ความบันเทิงในจอภาพยนตร์ไทยไม่ได้แร้นแค้นภูมิปัญญาอย่างที่เรารับรู้กัน!

ภาพยนตร์ไทยเป็นกิจกรรมทางปัญญาของผู้สร้างที่ต้องการอภิปราย ถกเถียง และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย

ในปีนี้ภาพยนตร์ไทยสุดคลาสสิกกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เนื่องจากทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมสุดพิเศษให้กับคนไทยได้ย้อนรำลึกความประทับใจ เช่น Netflix ประเทศไทย ร่วมมือกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คัดสรรภาพยนตร์จำนวน 19 เรื่องมาให้ผู้ชม เช่น เรื่อง “ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น” (พ.ศ. 2520), “กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้” (พ.ศ. 2538) และ “ผีเสื้อและดอกไม้” (พ.ศ. 2528) และกรุงเทพฯ ได้จัดงาน “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ที่จัดฉายภาพยนตร์ไทยกระจายไปในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น เรื่อง “2499 อันธพาลครองเมือง” (พ.ศ. 2540) และ “4Kings” (พ.ศ.2564) เป็นต้น ภาพยนตร์ที่จัดฉายจำนวนไม่น้อยมีเนื้อหาเป็นแนวปัญหาสังคมในแต่ละยุคสมัย 

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ไทยที่กล่าวมาข้างต้นเรามักได้ยินคำอธิบายว่า ภาพยนตร์เหล่านี้เป็นการ “สะท้อน” หรือ “ตีแผ่” ปัญหาสังคม หรือภาพยนตร์คือการจำลองและเสนอภาพความจริงของปัญหาสังคมอย่างตรงไปตรงมา นี่คือสารหลักแต่เพียงสารเดียวที่ภาพยนตร์ต้องสื่อออกมา ราวกับว่าผู้สร้างมิได้นำเสนอประเด็นอะไรใหม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการศึกษาภาพยนตร์ในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนจากการมองภาพยนตร์ในฐานะสะท้อนสังคมร่วมสมัยตามแนวคิดแบบสัจนิยมสู่การวิเคราะห์ในฐานะตัวบทเชิงวาทกรรมผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งบทสนทนา การถ่ายภาพ การลำดับภาพ การจัดแสง สี เสียง ที่มีส่วนในการประกอบสร้างความหมายและการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคม คำถามที่น่าสนใจคือ ภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะแนวปัญหาสังคมมีบทบาทอย่างไรในการอภิปรายและถกเถียงกับวาทกรรมอื่น ๆ ที่แวดล้อมปัญหาสังคมไทย 

การตอบคำถามข้างต้นนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา อันที่จริงแล้วเดวิด วัยอาจ (David Wyatt) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ใน Siam in Mind ว่า ถึงแม้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะไม่ปรากฏนักคิดหรือนักทฤษฎีการเมืองที่ยิ่งใหญ่แบบประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก แต่ไม่ได้หมายความว่าดินแดนแห่งนี้จะแร้นแค้นภูมิปัญญา หากแต่เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่จะแสวงหาหลักฐานที่บันทึกภูมิปัญญาของผู้คนในอาณาบริเวณนี้ได้ต่างหาก ในแง่นี้ ภาพยนตร์ไทยถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาภูมิปัญญาของสังคมไทย 

ในทศวรรษ 2510 ปัญหาสังคมที่ได้รับการอภิปรายและถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ ปัญหาชนชั้นแรงงาน และปัญหาโสเภณีไทย ตัวอย่างเช่น สมัยนั้นคนในสังคมรับรู้เกี่ยวกับโสเภณีผ่านหนังสือพิมพ์ นวนิยาย นโยบายของรัฐบาลว่า โสเภณีเป็นผู้หญิงต่ำทราม น่ารังเกียจ ก่อให้เกิดอาชญากรรม และเป็นผู้หญิงที่ลุ่มหลงในวัตถุนิยม แต่ใน พ.ศ. 2517 ภาพยนตร์ “เทพธิดาโรงแรม” ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้พยายามสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับโสเภณี เพื่อให้พวกเธอได้รับความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดแบบซ้ายใหม่ที่แพร่หลายในกลุ่มปัญญาชนและนักศึกษา

ภาพยนตร์ “เทพธิดาโรงแรม” ได้นำเสนอความเป็นมนุษย์ของโสเภณีผ่านเทคนิคการเล่าเรื่องต่าง ๆ เช่น ฉากโสเภณีมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อหาเงิน ผู้กำกับใช้เทคนิคการลำดับภาพแบบตัดสลับระหว่างฉากโสเภณีร่วมรักกับลูกค้า และฉากพ่อแม่ของโสเภณีกำลังสร้างบ้าน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเงินที่โสเภณีได้มามิได้หมดไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างที่สังคมรับรู้กัน หากเธอนำเงินส่งให้พ่อแม่เพื่อตอบแทนผู้ที่มีพระคุณ และฉากโสเภณีเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกพวกแมงดาทำร้ายร่างกาย ผู้กำกับเลือกถ่ายภาพในระยะใกล้ (Close up) เพื่อให้เห็นสีหน้าอารมณ์ของโสเภณีที่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา และมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ฉะนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนภาพโสเภณีด้านลบ หากกำลังสร้างการรับรู้ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม 

ในกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นไป ปัญหาวัยรุ่นติดยาเสพติดสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ใหญ่อย่างมาก จนนำไปสู่การอภิปราย ถกเถียง และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านสื่อมวลชนในลักษณะต่าง ๆ เช่น สื่อหนังสือพิมพ์และการรณรงค์แก้ไขของรัฐบาลมีความเห็นว่า ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาภายในครอบครัวเป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นติดยาเสพติด โดยเน้นอยู่ที่ประเด็นการขาดความอบอุ่นเป็นสาเหตุสำคัญ ซึ่งเป็นการระบุสาเหตุที่กว้างเกินไปและไม่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2527 ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับรุ่นใหม่ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “น้ำพุ” เป็นเรื่องราวของน้ำพุวัยรุ่นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ติดยาเสพติด แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเห็นเช่นเดียวกับความเห็นสาธารณะทั่ว ๆ ไปว่าความรักและความอบอุ่นในครอบครัวสามารถป้องกันวัยรุ่นจากยาเสพติดได้ แต่ภาพยนตร์ก็ระบุสาเหตุของปัญหาที่ชัดเจนกว่านั้น ได้แก่ ความรู้สึกแปลกแยกที่เกิดขึ้นในจิตใจของวัยรุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นติดยาเสพติด 

การที่น้ำพุเป็นลูกชายเพียงคนเดียวทำให้น้ำพุรู้สึกว้าเหว่ เหงาและแปลกแยก ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าน้ำพุเข้ากับพี่สาวและน้องสาวได้อย่างไม่ราบรื่นนัก เช่น ผู้กำกับกำหนดระยะความสัมพันธ์ระหว่างน้ำพุกับพี่น้องในระยะส่วนตัว (personal) คือระยะที่ตัวละครเอื้อมมือสัมผัสถึงกันได้ ความสัมพันธ์ในระยะนี้มักใช้กับเพื่อนและความสนิทสนมในระดับหนึ่ง แต่น้อยกว่าเมื่อเรานำไปเทียบกับระยะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด (intimacy) ของแม่กับน้ำพุที่ทั้งคู่มักเข้าโอบกอดกันเพื่อแสดงความรักใคร่ห่วงใย ดังนั้น ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องที่ไม่ค่อยสนิทสนมกันเป็นปัญหาและก่อความทุกข์ใจและความรู้สึกแปลกแยกแก่น้ำพุ

ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์ในทศวรรษ 2510 -2530 ที่สร้างโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ เช่น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, ยุทธนา มุกดาสนิท, บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ฯลฯ ภาพยนตร์ของพวกเขามิได้มีบทบาทสะท้อนปัญหาสังคม แต่เป็นวาทกรรมที่แสดงให้เห็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับที่มา ลักษณะและผลกระทบของปัญหาสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว ในช่วงแรกภาพยนตร์มุ่งสร้างการรับรู้ปัญหาสังคมผ่านวาทกรรมเรื่องความยุติธรรมและความเป็นธรรม เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระแสแนวคิดซ้ายใหม่ของปัญญาชนหัวก้าวหน้า แต่ต่างไปจากการรับรู้ของภาครัฐ ส่วนกลางทศวรรษ 2520 ภาพยนตร์มุ่งสร้างการรับรู้และการอธิบายปัญหาสังคมที่สอดคล้องกับความคิดของภาครัฐมากกว่า ในแง่นี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาพยนตร์ไทยเป็นกิจกรรมทางปัญญาของผู้สร้างที่ต้องการอภิปรายและถกเถียงกับวาทกรรมที่ปรากฏในแต่ละยุคสมัย

ภาพ : 2499

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:2499.jpg

น้ำพุ

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%B8_(2527).jpg

ใบปิดวาดโดย บรรหาร สิตะพงศ์

https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1_(2517)?file=%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25B2%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1_%25282517%2529_1.jpg

ข้อมูล :

  • David K. Wyatt. Siam in mind. Chiang Mai: Silkworm Books. 2002.
  • ชเนตตี ทินนาม. ประวัติศาสตร์วาทกรรมความรุนแรงต่อผู้หญิงในสื่อ พ.ศ. 2449-2519. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551.
  • ชาตรีเฉลิม ยุคล (ผู้กำกับ). เทพธิดาโรงแรม [ภาพยนตร์]. ไทย: พร้อมมิตรภาพยนตร์, 2517.
  • ยุทธนา มุกดาสนิท (ผู้กำกับ). น้ำพุ [ภาพยนตร์]. ไทย: ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น, 2527.
  • สุพัฒน์ ศิวะพรพันธ์. “Netflix และ หอภาพยนตร์ คัดสรร 19 หนังไทยชั้นเยี่ยมกลับมาฉายอีกครั้งในแคมเปญ” จาก https://thestandard.co/netflix-and-thai-film-archive-selected-19-thai-best-movies/
  • “กรุงเทพฯกลางแปลง โปรแกรมฉายหนังดัง เริ่ม 7 ก.ค.นี้” จาก https://www.prachachat.net/general/news-967653

Writer

Related Posts

Lorem Ipsum ร่องรอยประวัติศาสตร์บนถนนเส้นแรกในหาดใหญ่สู่คอมมูนิตี้ร่วมสมัยที่อยากให้สเปซได้ตอบโจทย์ในตัวของมันเอง

ควันจากบ้องกัญชาอันตรายกว่าบุหรี่ถึง 4 เท่า

เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู

โอกาสของผู้พิการในตลาดแรงงาน “คุณค่า” มิใช่ “เมตตา”

แคนาดายังเป็นประเทศสองภาษาอีกหรือไม่

ทำมาหากินกับคนธรรมดา