ในปัจจุบันข่าวคราวของโครงการ ‘กำแพงกันคลื่น’ เริ่มมีบทบาทชัดขึ้นโดยเฉพาะการเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เดินหน้าเร่งคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างเต็มสูบ แม้ทีแรกการคัดค้านโครงการดังกล่าวเริ่มมาจากกลุ่มคนแค่เพียงหยิบมือ แต่ถึงที่สุดแล้วพลังของมนุษย์ที่เปี่ยมด้วยเจตจำนงเพื่อรักษา ‘ชายหาด’ หรือ ‘ชายฝั่ง’ ให้บ่ายเบนจากกำแพงกันคลื่นเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่าพวกเขาพร้อมตั้งรับขับสู้ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะสิ้นสุดลงแบบใด
หากว่ากันคร่าวๆ ‘กำแพงกันคลื่น’ คือการนำโครงสร้างแข็ง เช่น กระสอบทราย แนวหินทิ้ง กำแพงทะเล กำแพงคอนกรีต หรืออื่นๆ วางลงบนชายหาดและชายฝั่งเพื่อป้องกันอิทธิพลของแรงคลื่นหรือลมให้มีมวลลดลง เพราะโดยธรรมชาติหากคลื่นพัดเข้าหาฝั่งหรือหาด ตัวคลื่นจะปรับองศาโดยอัตโนมัติด้วยการเคลื่อนตัวเข้า-ออกบนพื้นทรายเพื่อพัดพากระแสน้ำกลับสู่ทะเลและวนไปเช่นนี้ทุกครั้ง แต่ตราบใดที่มีกำแพงกันคลื่นวางกีดขวาง เมื่อเวลาคลื่นโถมเข้ามา ทันใดคลื่นจะซัดตะกุยทรายบริเวณกำแพงให้หลุดออกนอกพื้นที่เดิม ซ้ำร้ายคลื่นจะเลี้ยวโอบไปทางด้านหลังกำแพงจนส่งผลให้พื้นที่ด้านหลังเกิดการกัดเซาะในที่สุด อย่างไรก็ตาม อ้างอิงจากงานวิจัยระดับนานาชาติบอกว่า ‘กำแพงกันคลื่น’ คือตัวการสำคัญทำให้ชายหาดถูกกลืนหาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตโดยรอบชายฝั่งอย่างแน่นอน
ขณะที่กำแพงกันคลื่นเป็นโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA แต่ในเวลาต่อมาโครงการถูกยกเลิก โดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยกเหตุผลมาชี้แจงว่า “หน่วยงานที่รับผิดชอบยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา การแก้ไขปัญหาคงต้องพับโครงการไว้ชั่วคราว” ดังนั้น กว่าปัญหาจะได้รับการคลี่คลาย โครงสร้างกำแพงกันคลื่นระบาดในประเทศไทยไปแล้วกว่า 74 โครงการ สูญเสียงบประมาณเกือบเจ็ด-พัน-ล้าน-ล้านบาท ที่น่าหนักใจคือปัจจุบันยังมีหน่วยงานท้องถิ่นของบประมาณสร้างกำแพงเพิ่มต่อเนื่อง
* หมายเหตุ: ข้อมูลโครงการ EIA ข้อมูลงบประมาณ และข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอ้างอิงเมื่อปี พ.ศ. 2557–2562
ไม่ว่าอย่างไร โครงการนี้ได้ทลายเวลาล่วงไปพอๆ กับที่ ‘อิฐ–ปฏิภาณ บุณฑริก’ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระและนักเขียนบทภาพยนตร์สั้นรวมถึงสารคดีหลายเรื่องพยายามเค้นหาหลักการที่มนุษย์และธรรมชาติควรจะเป็นเช่นโครงการกำแพงกันคลื่นนี้ เขาจึงสร้างภาพยนตร์สามเรื่องเพื่อให้สภาวการณ์ของความเป็นจริงเปล่งเสียงออกมาอย่าง ‘Mermaid’s Tear (น้ำตานางเงือก)’, ‘Behind the Wall (เบื้องหลังกำแพง)’ และล่าสุดคือ ‘Solids by the Seashore’ * (*ชื่อภาพยนตร์ชั่วคราว)
HUMANITAS ได้โอกาสคุยกับผู้กำกับลุคมาดนิ่งถึงความตั้งใจในการสร้างภาพยนตร์ที่ซอกซอนรากเหง้า ‘ปัญหา’ ของกำแพงกันคลื่นอย่างแยบคาย โดยแต่ละเรื่องต่างคาบเกี่ยวเส้นแบ่งเวลาในชั่วขณะที่กำแพงกันคลื่นถูกเททับลงบนหาดทรายอย่างกับโลกคู่ขนาน
