บ้านอุ่นไอรัก อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี สถานบำบัดยาเสพติดเอกชนที่ใช้แนวทางศาสนาอิสลาม ร่วมกับศาสตร์รักษาแผนปัจจุบัน

นำองค์ความรู้ด้านศาสนามาใช้เป็นจุดแข็งสำหรับการบำบัดยาเสพติดในสถานที่แห่งนี้ โดยเชื่อว่าโรคจากยาเสพติดคือโรคของจิตวิญญาณ ไม่ได้มองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องผิดปกติของสมองหรือเรื่องสำหรับคนไม่ดีเพียงอย่างเดียว การปรับภาพสถานบำบัดโดยใช้อาวุธทางความคิด วัคซีนการใช้ชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องคุณงามความดี ถือเป็นจุดแข็งของการบำบัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

แม้ว่าสถานบำบัดแห่งนี้จะใช้แนวทางตามศาสนาอิสลามเป็นหลัก แต่มีผู้บำบัดต่างศาสนิกที่เข้าร่วมบำบัดรวมอยู่ด้วย บางคนเดินทางมาจากภาคใต้ตอนบน บางคนมาจากประเทศมาเลเซียเพื่อมาบำบัดยาเสพติด สถานบำบัดแห่งนี้ก็ยินดีรับรักษา แต่แยกกิจกรรมตามศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ต่างกัน 

โปรแกรมบำบัดยาเสพติดใช้เวลา 4 เดือน สาเหตุที่ต้องใช้เวลา 4 เดือน เพราะตามหลักของศาสนาอิสลาม พระเจ้าจะประทานวิญญาณให้แก่เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาเมื่อครบ 4 เดือน การให้ผู้บำบัดเข้ารักษาครบ 4 เดือน มีนัยสำคัญว่า “สถานที่แห่งนี้เป็นการสร้างชีวิตใหม่ทางจิตวิญญาณ”

ระยะเวลา 4 เดือน สถานบำบัดจะให้ข้อมูลคุณค่าการมีชีวิต คุณค่าของการกตัญญู คุณค่าของหลักศีลธรรมตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดา โดยสถานบำบัดจะออกแบบกิจกรรมสำหรับผู้บำบัดให้หลากหลาย เช่น ทำศาสนกิจ ฟังบรรยายธรรม เล่นกีฬา ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ พักผ่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในสถานบำบัดยาเสพติดไม่ได้มีแค่ผู้ติดยาเสพติดเพียงกลุ่มเดียว เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอคนไข้จิตเวชที่ใช้ยาเสพติด หรือใช้ยาเสพติดจนสมองพิการและมีอาการทางจิตร่วมด้วย คนกลุ่มนี้แม้ว่าจะหยุดยาเสพติดได้แล้วก็ยังสามารถมีอาการทางจิตเวชต่อเนื่อง เพราะสมองได้ถูกทำให้เสียหายไปแล้ว 

การบำบัดยาเสพติดกับเรื่องของจิตเวชจึงเป็นสิ่งที่ออกแยกจากกันไม่ได้ ถ้าคนไหนมีอาการทางจิตเวชจะส่งผลต่อการรักษา ส่งผลต่อการดูแล และมากไปกว่านั้น คือส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงในสถานบำบัด การชกต่อย ทะเลาะวิวาท หรือควบคุมพฤติกรรมตนเองไม่ได้ เหล่านี้อาจเกิดผลเสียต่อผู้ดูแลและผู้บำบัดรายอื่น 

ทีมแผนกจิตเวชโรงพยาบาลปัตตานีได้เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารและอาสาสมัครดูแลผู้บำบัดในบ้านอุ่นไอรัก ทุกคนเปิดใจและมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ว่าอยากให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้นกลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต.) ประกอบด้วยทีมสาธารณสุข ร่วมด้วยทีมโรงพยาบาลอำเภอยะหริ่งและทีมอนามัยชุมชน ได้ลงพื้นที่เข้าไปยังสถานบำบัด พบว่าจากจำนวนผู้บำบัดยาเสพติดทั้งหมด 600 คน มีผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจำนวนกว่า 50 รายรวมอยู่ด้วย 

