
โลกนี้มีมาตรฐานว่าด้วย “สมรส” ดำรงอยู่ และถือเป็นมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้เป็นมาตรวัดความเป็นมนุษย์ นั่นคือการสมรสแบบ “ชายหนึ่งคน” แต่งงานกับ “หญิงหนึ่งคน”
เพราะเราเชื่อว่าโลกนี้มีมนุษย์เพียงหญิงกับชายตามกายภาพเท่านั้น การแต่งงานแบบ “ชายหนึ่งคน-หญิงหนึ่งคน” จึงเป็นการล้อวิธีคิดเรื่องเพศในแบบ binary และความสัมพันธ์ทางเพศในแบบ heterosexuality อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำมาตรฐานศีลธรรมในแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของคนชั้นกลางอีกด้วย
เพราะเราเชื่อว่าขนบดังกล่าวว่าเป็นมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียว ผู้ใดไปไม่ถึงถือว่าบกพร่อง ต้องพยายามวิ่งไล่กวดให้ทันมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้ “เท่าเทียม” กับมาตรฐานแบบ heterosexuality และคนชั้นกลาง ที่วางหลักการไว้ก่อนแล้ว ยิ่งกลับตอกย้ำว่า มาตรฐานที่สร้างโดย “ชายหนึ่งคน” กับ “ผู้หญิงหนึ่งคน” นั้น เป็น “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ ที่ไม่อาจล้มล้าง หรือมีทางเลือกอื่นใดได้เลย
ความเท่าเทียมในกรณี “สมรสเท่าเทียม” ก็คือการทำให้ทุกเพศ “เหมือนกัน” กับ “หญิง-ชาย” และ heterosexuality
LGBTQ+ คือผู้มีวิถีชีวิตและวิถีทางเพศแตกต่างไปจากชีวิตแบบ “ชาย-หญิง” กระแสหลัก ถือว่าชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะตั้งคำถามต่อมาตรฐานชีวิตที่คนกลุ่มหนึ่งยึดครองมาก่อน โดยไม่มีใครกล้าท้าทาย
LGBTQ+ สามารถสร้างสรรค์มาตรฐานชีวิต หรือแนวคิดว่าด้วยสมรสเป็นของตัวเอง เพื่อประกาศตัวว่า LGBTQ+ มิได้แอบอิงอยู่กับมาตรฐานชีวิตกระแสหลักที่สร้างขึ้นโดย “ชาย-หญิง” ที่เป็นชนชั้นกลาง แต่พวกเขามีเส้นทางที่ชีวิตของตัวเองได้
…….
“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448” ระบุว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว…” คือเป้าหมายของผู้เรียกร้อง ขอให้แก้ไขเพื่อ “สมรสเท่าเทียม” แต่ภายในการสมรสนั้นกลับไม่เท่าเทียม
การแต่งงานแบบดังกล่าวคือการประกาศต่อสังคมว่า หญิงและชายคู่หนึ่งสามารถร่วมประเวณีได้อย่างไม่ผิดศีลธรรม และมีลูกได้อย่างถูกต้องชอบธรรม จนเกิดเป็นครอบครัว ทั้งที่สถาบันที่มาจากการสมรสแบบนี้กลับแฝงไว้ด้วยอำนาจ
ย้อนหลังไปไม่กี่ปีก่อน การจดทะเบียนสมรสระหว่างสามีภรรยา (ชาย-หญิง) ยังเป็นการรับรองในอำนาจของสามีที่มีเหนือเพศวิถีของภรรยาไปด้วย นั่นคือ “สามีไม่มีทางข่มขืนภรรยา” เพราะคำนิยามข่มขืนในสมัยนั้นระบุว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน…” การใช้ความรุนแรงในครอบครัว (ข่มขืน) จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจทางกระบวนการทางกฎหมาย
ฝ่ายชายภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ได้กลายเป็นผู้ครอบครอง และถือสิทธิขาดในร่างกายของฝ่ายหญิงเบ็ดเสร็จ เพราะเหมารวมเอาว่าการสมรสหรือแต่งงานคือการยินยอมให้ร่วมประเวณีในทุกกรณี
กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานข่มขืนในประเด็นนี้ เพิ่งมาแก้ไขในประเด็นดังกล่าวเอาเมื่อสัก 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าสำเร็จก่อน “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” จะเริ่มต้นยกร่างไม่กี่ปีเท่านั้น
“ปิตาธิปไตย” ที่พูดกัน ก็กำเนิดมาจากครอบครัวที่หญิง-ชายต้องมาแต่งงานกันนี่แหละ (ปิตา-บิดา) สถาบันการสมรสที่คน LGBTQ+ อยากก้าวไป “เท่าเทียม” คือสถาบันแห่งอำนาจมาแต่เดิม
ข้อควรเน้นย้ำก็คือมาตรฐานสมรสแบบหญิง-ชายนั้น เคร่งครัดว่าเป็นเรื่องระหว่าง “ชายหนึ่งคน-หญิงหนึ่งคน” แบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” ตามหลักศีลธรรมแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” เท่านั้น (ไม่ยอมรับการจดทะเบียนสมรสซ้อน) และนี่เป็นมาตรฐานศีลธรรมของชนชั้นกลาง ซึ่งใช้เป็นตัวแบ่งแยกพวกเขาออกจากชนชั้นอื่น ๆ
