ข้อถกเถียงว่าด้วย “สิทธิลารอบเดือน” (Period Leave) ของพนักงานหรือลูกจ้างหญิงกำลังเป็นที่สนใจและถกเถียงกันมากขึ้น เพราะเป็นสิทธิที่นำมาซึ่งความยุติธรรมทางสังคมให้กับชีวิตมนุษย์อีกครึ่งหนึ่งของโลกนี้

“ก็ได้สิทธิลาคลอดและดูแลบุตรไปแล้ว ยังต้องการอะไรพิเศษอีกหรือ” หลายคนซึ่งอาจรวมทั้งผู้หญิงด้วย คงสงสัยต่อการเปิดประเด็นสิทธิในหัวข้อนี้ บางคนอาจชี้ว่า หากประจำเดือนส่งผลข้างเคียงอย่างหนักจนถึงขั้นทำงานไม่ได้ ก็ให้เธอใช้สิทธิลาป่วยไปสิ อาการปวดหรือผิดปกติต่างๆ ที่มาพร้อมกับระบบในร่างกายของสตรีเพศ ก็ถือเป็นอาการป่วยไข้ได้เหมือนกัน เหตุใดถึงต้องมีสิทธิลารอบเดือน “เป็นกรณีเฉพาะเพศ”

จากข้อโต้แย้งข้างต้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาสองประการ กล่าวคือ หนึ่ง) สิทธิลาคลอดเพียงพอสำหรับพนักงานหญิงหรือไม่ และ สอง) อาการรบกวนจากประจำเดือนคือความป่วยไข้

ในประการแรก ควรเริ่มตั้งคำถามกลับไปว่า สิทธิลาคลอดมีไว้เพื่อใครแน่ แม่ (ผู้หญิง) หรือลูก หรือว่าทั้งคู่ เงื่อนไขสำคัญของสิทธินี้ก็คือพนักงาน-ลูกจ้างเพศหญิงต้องตั้งครรภ์ หรือพร้อมเข้าสู่สถานะมารดา ส่วนเด็กในครรภ์กำลังจะมีสถานะเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ที่ควรได้รับการฟูมฟักดูแลอย่างดีที่สุด นับตั้งแต่อยู่ในตัวมารดา สิทธิลาคลอดที่ผู้หญิงได้รับ ก็เพื่อให้เธอทำหน้าที่มารดาให้ดีที่สุดนั่นเอง หากผู้หญิงปฏิเสธสถานะความเป็นแม่ หรือไม่ยอมตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้รับสิทธินี้ เท่ากับว่าสิทธิลาคลอดมิได้เป็นสิทธิเฉพาะตัวผู้หญิง หรือผู้หญิงทุกคนรับสิทธินี้ได้ เว้นแต่ตั้งครรภ์

ประการต่อมา หากถือเอาอาการปวด ตะคริว หรืออื่นใดจากประจำเดือน เป็นภาวะเจ็บป่วย ทั้งที่ประจำเดือนเป็น “ธรรมชาติ” ที่มาพร้อมกับร่างกายเพศหญิง แตกต่างจากร่างกายเพศชาย การเหมารวมให้อาการข้างเคียงจากประจำเดือนเป็นความเจ็บป่วย ยิ่งช่วยเสริมย้ำอคติในร่างกายเพศชายว่าเป็นร่างกายมนุษย์อันสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีประจำเดือนมาบั่นทอนสุขภาพตัวเอง ในขณะเดียวกันกลับยิ่งตอกย้ำว่า ประจำเดือนคือความบกพร่องตาม “ธรรมชาติ” ที่มาพร้อมกับเพศหญิง และยังเป็นเรื่องน่าอายอีกด้วย ที่ทำให้ร่างกายผู้หญิงนั้นไม่สมบูรณ์แบบ 

การลาป่วย ลากิจ หรือลาพักผ่อน เป็นการลาที่ตั้งบนฐานคิดว่า พนักงานหรือมนุษย์ลูกจ้างมีความต้องการหรือปรารถนาการพักผ่อนในแบบเดียวกัน เพราะมีร่างกายแบบเดียวกัน หรือใช้ร่างกายเพศชายเป็นตัวตั้ง แล้วตีขลุมว่าเป็นร่างกายของคนทั่วไป การมอบสิทธิลาคลอดและดูแลบุตรที่ดูเหมือนจะเจาะจงไปยังเพศหญิง แต่ก็มิใช่เพศหญิงทุกคนจะได้รับสิทธิดังกล่าว

ในทางตรงกันข้าม การผลักภาระให้ผู้หญิงไปให้ใช้สิทธิลาป่วย กลับยิ่งตอกย้ำให้เห็นความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศชัดขึ้น หากเธอต้องใช้สิทธิลาป่วยจากอาการรอบเดือนเดือนละหนึ่งวัน ก็จะต้องลาป่วยถึงปีละ 12 วัน หากทางบริษัทให้สิทธิลาป่วยปีละ 30 วัน ก็หมายความว่าเธอได้สิทธิลาป่วยสำหรับโรคภัยไข้เจ็บตามปกติเพียง 18 วัน เพราะอีก 12 วันเป็นอาการที่มากับร่างกายตามธรรมชาติของตัวเอง ขณะที่ผู้ชายได้สิทธิ 30 วันเต็ม

ทั้งสองประเด็นข้างต้นเป็นการนำเสนอ “หลักคิด” ที่ชี้ชวนให้เห็นความสำคัญในสิทธิลารอบเดือน ว่าควรมาพร้อมกับชีวิตการทำงานของผู้หญิง ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายยืนยันในสิทธิของเพศหญิง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อิงกับความเชื่อที่ว่า เพศหญิงกับเพศชายควรได้รับการปฏิบัติอย่างแตกต่างกันเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่แพร่หลายในสังคมมากนัก

หลังจากปูพื้นหลักคิดว่าด้วยความแตกต่างแห่งเพศ (Sexual Difference) แล้ว ตอนต่อไปจะขอย้อนไปสู่ความเป็นมา และหลักคิดว่าด้วยประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Productivity) ของสิทธิลารอบเดือน

ภาพจาก : unsplash

Writer

Related Posts

Kindness Hotel โรงแรมในไต้หวันขวัญใจนักท่องเที่ยว ที่เบื้องหลังความใจดีคือการเลือกลงทุนที่ถูกจุด

หัวใจของชีวิตแบบมินิมัล

แคนาดายังเป็นประเทศสองภาษาอีกหรือไม่

นาปาลืมเกิร์ล

นาปาล์มเกิร์ล

‘YALA Stories’ โปรเจกต์สร้างสรรค์ ที่ชวนคนสำรวจรากวัฒนธรรมเดิมของยะลา พร้อมวาด ‘ความหวัง’ ที่เชื่อว่าสักวันต้องดีกว่า

Apple เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานในสหรัฐฯ