เคยใจหายเวลาเห็นต้นไม้ที่งอกงาม ดอกไม้บานสะพรั่ง โดนตัดทิ้งเหลือแต่ตอบ้างไหม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนรักต้นไม้และธรรมชาติอย่าง นิวส์-ศุภมงคล ศริพันธุ์ อดีตพนักงานออฟฟิศที่ผันตัวมาเป็นผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ (Tree Worker Climber Specialist) หลังจากเห็นต้นคูนดอกเหลืองอร่ามเต็มต้นกลายเป็นซากในเย็นวันที่เดินทางกลับจากที่ทำงาน
“ตอนเช้าไปทำงานก็เดินมองมันทุกวัน มีวันหนึ่งเราก็ไปทำงานตามปกติ แต่ขากลับมามันไม่เหลือสภาพเดิมที่เป็นต้นไม้แล้ว เป็นตอไปเลย”
นิวส์ที่ไม่เคยมีความรู้ ในตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่ามันถูกหรือผิด ในใจเขาคิดเพียงว่า มันจะมีวิธีไหนที่จะดูแลต้นไม้นี้ให้ดีขึ้นจากที่เห็นอยู่ตรงหน้าได้หรือไม่ ในฐานะเป็นคนรักต้นไม้ เขาจึงเริ่มหาข้อมูล
“แรกเริ่มเลยเราไม่รู้จักคำว่ารุกขกร แต่รู้จักคำว่าหมอต้นไม้” 40 ปีที่แล้วที่ประเทศไทยได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่ารุกขกร (Arborist) ขึ้นมาโดย เดชา บุญค้ำ ภูมิสถาปนิกรุ่นบุกเบิก
รุกข- แปลว่าต้นไม้ใหญ่ กร แปลว่าผู้ทำ และ “รุกขกรรม” ก็คือศาสตร์ในการวางแผน ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง
แม้หลายคนที่รู้จักงานด้านรุกขกรรมจะเห็นภาพการตัดแต่งต้นไม้เป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วงานนี้เกี่ยวกับการจัดการ วางแผน ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ดูแลตัดแต่ง ประเมินความเสี่ยง ไปจนถึงการโค่นเมื่อต้นไม้นั้นสิ้นอายุขัย
ทว่าตำแหน่งรุกขกรไม่ใช่คนที่ปีนต้นไม้อย่างที่เราเห็น “คนที่เป็นรุกขกรไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านการปีนตัดแต่งต้นไม้ รุกขกรเป็นเหมือนนักวิชาการ แต่คนที่ปฏิบัติงานจริงๆ คือ ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้” สมาคมรุกขกรรมไทยเริ่มมีการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อรองรับบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ได้แก่ รุกขกร และผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ในระดับต่างๆ
“คนที่ทำงานด้านนี้ ต้องใส่ใจรายละเอียดการดำรงอยู่ของต้นไม้ และสามารถมองทิศทางการเติบโตในอนาคตของต้นไม้หลังจากเราตัดแต่งได้
ด้วยประสบการณ์กว่า 5 ปี นิวส์จึงตัดสินใจสร้างกลุ่ม “Endu Tree” กลุ่มเล็กๆ ของคนรักต้นไม้ ร่วมกับ ฝ้าย-พิชามญชุ์ อาจคะนอง เพราะทั้งคู่อยากเห็นต้นไม้อยู่ร่วมกับคนได้ จึงเสนอทั้งบริการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ให้คำปรึกษา แนะนำ และจัดอบรมเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ตามหลักรุกขกรรม
“จริงๆ ต้นไม้อยู่ในป่า แต่คนนำเข้ามาปลูกไว้ในเมืองส่วนหนึ่งเพราะต้องการพื้นที่สีเขียว แน่นอนมันจึงต้องมีการดูแล แต่จะดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี และให้เขาเติบโตได้ตามธรรมชาติของเขา” ฝ้ายเล่า
พอเกิดเหตุการณ์กิ่งหัก ไม้ใหญ่โค่นล้ม ต้นไม้จึงมักตกเป็นจำเลยของสังคม “เมื่อเป็นต้นไม้ในเมือง เราจึงไม่สามารถปล่อยให้กิ่งแห้งขนาดใหญ่ร่วงลงมาได้ เพราะนั่นหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตด้วย” เมืองจึงต้องการรุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ที่มีความรู้ พร้อมประสบการณ์ เพื่อคอยจัดการความเสี่ยงของต้นไม้ที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
