เมื่อการลารอบเดือนกลายเป็นวาระสำคัญไปทั่วโลก หลายประเทศเริ่มพูดถึงสิทธิดังกล่าวของผู้หญิง แน่นอนว่าย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย ซึ่งบางครั้งเสียงนั้นก็มาจากผู้หญิงหรือแม้แต่เฟมินิสต์ด้วยกันเอง
ข้อโต้แย้งที่สำคัญก็คือ นโยบายดังกล่าวอาจให้ผลตรงกันข้าม นั่นคือยิ่งทำให้เกิด “ตราบาป” ต่อผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนว่ามีร่างกายอ่อนแอ ไม่เหมาะที่จะทำงานนอกบ้านหรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน และอาจยิ่งเป็นการกีดกันหรือ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิงอีกด้วย
ในวันนี้ รัฐบาลสเปนกำลังจะออกกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ฉบับใหม่ที่ให้สิทธิวันลารอบเดือน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ให้สิทธิดังกล่าวแก่ผู้หญิง จนนำไปสู่การถกเถียงกันระหว่างรัฐบาลแนวร่วมฝ่ายซ้ายกับสหภาพแรงงาน
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่มีอาการเจ็บปวดจากประจำเดือนลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างได้เดือนละสามวัน และอาจจะขยายวันลาไปได้ถึงห้าวันหากอาการหนัก แต่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์มายืนยัน
ประเด็นดังกล่าวทำให้นักการเมืองบางคนรวมทั้งสหภาพแรงงาน มองว่าจะเป็นนโยบายที่ยิ่งตีตราเพศหญิงในที่ทำงาน และยังอาจผลักดันให้นายจ้างว่าจ้างแต่เพศชาย
“การตัดสินในเรื่องนี้ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ” Cristina Antonanzas ผู้ช่วยเลขาธิการสหภาพการค้า UGT ระบุ และชี้ว่าอาจสร้างผลในทางตรงกันข้ามต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสตรีก็ได้ ทว่า Coco สหภาพแรงงานอีกองค์กร ยินดีต่อกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นความก้าวหน้าทางกฎหมายอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่เคยมองข้ามกันมาก่อน
ขณะที่ Nadia Calvino รัฐมนตรีเศรษฐกิจ อดีตผู้อำนวยการงบประมาณสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในพรรคสังคมนิยม ระบุว่า การร่างกฎหมายฉบับนี้แก้ไขกันมาหลายรอบแล้ว ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีทางออกมาตรการใดๆ ที่เป็นการตีตราผู้หญิงอย่างแน่นอน
ส่วน Alberto Nunez Feijoo หัวหน้าฝ่ายค้านจากพรรคอนุรักษ์นิยม กล่าวว่า ต้องให้แพทย์เป็นผู้รับรองการขอลาในเรื่องนี้ด้วย
ด้าน Ana Ferrer จากสมาคมผู้ป่วย Endometriosis (โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) ชี้ว่า บางคนอาจเกรงไปว่ามาตรการดังกล่าวจะทำไปสู่ “การเลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง แม้จะมีเจตนาปกป้องสิทธิของพวกเธอก็ตาม สิ่งที่เราต้องการมากกว่าวันลา ก็คือการยอมรับในช่วงเวลาดังกล่าว ว่าอาจเป็นระยะที่เราไม่อาจทำงานได้ตามปกติ
ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนแสดงอาการตอบสนองต่อประจำเดือนแตกต่างกันไป บางคนผ่านช่วงรอบเดือนไปอย่างสะดวกสบาย แต่บางคนโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะ endometriosis หรือโรค dysphoric ก่อนเกิดประจำเดือน จะแสดงอาการข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง และมักรวมถึงตะคริว ปวดหลัง และไมเกรนที่พบได้บ่อย ย่อมสะท้อนว่าเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้ด้วยมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
Gabrielle Golding อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายแอดิเลตในรัฐเซาท์ออสเตรเลียกล่าวว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่พยายามจะไปทำงานอยู่ดี พวกเธอมักจะกระอักกระอ่วนใจที่จะเปิดเผยอาการประจำเดือนให้หัวหน้าฟัง เพราะกลัวถูกมองว่าอ่อนแอหรือไม่สามารถรับผิดชอบงานได้
“นำไปสู่ภาพเหมารวมที่เป็นอันตรายว่า เพศหญิงด้อยค่ากว่า และเป็นลูกจ้างที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนในการทำงานแบบยืนระยะไปตลอด” เธอกล่าว และชี้ว่าปัญหาเรื่องนี้ควรแก้ไขทั้งระบบ เพราะแม้แต่ในองค์กรที่มีนโยบายดังกล่าวแล้ว ผู้หญิงอาจจะไม่กล้าใช้สิทธินั้นก็ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังเป็นที่กังขาสำหรับบางคนที่เชื่อในความเท่าเทียม ซึ่งมักจะเผลอคิดไปว่าความเท่าเทียมคือชาย-หญิงต้องเหมือนกัน และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิวันลารอบเดือนจึงกลายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเพศ แทนที่จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
ภาพจาก : unsplash
ข้อมูล :