อาการทางจิตเวชที่หวาดระแวงหรือประสาทหลอน หากมีเพียง 2-3 คน ก็นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชุมชนแล้ว หากบ้านอุ่นไอรักเปรียบเสมือนโรงพยาบาล 50 เตียง การรองรับในจำนวนนี้เป็นภาระหนักมากกว่าโรงพยาบาลอำเภอบางแห่งเสียอีก หากรอให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้ามารักษาในระบบโรงพยาบาลทั้งหมด โรงพยาบาลก็ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยพร้อมกันในปริมาณมากได้อยู่ดี  สถานบำบัดแห่งนี้จึงเสมือนเป็นพื้นที่ช่วยดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นให้กับโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง

การลงพื้นที่ของทีม รพ. สต. เพื่อเข้าไปสร้างระบบดูแลผู้ป่วย ณ บ้านอุ่นไอรัก โดยทีมผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยจิตเวช สามารถคาดเดาได้เลยว่าอาสาสมัครที่นี่ต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้องใช้ทรัพยากรขนาดไหนเพื่อรักษาผู้ป่วย 

เริ่มต้นทีมได้ลงไปสอบถามปัญหาจากอาสาสมัครผู้ดูแลผู้ป่วย จากนั้นจึงสอนวิธีควบคุมดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น สอนการจับผูกยึดตัวคน วิธีควบคุมพฤติกรรม วิธีประเมินอาการเบื้องต้น ให้อาสาสมัครรู้จักยาจิตเวชที่ผู้ป่วยได้รับ สอนการรับมือจากผลข้างเคียงของยาจิตเวช และสอนวิธีดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น โดยสร้างระบบการติดต่อระหว่างสถานบำบัดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้สะดวกและรวดเร็ว เสมือนแพทย์ประจำศูนย์บำบัด 

ต่อมาคือการเข้าไปสอบถามอาการผู้ป่วย เพื่อปรับการดูแลเฉพาะคนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากเรื่องยารักษา ทีมยังประสานงานเพื่อดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รักษาอย่างตรงจุด บ้านอุ่นไอรักได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลอำเภอยะหริ่ง ช่วยประสานกับสำนักทะเบียนราษฎร์เพื่อโยกย้ายสิทธิการรักษามาไว้ที่โรงพยาบาลอำเภอยะหริ่งจนกว่าจะจบโปรแกรมบำบัด และหลายครั้งยังมีผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้เลย เช่น คนต่างด้าว ชาวต่างชาติ หรือผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน ทางโรงพยาบาลยังได้อนุเคราะห์ค่ารักษา ค่ายา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ 

ทีมเชื่อว่าหากทำระบบที่เหมาะสม ก็สามารถแบ่งเบาภาระงานของคนอื่นได้อีกมาก ไม่ต้องเกิดการทะเลาะวิวาทของผู้ป่วยจิตเวชข้างนอกสถานบำบัด ไม่เกิดอันตรายต่อบุคคลทั่วไป โรงพยาบาลสามารถเข้ารักษาได้ทันท่วงที แบ่งเบาคนไข้ที่ไม่มีเตียง และแบ่งเบาภาษีภาครัฐได้

ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา รวมถึงเจ้าหน้าที่ห้องสิทธิหลักประกันสุขภาพ แม้ไอเดียนี้จะเกิดขึ้นจากทีมจิตเวชโรงพยาบาลปัตตานี แต่เมื่อเสนอโครงการให้แก่ทีมสาธารณสุขชุมชน ทุกคนพร้อมลงมือทำ เพราะเชื่อว่าสิ่งนี้ต้องได้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน

การรักษาผู้ป่วยจึงไม่ใช่แค่เรื่องของหมอ หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนตั้งใจช่วยเหลือเพื่อบรรลุเจตจำนงร่วมกัน รวมถึงการเปิดใจยอมรับแนวทางการรักษาสมัยใหม่ร่วมกับหลักศาสนา ทำให้บ้านอุ่นไอรักเป็นทั้งสถานที่เยียวยาจิตใจให้แข็งแกร่งและมอบชีวิตใหม่ทางจิตวิญญาณแก่ผู้บำบัดยาเสพติด

รูปจาก : 

Writer

Related Posts

หลักคิดการทํางานบริการแบบสไตล์ญี่ปุ่น: คิดแบบญี่ปุ่น ทําแบบญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

ร่างกฏหมายความรุนแรงทางเพศ อินโดนีเซีย

สงครามล้าง “อารยธรรม” (1)

ดนตรี เสียง และชีวิต ผูกพันกันอย่างไรบ้าง?

ลูกจ้างสตาร์บัคส์แห่ขอตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จ นับแต่ 1980

ทำไมเราถึงโพสต์? : โซเชียลมีเดียสำคัญต่อมนุษย์ทำงานอย่างไร