
วิกฤตเศรษฐกิจยุค 70 คือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากน้ำมันแพงและเงินเฟ้อ ภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกชนชั้น ตั้งแต่นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงาน
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ธนาคารโลกออกมาเตือนประเทศทั่วโลกว่าเรากำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนกับช่วงทศวรรษ 2510 เดวิด มัลพาสส์ (David Malpass) ประธานธนาคารโลกระบุว่า ตอนนี้ประเทศที่กำลังพัฒนาในยุโรปและเอเชียตะวันออกกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายทศวรรษ ราคาอาหาร โภคภัณฑ์ และพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิกฤตดังกล่าวเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นโยบายโควิดซีโร่ของจีน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงและรวดเร็วจนเกิดปัญหาคอขวดด้านการผลิต โลกเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไปมากกว่านี้ เราจะพาสำรวจเหตุการณ์เศรษฐกิจยุค 70 เพื่อเรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน ในคำถามว่า เศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเราแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวได้อย่างไร ?
ในทศวรรษ 2510 เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะชะงักงันที่มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นและราคาสินค้าก็แพงขึ้น ทั้งนี้เพราะเกิดสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับ นำโดยอียิปต์และซีเรียสู้รบกับอิสราเอล กลุ่มประเทศอาหรับซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การโอเปก (OPEC) ใช้น้ำมันต่อรองอำนาจด้วยการลดปริมาณการผลิต เพิ่มราคาน้ำมันดิบ และจำกัดการจำหน่ายน้ำมันให้กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คอยช่วยเหลืออิสราเอลในการทำสงคราม กลุ่มโอเปกประกาศงดส่งออกน้ำมันให้สหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มาสนับสนุน เช่น ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอิหร่านซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และสหรัฐฯ ผิดพลาดในการออกนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เพราะก่อนหน้าสหรัฐฯ ทำสงครามเวียดนามจึงประสบปัญหาด้านการเงินทำให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลง ดังนั้นเพื่อชดเชยค่าเงินดอลลาร์ที่ตกต่ำ กลุ่มโอเปกจึงประกาศเพิ่มราคาน้ำมันดิบ
ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นเป็นเท่าตัวและเกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นตามมา เช่น ก่อนวิกฤตการณ์ดังกล่าวน้ำมันดีเซลลิตรละ 0.98 บาท แต่เมื่อเกิดวิกฤต น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 2.33 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 และเพิ่มเป็นลิตรละ 4.88 บาท ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2522 เมื่อน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนต้องรับภาระกับน้ำมันแพง
ประเทศไทยได้รับผลกระทบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตดังกล่าว งานวิจัยทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร พบว่า วิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลกระทบทุกชนชั้น ตั้งแต่นักธุรกิจ ชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยในการผลิต เมื่อน้ำมันขาดแคลนและราคาแพงทำให้โรงงานต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มขาดทุน และการผลิตก็หยุดชะงักงันจนนำไปสู่การปลดพนักงานจนเกิดภาวะการว่างงานเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่การประมงและเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ใน ค.ศ. 1974 อุปกรณ์ทำการประมงในประเทศไทยแพงขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการนำเรือออกทะเล จากเดิมใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 24,000 บาท หรือสีทาเรือจากเดิมกระป๋องละ 375 บาท เพิ่มเป็น 850 บาท ขณะที่เกษตรกรประสบปัญหาปุ๋ยเพิ่มผลผลิตแพงขึ้น เช่นใน พ.ศ. 2516 ปุ๋ยราคาตันละ 1,350 บาท เพิ่มเป็นตันละ 2,500 บาทใน พ.ศ. 2517 เป็นต้น
ในขณะที่พนักงานออฟฟิศและผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ นอกจากจะต้องแบกรับข้าวของที่แพงขึ้นแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนกิจวัตรในการออกไปทำงานนอกบ้านและการพักผ่อนด้วย เนื่องจากรถโดยสารประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการทิ้งระยะเวลาออกรถให้ช้าลง บางบริษัทลดเที่ยววิ่งรับ-ส่งพนักงานเพราะขาดแคลนน้ำมัน และค่าโดยสารก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 50 สตางค์ตลอดสาย เพิ่มเป็น 75 สตางค์ ขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคล ใน พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้บังคับห้ามจอดรถในที่ห้ามจอดและกำหนดความเร็วรถยนต์ เพื่อลดอุบัติเหตุและลดการเผาผลาญพลังงาน นอกจากนี้ กิจกรรมเพื่อความบันเทิง เช่น โรงภาพยนตร์ ใน พ.ศ. 2516 ลดเวลาฉายให้เหลือ 2 รอบ สถานที่เต้นรำ สถานบันเทิงก็ถูกจำกัดเวลาเปิด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดการใช้น้ำมันและไฟฟ้าที่กำลังขาดแคลนอย่างรุนแรง
วิกฤตน้ำมันและเงินเฟ้อในตลาดโลกเกิดขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรก พ.ศ. 2516-22 และครั้งที่สอง พ.ศ. 2526-28 ในวิกฤตครั้งแรกรัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยมาตรการเฉพาะหน้า เช่น กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน และจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน เป็นต้น ทว่าวิกฤตครั้งที่สองรัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยนโยบาย “ยุทธศาสตร์เติบโตด้วยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม” ทำให้กลุ่มนายทุนไทยได้ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมส่งออก ธุรกิจบริการ และค้าปลีก โดยมีรัฐบาลคอยช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตน้ำมันครั้งที่สอง มีบริษัทข้ามชาติให้ความสนใจมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทในเอเชียตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันน้อยกว่าสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน กำลังหาแหล่งลงทุนใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย ซึ่งบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก กล่าวคือ นโยบายการส่งออกและการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจภายนอกจนสามารถเยียวยาวิกฤตน้ำมันและเงินเฟ้อในประเทศได้
วิกฤตน้ำมันและเงินเฟ้อในสังคมไทยในยุค 70 เมื่อถูกหักลบให้เบาลงด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทำให้ไทยมีรายได้มาใช้จ่ายในช่วงน้ำมันแพง พร้อมกับมีเงินลงทุนจากบริษัทข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามา ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมาก ดังนั้นประเทศไทยสามารถควบคุมวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และเศรษฐกิจไทยก็เฟื่องฟูอย่างมากในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยก็มาถึงจุดอิ่มตัว เมื่อคู่แข่งทางเศรษฐกิจมากขึ้นและการเปิดเสรีทางการเงินของไทยทำให้ปริมาณเงินลงทุนล้นเกินจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ใน พ.ศ. 2540
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจน้ำมันและเงินเฟ้อได้ แต่ก็คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าวิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกชนชั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
เรื่อง : อภิสิทธิ์ ปานอิน
ภาพ : https://www.nzz.ch/wirtschaft/der-fast-vergessene-sturm-ueber-asien-ld.1311138
ข้อมูลจาก :
- ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร. ผลกระทบของวิกฤติการณ์น้ำมันต่อสังคมไทย (พ.ศ. 2516-2543). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2549.
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: Silkworm Books, 2546.
- วอลเดน เบลโลและคณะ. โศกนาฏกรรมสยาม : การพัฒนาและการแตกสลายของสังคมไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2545.
- อะกิระ ซุเอะฮิโระ. การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด: เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2565.
- “หวนคืนสู่ยุค 70 ธนาคารโลกเตือนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่ง” จาก https://www.postt
- oday.com/world/685156