การสมรสแบบผัวเดียวเมียเดียวอาจเหมาะสมกับความสัมพันธ์หญิง-ชาย ในแบบ heterosexuality ก็เป็นได้ เพราะอาจให้กำเนิดทายาทเพื่อสืบสายเลือดของตัวเอง เด็กที่เกิดมาจึงรู้แน่ชัดว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ไม่จำเป็นสำหรับเพศวิถีแบบอื่น เช่น homosexuality (แน่นอนว่าประเด็นนี้ผันแปรไปตามเทคโนโลยีทางการแพทย์)
LGBTQ+ อาจเกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น Polyamory หรือความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน แต่ดูเหมือนว่า มาตรฐานชีวิตรักแบบคนชั้นกลางจะมีอิทธิพลต่อกลุ่มคนเพศทางเลือกหรือ LGBTQ+ มากพอสมควร เพราะยึดมั่นในชีวิตแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” และความรักแบบโรแมนติกระหว่างสองคน
จำเป็นหรือไม่ที่ชาว LGBTQ+ ต้องเริ่มต้นชีวิตครอบครัวแบบ “หนึ่งต่อหนึ่ง” เท่านั้น พวกเขาสามหรือสี่คนจะร่วมกันสร้างชีวิตครอบครัวดูแลระหว่างกัน พร้อมกับได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในแบบสมรส “ชายหนึ่งคน-หญิงหนึ่งคน” ได้ไหม
ในฐานะผู้เขียนผ่านโรงเรียนมัธยมชายล้วนมาก่อน เคยได้ยินคำบอกเล่าของเพื่อนว่า พวก “สาวสอง” รุ่นเดียวกัน วางแผนชีวิตบั้นปลายกันไว้แล้ว เตรียมเก็บเงินไปซื้อบ้านรวมกลุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กัน คอยดูแลระหว่างกันและกัน ฝากชีวิตไว้ด้วยกันในยามชรา เพราะพวกเขาไม่อาจมีลูกมีหลานคอยดูแลเหมือนคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นวิถีชีวิต “ครอบครัว” ในอีกแบบ ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับความรักโรแมนติก หรือการใช้ชีวิตแบบคู่ผัวตัวเมียเลย
ถ้าเราปักใจเชื่อว่ากฎหมายคือทางออกในทุกปัญหาของสังคม กฎหมายก็ควรสร้างมาตรฐานและคุณค่าชีวิตที่ดีงามแบบใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ มากกว่าทำให้ทุกอย่างเหมือนกัน
อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยกล่าวถึง “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ ทำให้รู้ว่าบนโลกใบนี้มีชุดความคิดอื่น ๆ เกิดขึ้น หลายคนต้องยอมรับความแตกต่างในส่วนนี้ เมื่อเกิดกฎหมายนี้ ผู้คนจะยอมรับความรักหลายรูปแบบมากขึ้น
มิใช่ตีกรอบหรือจำลอง-เลียนแบบชุดความคิดแบบ “ชายหนึ่งคน-หญิงหนึ่งคน” ที่เกิดจากชีวิตแบบ Binary เอาไว้
……..
เคยฟังฝ่ายสนับสนุน “สมรสเท่าเทียม” ให้ความเห็นใจที่น่าสนใจข้อหนึ่ง
การตรา พ.ร.บ.คู่ชีวิตมาใช้กับกลุ่มคน LGBTQ+ โดยเฉพาะ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือเป็นการตีตราแบ่งแยกพวกเขา/เธอว่าเป็นคนกลุ่มพิเศษหรือแปลกแยก ที่ต้องอาศัยกฎหมายเฉพาะของตัวเอง การแก้ไข “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448” ให้ครอบคลุมมากกว่าหญิงกับชาย ให้รวมทั้ง LGBTQ+ ถือว่าเป็นธรรม และเป็นการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ข้ออ้างดังกล่าว เชิญชวนให้ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องสิทธิลาคลอดกันใหม่ รวมทั้งสิทธิลาวันมีรอบเดือนที่กำลังเริ่มเป็นประเด็นในตอนนี้ และมาตรการแจกผ้าอนามัยฟรีด้วย ทั้งหมดเป็นสิทธิที่มีไว้เจาะจงสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่มีใครเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือตีตราว่าเพศหญิงด้อยค่าเลย
แต่กลับเน้นให้เห็นว่า มนุษย์เกิดมาแตกต่างกัน ก็ชอบธรรมที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างแตกต่างไปจากผู้ชาย เพื่อชีวิตที่ดีของผู้หญิง
ถ้า LGBTQ+ เห็นว่าตัวเองแตกต่างจาก “หญิง-ชาย” และยังกล้าท้าทายขนบทางสังคมแบบเก่า ก็ควรจะก้าวไปไกลกว่าคำว่า “เท่าเทียม” ของการเมืองแบบเสรีนิยม
ข้อมูลจาก : https://workpointtoday.com/15explainer-lgbt/?fbclid=IwAR1d1r0BVVMhz9OpguffNdRd7tFbiBuBsO1OFdCdyWBGq3nQyUMzgBDLBdAรู้จักความสัมพันธ์แบบ Polyamory ‘มีคนรักหลายคน’ เพราะเราสามารถตกหลุมรักได้มากกว่าหนึ่งคน – THE STANDARD