“ผมจะไม่บอกว่าต้นไม้ควรต้องตัดแบบนั้นแบบนี้ เราจะสอบถามความต้องการของเจ้าของต้นไม้ก่อนว่า สำหรับเขา ต้นไม้นั้นมีปัญหาอะไร” ผู้เชี่ยวชาญอย่างนิวส์ และแอดมินฝ้าย ก็จะคอยให้คำแนะนำ รวมถึงเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อประเมินแล้วว่าต้นไม้นั้นสมควรตัดแต่ง
การประเมินความเสี่ยงจึงเป็นขั้นตอนแรกสุด ซึ่งทีมงานเน้นการเดินทางไปยังสถานที่จริง เพื่อจะได้เห็นสภาพจริงของต้นไม้และได้พูดคุยถึงปัญหาอย่างชัดเจนกับเจ้าของต้นไม้ “เพราะว่าแค่รูปถ่ายมันไม่สามารถมองเห็นปัญหาทุกอย่างของต้นไม้ได้” ฝ้ายย้ำชัด
หลักการตัดแต่งที่สำคัญ คือเลียนแบบธรรมชาติของต้นไม้ “ต้นไม้ทุกต้นจะมีการทิ้งกิ่งด้วยตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในตำแหน่งที่เรียกว่าคอกิ่ง จากนั้นก็จะมีกระบวนการหุ้มแผลตัวเองต่อไป” แต่ด้วยความที่เป็นต้นไม้ในเมือง เราไม่สามารถปล่อยให้ต้นไม้ทิ้งกิ่งลงมาเองได้ จึงต้องมีการจัดการความเสี่ยงด้วยการตัดแต่ง
วิธีการตัดแต่งที่ถูกต้องคือ ตัดให้ชิดคอกิ่ง เพื่อที่ต้นไม้จะสามารถหุ้มบาดแผลของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาตัดแต่งให้เปลืองทรัพยากรอยู่บ่อยครั้ง “เราต้องวางแผนว่าควรจะตัดกิ่งไหน หลายครั้งการตัดที่เหมาะสมคือตัดให้ดูเหมือนไม่ตัดครับ” นั่นแปลว่ามันต้องยังคงสภาพเป็นต้นไม้ตามรูปทรงทางธรรมชาติ ไม่ใช่เหลือแต่ตอ หรืออย่างที่เราเห็นการตัดกุดหรือบั่นยอดตามแนวสายไฟฟ้าริมทางเท้าในเมือง
การจัดอบรมให้ฟรีเพื่อสร้างเครือข่าย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ Endu Tree ทำเป็นประจำทุกเดือน “เราก็จะอธิบายเรื่องการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธีตามหลักรุกขกรรมให้กับผู้ที่สนใจ แต่สำคัญคือจะเน้นเรื่องความปลอดภัยของคนทำงานมากกว่า เพราะการตัดแต่งยังเรียนรู้กันได้” เพราะความปลอดภัยของคนทำงาน ผู้อาศัยหรือมาใช้พื้นที่ ต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก และที่สำคัญต้นไม้ก็จะปลอดภัยเช่นกัน
“การที่เรามีพื้นที่สีเขียวมันทำให้เราได้เข้าใกล้กับธรรมชาติโดยที่เราอาจไม่จำเป็นต้องออกไปนอกเมือง เพราะบางทีเราก็ไม่ได้มีโอกาสไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ถ้ามีปาร์กในเมืองแบบนี้ก็น่าจะดีกว่าครับ” นิวส์และฝ้ายยิ้ม
สำหรับเมืองเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการพื้นที่สีเขียว เช่น สิงคโปร์ รุกขกรคืออาชีพที่รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาเมืองสีเขียว ต้นไม้ใหญ่เปรียบดังสมบัติของชาติที่มีส่วนกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ และคอยดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน เขาจะมีการตรวจเช็กสุขภาพต้นไม้แต่ละต้นประจำปี รวมถึงมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครตัดต้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 30 เซนติเมตร ก่อนที่จะได้รับการประเมินจากรุกขกรและมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย
“งานด้านรุกขกรรมมันทำให้เราได้อยู่กับธรรมชาติ” จากใจคนที่เคยทำงานออฟฟิศมาอย่างนิวส์ รู้สึกสดชื่นทุกครั้งเมื่อได้ทำงานท่ามกลางบรรยากาศสีเขียว “เรารู้สึกว่าการทำงานด้านนี้ส่งผลดีต่อเมือง แล้วมันทำให้เมืองมีโอกาสเข้าใกล้คำว่าเมืองสีเขียวอย่างที่เราฝันไว้ตอนเด็กๆ”
ภาพจาก : Endu Tree
ข้อมูลอ้างอิง :
- สัมภาษณ์กลุ่ม Endu Tree เมื่อ 12 พฤษภาคม 2565
- รายการ “ร้อยเรื่องรอบโลก EP161 ตอน เมืองสีเขียว ดีต่อปอด ดีต่อใจ” จาก youtube.com
- บทความ “คุยกับอาจารย์เดชา บุญค้ำ ผู้บัญญัติศัพท์ ‘รุกขกร’” จาก thestandard.co