อาชีพ Field Recordist หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ นักบันทึกเสียงที่ออกเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ ป่า เมือง ทะเล มหาสมุทร โรงพยาบาล ตลาด ยิม ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อบันทึกเสียง เหตุการณ์ หรือช่วงเวลาหนึ่งไว้ คล้ายกับอาชีพช่างภาพ แต่แทนที่จะเก็บภาพ กลายเป็นการเก็บเสียงแทน
โดยนักบันทึกเสียงภาคสนาม มีความแตกต่างต่างจากอาชีพนักบันทึกเสียงในห้องสตูอิโอตรงที่ กลุ่ม Field Recordist ส่วนหนึ่งจะเป็นนักเดินทางที่พกอุปกรณ์อัดเสียงไปด้วย พวกเขารักอิสระ และชอบที่ได้ออกเดินทางไป เพื่อฟังเสียงที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว และรับได้กับธรรมชาติของเสียงที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาและไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเสียงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ซึ่งจะต่างจากนักบันทึกเสียงในห้องสตูดิโอ ที่เน้นการทำงานในพื้นที่ที่ควบคุมทุกอย่างได้ ตั้งแต่เครื่องมือ สภาพห้อง ไปจนถึงท่อนดนตรีที่อัดแทรกใหม่ได้เสมอ ฉะนั้นเสียงที่ออกมาจากสองอาชีพนี้จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เสียงจากฝีมือของนักอัดเสียงภาคสนามมีหลากหลาย ตั้งแต่ การบันทึกเสียงของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (ethnomusicoalogical recordings) บันทึกเสียงสภาพแวดล้อม (soundscape) บันทึกเสียงธรรมชาติ บันทึกเสียงเหตุการณ์สำคัญหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ประท้วง ปาฐกถาสำคัญ ๆ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว เสียงเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นเสียงที่เกินกว่าการคาดการณ์ได้ และมันคือเสียงของโลกใบนี้ที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นที่มาของโอกาสของคนฟัง ที่จะได้ฟังเสียงใหม่ ๆ จากทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน
ผลงานของนักอัดเสียงภาคสนาม ถูกนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้เพื่อการศึกษาด้านต่าง ๆ ใช้เพื่อสร้างเป็นห้องสมุดเสียงและงานเชิงพาณิชย์ รวมถึงใช้ในการสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นผลงานดนตรีหรือสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทางเสียง อย่างเช่น Chris Watson ศิลปินชาวอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านการอัดเสียงภาคสนาม ผู้นำเสียงมาผลิตเป็นผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ตั้งแต่การประพันธ์งานดนตรี จนถึงการสร้างศิลปินจัดวางทางเสียง (sound installation) โดยผลงานของเขาได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ติดตามผลงานได้ที่ https://chriswatson.net/category/releases/
หรือ Jacab Kiregaard ศิลปิน sound art จากประเทศนอร์เวย์ ผู้สนใจเสียงรอบ ๆ ตัว และได้อัดเสียงต่าง ๆ เพื่อมาสร้างเป็นผลงานศิลปะ โดยเขามองว่าเสียงคือ สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้การมองหรือสายตา แต่ใช้หูเพียงอย่างเดียว เพื่อที่จะฟังและทำความเข้าใจลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
ฟังแนวคิดของเขาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?time_continue=490&v=CFQOH6d9Uhc&feature=emb_title
และศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามองคือ Marcel และ Libby คู่รักที่กำลังเดินทางไปทั่วโลก เพื่อเก็บเสียง และนำเสียงเหล่านั้นมาเผยแพร่และสร้างรายได้ และตอนนี้ก็เริ่มหันมาทำเป็นวิดีโอคอนเทนต์พาคนดูไปชมเบื้องหลังการอัดเสียงที่ต่าง ๆ พร้อมแนะนำอุปกรณ์สำหรับผู้ที่สนใจ (ติดตามผลงานได้ที่
ส่วนในประเทศไทยของเราเอง การอัดเสียงภาคสนามก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะมีการใช้ทั้งในด้านการศึกษาและศิลปะ อย่างด้านการศึกษา จะเห็นได้จากงานในกลุ่มมานุษยวิทยา ที่มีนักวิจัยบันทึกเสียงเพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปของมนุษย์ (Sonic Ethnography) เนื่องจากการศึกษามนุษย์และปรากฏการณ์ต่าง ๆ บางครั้งภาพที่เห็นอาจไม่เพียงพอเช่นกัน หรืออย่างการศึกษาเพื่อการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะการศึกษามลภาวะทางเสียง และศึกษาสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อย่างผลงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือที่รู้จักกันในนาม Urban Ally ก็กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มแบบเปิด (open archive) ที่ผู้ใช้งานสามารถฟังเสียงของย่านพระนครได้โดยตรงจากเว็บ ส่วนในฝั่งของงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ ก็มีศิลปินหลายคนที่ใช้วิธีการนี้เพื่อเก็บเป็นวัตถุดิบในการทำงาน อย่างเช่น การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์ หรือที่รู้จักกันในนาม FrRc ที่เดินทางเก็บเสียงต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นผลงานดนตรี
อาชีพ Field Recordist แม้จะมีมานานแล้ว แต่วงการนี้ก็ยังพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามเทคโนโลยี และความเป็นไปของโลก และพวกเขายังมองว่า ทุกการเคลื่อนไหวเป็นแหล่งของเสียง เสียงจึงมีทั้งความน่าสนใจและน่าเก็บรักษาเอาไว้ เพื่อส่งต่อให้คนทั่วไปได้ฟังกัน
https://www.youtube.com/c/FreeToUseSounds
ภาพและเสียงประกอบ :
- คริส วัตสัน https://chriswatson.net/gallery/
- Jacob https://fonik.dk/
- Marcel + Libby https://www.freetousesounds.com/
- FrRc https://www.facebook.com/gamnad737/
ขอบคุณข้อมูลจาก :