แนวคิดเรื่อง “วันลารอบเดือน”  (Menstrual Leave) มิใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดมานานเป็นร้อยปีแล้ว เริ่มแรกที่โซเวียตรัสเซียเมื่อปี 1922 ผู้หญิงมีประจำเดือนจะได้สิทธิหยุดพักเพื่อรักษาสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์ของตัวเอง จากนั้นสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นรับแนวคิดนี้ไปใช้ตอนปลายทศวรรษ 1920 จนกระทั่งบัญญัติเป็นกฎหมายในปี 1947 ขณะที่อินโดนีเซียก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 1948 แล้ว แต่น่าสังเกตว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ไม่พบมาตรการนี้มากนัก 

ทว่าในวันนี้ เกิดขบวนการทางสังคมที่เรียกร้องสิทธิลาหยุดในกรณีดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดดีเบตในประเด็นนี้อย่างหนาหู แม้แต่ในประเทศไทยเอง ล่าสุดมีข่าวว่าประเทศสเปนจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่จะมอบสิทธินี้ให้แก่ลูกจ้างสตรีเพศ และยังขยายครอบคลุมทั้งพนักงานหรือคนงานหญิง คนข้ามเพศ และนอนไบนารี่อีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่จะมอบสิทธิการลาหยุดแก่ผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนโดยตรง เพื่อให้พวกเธอกลับมาทำงานอย่างมีความสุข ด้วยสภาพร่างกายที่พร้อม ช่วยให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังเป็นการรักษาบุคลากรโดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพให้คงอยู่กับบริษัทหรือองค์กรต่อไปได้ 

เนื่องด้วยการทำงานด้วยความเจ็บปวดนั้น บั่นทอนความสามารถในการทำงาน และยังกระทบกับนายจ้างอีกด้วย ทั้งนี้ Radboud University ได้สำรวจผู้หญิงเนเธอร์แลนด์ 32,748 คน ในปี 2019 พบว่า การทำงานไปพร้อมกับอาการเจ็บปวดจากประจำเดือนทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการผลิตเฉลี่ย 9 วันต่อคนต่อปี แต่วัฒนธรรมการผลิตอันเร่งรีบตามแบบทุนนิยม ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ละเลยความทุกข์ตาม “ธรรมชาติ” ที่มาพร้อมกับร่างกายผู้หญิงไปเลย

ออสเตรเลียก็เป็นอีกประเทศที่กำลังตื่นตัวในเรื่องนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานในประเทศหดตัวจากสถานการณ์ pandemic ธุรกิจต่างๆ จึงพยายามออกมาตรการหรือแรงจูงใจเพื่อรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร โดยการลารอบเดือนหรือ Period Leave ก็เป็นอีกหนทางที่ช่วยให้พนักงานภักดีและมีส่วนร่วมกับบริษัทต่อไป

แมรี่ ครุกส์ (Mary Crooks) ผู้บริหารระดับสูงของ Victorian Women’s Trust องค์การเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในเมลเบิร์น ได้เริ่มต้นนโยบายวันลารอบเดือน-อาการวัยทองปีละ 12 วัน มาตั้งแต่ปี 2016 หลังได้สำรวจสตรีราว 3,500 คนในเรื่องประจำเดือน พบว่าคนส่วนใหญ่ 58 เปอร์เซ็นต์ วิตกกังวลต่อการหาเวลาหยุดพักหลังตัวเองมีประจำเดือน องค์กรของเธอยังได้เผยแพร่แนวปฏิบัติดังกล่าวให้ภาคส่วนอื่นๆ นำไปปรับใช้ด้วย

ลูซี่ ผู้จัดการแผนกสื่อสารวัย 28 ปี จากเมลเบิร์น กล่าวภายหลังเข้าทำงานในองค์กรที่ให้วันลารอบเดือนปีละ 12 วันเมื่อปีที่แล้วว่า แม้ตัวเองจะไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าวในทุกเดือน โดยได้ใช้สิทธิในวันแรกของรอบเดือนไปเพียงสองถึงสามครั้งเท่านั้น เฉพาะเมื่อเริ่มรู้ตัวว่าอาจเป็นตะคริว หรือมีร่างกายที่อ่อนล้าและซึมเซาจนไร้สมาธิในการทำงาน แต่สิทธิดังกล่าวได้สร้างวัฒนธรรมแห่ง “ความเชื่อถือและศรัทธา” ให้เกิดขึ้นในองค์กรอีกด้วย

เธอกล่าวอีกว่า  สิทธิดังกล่าวช่วยทำให้ผู้หญิงเป็น “ผู้รู้ผู้เข้าใจในร่างกายของตัวเอง ความต้องการของตัวเอง ชีวิตของตัวเอง” และช่วยให้ได้ใช้เวลาพักฟื้นร่างกายเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามต้องการ และสิทธิดังกล่าวได้ช่วยกระตุ้นให้เธอนั้นทำงานหนักขึ้นเมื่ออยู่ในชั่วโมงทำงานอีกด้วย ทำให้เธอมักแนะนำสิทธิดังกล่าวให้แก่องค์กรอื่นๆ เพราะช่วยทำให้ที่ทำงานแตกต่างไปจากค่ายทหาร และจะเป็นการทำงานที่ “มิได้มีแต่แขนและขาเท่านั้น แต่เป็นมนุษย์ทั้งตัว”

ฝ่ายนายจ้างเองก็เห็นประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย คริสตี้ จง (Kristy Chong) ซีอีโอบริษัท Modibodi ผู้ผลิตชุดชั้นในสำหรับผู้มีประจำเดือนในเมืองบัลเมง (Balmain) ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ไม่รู้สึกผิดหวังใดๆ ที่ให้สิทธิพนักงานลารอบเดือนปีละ 10 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปีก่อน เพราะช่วยกระชับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างผู้จัดการกับพนักงานให้แน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนลูกจ้างจะยิ่งมี productive มากกว่าเดิม และทำให้บริษัทกลายเป็นสถานที่ทำงานที่คนอยากมาทำงานอีกด้วย

เรื่องราวทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ร่างกายของผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชายในทางกายภาพและชีวภาพ สิทธิที่มอบให้คนทำงานเพศหญิงจึงควรแตกต่างไปตาม “ธรรมชาติ” แห่งร่างกายด้วย เพื่อสร้างสรรค์สังคมการทำงานที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพของคนทุกเพศ 

ภาพจาก : unsplash

ข้อมูล : https://www.bbc.com/worklife/article/20220426-could-menstrual-leave-change-the-workplace

Writer

Related Posts

นโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เล็กลง” ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ

สิทธิลารอบเดือนของผู้หญิง

ชวนรู้จักอาชีพ Field Recordist หรือนักบันทึกเสียงภาคสนาม

ดนตรี เสียง และชีวิต ผูกพันกันอย่างไรบ้าง?

ไม่ใช่ Great Resignation แต่เป็น Great Switch Job

SANVT’ แบรนด์แฟชั่นที่เข้าใจลูกค้า ทั้งในฐานะมนุษย์และผู้บริโภค