จุดเชื่อมต่อของการทำหนัง
ย้อนไปสมัยอิฐเป็นนักศึกษาสาขาภาพยนตร์ ก่อนจบภาคการศึกษาเขากำกับภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งส่งเข้าประกวดด้วยการนำเสนอแง่มุมต่อต้านการคอร์รัปชันซึ่งฉายแววตัวตนเขาอย่างเด่นชัด เรียกได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อหรือแรงผลักให้เขาสร้างภาพยนตร์จริงจังในครั้งต่อมานั่นคือ ‘น้ำตานางเงือก’
จนเมื่อปี 2013 ภาพยนตร์เรื่อง ‘น้ำตานางเงือก’ ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสั้นประเภทแนวสารคดีในโครงการสื่อ ศิลป์ ดิน-น้ำ-ป่า ของรายการ Thai PBS หลังจากนั้นปี 2018 ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่อง ‘Solids by the Seashore’ ก็ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอต่อโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน (Thai Film Pitching at Cannes 2018) ที่ไทยแลนด์พาวิลเลียน ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ของฝรั่งเศส (Festival de Cannes 2018) หรือเรียกให้ง่ายคือการพาหนังไปหาทุนที่เมืองคานส์
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเคยได้รับการพัฒนาบทภาพยนตร์และนำเสนอโปรเจกต์หรือพิชชิ่งเข้าไปบรรจุใน Asian Film Market ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองปูซาน เมื่อครั้งอิฐเข้าร่วมโครงการพัฒนาบทภาพยนตร์ FLY Film Lab ในปี 2019 ที่เกาหลีใต้ ซึ่งการแลกเปลี่ยนในโครงการนี้นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับอนาคตของคนทำหนังทีเดียว
กลับมาที่ปี 2022 ภาพยนตร์เรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ เพิ่งคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมและรางวัลขวัญใจผู้ชมในเทศกาลออนไลน์จาก ‘CCCL Film Festival’ หรือ ‘เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน’ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์อีกหนึ่งเรื่อง และยังคงเดินหน้าตระเวนฉายทั่วประเทศ โดยมีกิจกรรมล่าสุดคือ ‘CCCL Film Tours 2022’ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มหาสารคาม และสงขลา
น้ำตานางเงือกสู่เบื้องหลังกำแพง สิบปีที่ไม่มีอะไรเปลี่ยน
สำหรับความเป็นมาของภาพยนตร์อิฐเล่าว่า โครงการกำแพงกันคลื่นอยู่ในความสนใจอันดับต้นๆ เมื่อราวสิบปีก่อน เพราะมองเห็นปัญหาจาก ‘โครงสร้างใหญ่’ ส่งผลโดยตรงให้ ‘คนตัวเล็ก’ ต้องต่อสู้ จึงเริ่มต้นตั้งข้อสังเกตแล้วไปสัมภาษณ์องค์กรเอ็นจีโอ (NGOs) คุณพีระ ตัณติเศรณี (อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลาที่เสียชีวิต) กรมโยธาธิการฯ กรมเจ้าท่า และผู้เคลื่อนไหวในเหตุการณ์กำแพงกันคลื่น จนกลายมาเป็นบทสรุปของ ‘น้ำตานางเงือก’ ที่ขยายกรอบความสงสัยให้เห็นภาพชัดเจน อย่างเช่นเรื่องการเบิกงบประมาณหรือการบุกรุกธรรมชาติโดยพลการ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือภาพยนตร์เปรียบเปรยถึงรูปปั้นนางเงือกที่ปกปักรักษาริมหาด หากชายหาดมีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางที่แย่นั่นหมายความว่าอาจเกิดหายนะกับมนุษย์
