัน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งระดับจุลภาค-มหภาค และอาจดึงนักท่องเที่ยวทั้งไทย-มาเลเซียซึ่งเคยเป็นท่อเลี้ยงหลักของเมืองหาดใหญ่ให้กลับมาคึกคัก 

“การเปิดตลาดครั้งแรกคนอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่คิดว่ามันจะเกิดผลดีตามมา ถ้าอยากให้หาดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยว อย่างน้อยเราต้องมองเป็นมินิภูเก็ตให้ได้ หรือลองดูโมเดลของถนนเจริญกรุง ย่านตลาดน้อย-วงเวียน 22 กรกฎาในกรุงเทพฯ จะสอดแทรกความเป็นเมืองที่มีมิติหลากหลาย มีศิลปะ มีความป๊อป-อาร์ต มองเห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าได้อย่างกลมกลืน ผมมองหาดใหญ่ไว้อย่างนั้น” 

“ส่วนโปรเจกต์ต่อจาก Flea Market คาดว่าจะจัดงานจากย่านนิพัทธ์อุทิศ 1-3 ลากยาวมาถึงย่านนี้ อาจจัดอีเวนต์ตามมุมต่างๆ เพราะที่นั่นเคยเป็น ‘มิตรทาวน์’ มีเรื่องราวที่ดีตกตะกอนอยู่ ทำให้เราอยากสื่อสาร อยากประยุกต์ อยากเล่นกับเมืองให้มาก ในอดีตชาวมาเลเซีย-ไทย-ต่างชาติแวะมาเยือนที่นี่ เคยมองเห็นถึงความเจริญในอดีตและสะท้อนกับปัจจุบันจนอยากสื่อสารออกไปว่า “อย่ายึดติดหาดใหญ่ในรูปแบบเดิมเหมือนในอดีต” การจัดงานต้องมีอีเวนต์ดีๆ เพื่อให้มีแลนด์มาร์กก่อน ถ้าเกิดแลนด์มาร์กขึ้นก็จะคัดคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเอง แล้วเมืองก็จะเกิดการเคลื่อนไหวไม่มากก็น้อย”

ในเวลาอันใกล้นี้ ไม่แน่คนหาดใหญ่อาจได้เห็นการฟื้นฟูเมืองอย่างสร้างสรรค์และตั้งใจให้กลับมาชีวิตชีวาเหมือนอย่าง Villa Vanilla ก็เป็นได้ 

ภาพจาก : โจ้ Huntersnap 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th/lifestyle/life/199436, facebook.com/ppoojiradt

การเดินทาง : ‘Villa Vanilla’ อยู่ด้านหลังติดกับ Homeless House บริเวณถนนประชารมย์ (ถนนประชารมย์มีร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ด้านหน้าปากซอย อยู่ใกล้กับสะพานที่เชื่อมไปยังฝั่งเดียวกับโรงเรียนแสงทองวิทยา) 

ติดตาม Villa Vanilla ได้ที่เฟซบุ๊ก Villa Vanilla และอินสตาแกรม villavanilla.hdy

Writer

Related Posts

Britney Spears ผนึกกำลัง Elton John ออกผลงานเพลงใหม่ร่วมกัน

Life & Sound ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนกับเสียง ตอนที่ 1

Plastitar ภัยคุกคามท้องทะเลและชายหาดหน้าใหม่

วีรบุรุษท้ายรถบรรทุก

4 สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังจะเป็น “เจ้านายคายพิษ”

Homeless Bar การต่อยอดจาก Homeless House ที่อยากให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่เข้าถึงได้และตอบสนองอุดมการณ์โดยไร้ความตะขิดตะขวง