ถัดมาเรื่อง ‘เบื้องหลังกำแพง’ คือภาพยนตร์สั้นภาคต่อจากน้ำตานางเงือกที่ถ่ายทำระหว่างลงสำรวจพื้นที่ครั้งสุดท้ายและเตรียมถ่ายทำ Solids by the Seashore ไปด้วย นอกจากลงสำรวจพื้นที่ก็เข้าไปคุยกับนักวิชาการและคนรุ่นใหม่คือ ‘น้ำนิ่ง–อภิศักดิ์ ทัศนี’ ผู้ก่อตั้ง Beach for Life พร้อมกับ ‘อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าตั้งแต่ปี 2012 เรื่อง ‘น้ำตานางเงือก’ ออกฉายครั้งแรก จนเวลาผ่านไป ‘เบื้องหลังกำแพง’ ออกฉายในปี 2022 ตามๆ กัน แม้จะบรรจบครบ ‘สิบปี’ แต่ทุกอย่างไม่ต่างจากเดิม หรือว่ากันอีกแง่ เบื้องหลังกำแพงคือการกลับมาฉายภาพฟุตเทจคุณพีระจากเรื่องน้ำตานางเงือกให้เห็นว่าคนหนึ่งคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อธรรมชาติต้องจบชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจ มิหนำซ้ำเหตุการณ์ของคุณพีระยังเกิดภาวะเอฟเฟกต์กับคนที่ต่อสู้ในเหตุการณ์กำแพงกันคลื่นเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น ขณะถ่ายทำเบื้องหลังกำแพงเขาได้ชวน ‘โรสนี นูรฟารีดา’ กวีหญิงมุสลิมเจ้าของผลงาน ‘ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา’ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2559 มาร่วมเขียนบทกวีเพื่อให้ภาพยนตร์กับบทกวีเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน และดูเป็นศิลปะที่ไปไกลกว่า Documentary Film รวมทั้งเว้นสเปซให้คนดูฟังเสียงคลื่นหรือปลดปล่อยพันธนาการได้
Solids by the Seashore บอกว่าการกัดเซาะชายฝั่งเหมือนกัดเซาะตัวเอง
ขณะเดียวกัน ‘Solids by the Seashore’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องล่าสุด หากแปลตรงตัวมีชื่อว่า ‘โครงสร้างแข็งที่ตั้งอยู่ริมชายหาด’ ซึ่งเท่ากับยิ่งสร้างกำแพงเท่าไรยิ่งกัดเซาะเท่านั้น อิฐอธิบายต่อว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเล่าภาพกว้างไปกว่าเรื่องกำแพงเขื่อนหินและธรรมชาติ การโยงไปยังชีวิตของผู้หญิงในสังคมมุสลิมภาคใต้ รวมๆ แล้วคือ โครงสร้างแข็งเปรียบได้กับมนุษย์ที่มักมีเกราะไว้ปกป้องตัวเองจากหลายสิ่ง เช่นความผิดพลาด แต่สิ่งเหล่านั้นได้กลับมากัดเซาะตัวตนในที่สุด ซึ่งกระจายไปยังเรื่องความเชื่อ ความรัก หรือกระทั่งความตาย เรื่องนี้อาจเป็นกระบอกเสียงให้กับธรรมชาติหรือใครที่เจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้
โดยช่วงระหว่างถ่ายทำและเก็บข้อมูลของหนังเรื่องล่าสุด เขาได้เชิญศิลปินมาร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานชื่อว่า ‘end effect’ เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ a.e.y.space จังหวัดสงขลา ซึ่ง ‘end effect’ คือการจัดแสดงผลงานของศิลปินทั้งหกท่าน ได้แก่ อธิษว์ ศรสงคราม แพร พู่พิทยาสถาพร ปรัชญา พิณทอง ปฐมพล เทศประทีป สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ และธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ มาร่วมเล่าถึงเรื่องราวของกำแพงกันคลื่นผ่านสัญญะทั้งผักบุ้งทะเล เม็ดทราย กระจก ภาพวาดแบบเพนติ้ง ฯลฯ สะท้อนเรื่องราวของกำแพงกันคลื่นให้เป็นอีกแรงกระเพื่อมหนึ่งด้วยความละมุนละม่อม
“มันคือความตั้งใจและเป็นไอเดียของเราขณะลงพื้นที่ถ่ายทำ Solids by the Seashore ที่จังหวัดสงขลาว่า ไหนๆ ก็มีฉากนิทรรศการในหนังแล้ว ถ้าอย่างนั้นจัดนิทรรศการจริงไปเลยดีกว่า เลยชวนกลุ่มศิลปินนำโดยพี่โต๊ะ-ปรัชญา พิณทองมาร่วมจัดแสดง แล้วโยนคอนเซปต์ให้ศิลปินทั้งหมดร่วมกันสร้างผลงานได้อย่างอิสระเสมือนตัวละครในหนัง เมื่อไรที่ถ่ายทำเสร็จก็รอให้หนังวกกลับมาเล่ากระบวนการเกี่ยวกับศิลปะชิ้นนั้นๆ อีกที คนที่เคยเข้าไปชมนิทรรศการก็จะได้ไตร่ตรองและมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาหรืออีกหลายแห่ง” อิฐเล่า
กำแพงกันคลื่นคือการตระหนักรู้เห็น
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องหวนให้คิดทวนถึง ‘ปัญหา’ เบื้องต้นของการสร้างกำแพงกันคลื่น อิฐอธิบายตรงนี้เพิ่มเติมว่า “ปัญหาที่เห็นชัดแน่ๆ คือการเข้าไปรุกล้ำธรรมชาติ ยิ่งนำโครงสร้างแข็งไปวางก็ยิ่งกัดเซาะเพิ่ม แล้วยิ่งต้องทำต่อไป อย่างหาดบางแห่งแทบไม่เจอปัญหาอะไร ถ้าสร้างกำแพงถมไปอีกอาจจะเสียหาดไปเฉยๆ แต่ถ้ายืนยันที่จะทำต่อ นั่นเท่ากับว่าไม่ยินยอมที่จะรักษาชายหาดเอาไว้ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแค่ถอยกลับมาให้ธรรมชาติเป็นไปในแบบเดิม หรือใช้วิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช่ต่อสู้กับธรรมชาติ สำคัญคือประชาชนโดยรอบเขาเต็มใจที่จะให้สร้างกำแพงด้วยหรือเปล่า”
ทว่าในช่วงระยะเวลาสิบปีของการถ่ายทำภาพยนตร์ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือประชาชนเริ่มตระหนักตื่นตัวมากขึ้นท่ามกลางการสร้างกำแพงกันคลื่นอีกหลายระลอก
“มันต้องตระหนักรู้” อิฐย้ำ
“คนเริ่มออกมาต่อต้านและตระหนักรู้ถึงปัญหากันแล้ว แต่บางแห่งการส่งต่อองค์ความรู้ไม่ทั่วถึง ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเขาจะมีวิธีแก้ปัญหา แต่คำถามคือวันนั้นจะเหลือชายหาดอยู่สักกี่แห่ง เพราะฉะนั้น เมื่อตระหนักรู้แล้วต้องต่อสู้ แม้การต่อสู้กับการต่อรองอำนาจการตัดสินใจของคนที่อยู่ขั้นกว่าประชาชนคนธรรมดาไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปง่ายๆ ก็ตาม”
“หรืออย่างการทำหนังเราไม่ได้หวังถึงขั้นจะให้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่อย่างน้อยให้เขาสนใจระบบนิเวศรอบตัวขึ้นสักนิด บางทีเขาอาจจะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป เมื่อหนังฉายออกไปแล้วคนรับรู้ออกไปในวงกว้างได้ว่าโครงสร้างแข็งมันเกิดการกัดเซาะเพิ่ม ทำแล้วไม่ดีแน่ๆ ชายหาดก็หายไป สำหรับเราการได้สื่อสารออกไปเต็มที่และดีที่สุดแบบนี้น่าจะประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว” อิฐทิ้งท้าย
วิชาผู้กำกับคราวนี้ให้รางวัลสำคัญกับเขาว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก นั่นเพราะ ‘ชายหาด’ ควรได้รับการ ‘ปกป้อง’ อย่างถึงที่สุดด้วยซ้ำไป