“I’m Not A Plastic Bag” คำโปรยแสนเก๋บนถุงผ้าสุดชิคทัชใจบรรดานักช้อปสายอีโค่ ที่อยากแสดงออกว่าตัวเองก็รักษ์โลกนะ ครั้งหนึ่งถุงผ้าเคยเป็นไอเท็มยอดฮิตที่ผู้คนใช้เพื่อบ่งบอกรสนิยมและสไตล์ของตัวเอง
วันนี้ถุงผ้ากลับมาเป็นของชิ้นสำคัญของผู้คนอีกครั้ง หลังจากที่มีการประกาศแบนการใช้ถุงพลาสติกแบบซิงเกิลยูส กลายเป็น “ทางเลือก” ของถุงพลาสติก ในวันที่พฤติกรรมใช้แล้วทิ้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล
ต้นกำเนิดของถุงผ้า หรือ Tote Bag คือผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นถุงใส่น้ำแข็ง เมื่อ 1944 แอลแอล บีน (LL Bean) บริษัทเอาต์ดอร์ชื่อดังได้คิดค้นกระเป๋าผ้าแคนวาสกันน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาการย้ายน้ำแข็งจากท้ายรถไปยังช่องฟรีซ
แต่คนก็เพิ่งจะมานึกขึ้นได้ทีหลังว่าถุงผ้าแบบนี้ไม่ได้มีไว้แค่ใส่น้ำแข็งนี่นา แต่สามารถบรรจุของสารพัดอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ คนจึงฮิตเอาถุงผ้ามา “ใส่อะไรก็ได้” นอกเหนือจากน้ำแข็ง
ในยุค 80s กราฟความนิยมของถุงผ้าพุ่งขึ้น เมื่อ The Strand ร้านหนังสือแห่งนิวยอร์กซิตี้ ออกแบบถุงผ้าของตัวเองแบบคัสตอม ด้วยการสกรีนชื่อร้านพร้อมสโลแกนลงบนถุงผ้า จนร้านเป็นที่รู้จักและถูกจดจำจากคนที่หิ้วถุงเดินไปมาในเมือง…คล้ายกับเป็นการโปรโมตแบรนด์ไปในตัวแบบฟรี ๆ
ปรากฏการณ์นี้จุดประกายให้ร้านค้าและแบรนด์อื่น ๆ หันมาใช้วิธีเดียวกันเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ จนขยายไปทั่วโลกและลากยาวมาถึงปัจจุบัน ถุงผ้าส่วนใหญ่จึงเป็นของแจกฟรี หรือของที่ให้มาพร้อมกับสินค้าที่เราได้ซื้อ กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใครก็หยิบมาใช้ได้ไม่ยาก
ลูกค้าจากร้านรวงรับบทเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ พวกเขาบอกโลกให้รับรู้ได้ถึงเพลงที่ชอบฟัง หนังสือที่ชอบอ่าน หรืออาหารที่ชอบกิน และที่สำคัญคือซื้อของเหล่านั้นมาจากที่ไหน
การเลือกใช้ถุงผ้าจึงเปรียบเหมือนการเลือกใส่เสื้อผ้า เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนจะได้แสดงออกถึงรสนิยมส่วนตัว เช่น The New Yorker ถุงผ้าแจกฟรีที่ป๊อปที่สุดในหมู่ชาวนิวยอร์ก ที่บ่งบอกว่าคนคนนั้น (อาจ) รักการอ่าน เพราะแถมมากับการสมัครสมาชิกนิตยสาร
หรือแม้แต่การแสดงจุดยืนว่าซัพพอร์ตผู้ประกอบการเล็ก ๆ อย่างการใช้ถุงผ้าสกรีนโลโก้ร้านขนมปังใกล้บ้าน รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางในการเริ่มต้นพูดคุยกับใครสักคน เมื่ออีกคนเห็นว่ารสนิยมตรงกัน
สุดท้ายเรื่องราวของถุงผ้าก็เดินทางมาถึงยุคปัจจุบัน ที่บางคนเลือกใช้เป็นถุงทดแทนพลาสติกในการช้อปปิ้ง เมื่อถุงพลาสติกถูกตราหน้าว่าเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างโลกร้อน จนถึงขั้นถูกแบนไม่ให้ใช้ในหลายประเทศ
ถุงผ้ากลายเป็นฮีโร่อีกครั้ง เพราะใช้ซ้ำได้ วัสดุก็ดู (เหมือนจะ) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่แล้วทำไมเราถึงควรต้องระวังเรื่องการใช้ถุงผ้ากันล่ะ ลองมาดูเบื้องหลังไปพร้อมกัน แล้วคุณอาจจะรู้สึกเกลียดถุงพลาสติกน้อยลง
หากย้อนกลับไปดูทั้งกระบวนการกว่าจะได้ถุงผ้าแบบออริจินอลมา (เนื้อผ้าคอตตอนหรือแคนวาส) มีวิจัยพบว่าปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 271.3 กิโลคาร์บอนต่อ 1 ใบ แม้จะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติก็ตาม ในขณะที่ถุงพลาสติกชนิด HDPE ปล่อยเพียง 1.6 กิโลคาร์บอนเท่านั้น
การใช้ถุงผ้าไม่คุ้มค่า จึงไม่เท่ากับการรักษ์โลกนั่นเอง
ความจริงแล้วถุงพลาสติกก็เคยเป็นพระเอกมาก่อน มันถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อกอบกู้โลกทดแทนการใช้ถุงกระดาษที่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ด้วยคุณสมบัติที่เบา กันน้ำ และราคาถูกจึงเป็นที่นิยมอย่างล้นหลามในเวลาอันรวดเร็ว
แต่เมื่อถุงพลาสติกอำนวยความสะดวกมากเกินไป มนุษย์จึงเสียนิสัย ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมใช้แล้วทิ้ง จึงไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ ของถุงพลาสติกอย่างที่มันควรจะเป็น
ตัวเลือกที่กอบกู้ปัญหานี้ก็เลยกลับมาที่ถุงผ้า เพราะหลายคนมองว่าใช้ซ้ำได้หลายครั้ง และสามารถย่อยสลายได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน (หากทำจากวัสดุธรรมชาติ) เทียบกับพลาสติกที่จะมีชีวิตอยู่ไปกว่า 450 ปีทีเดียว
เชื่อว่าหลายคนก็ไม่ได้มีถุงผ้าอยู่กับตัวแค่คนละใบ ถุงที่ได้ฟรีมาจากการซื้อของก็คงไม่น้อย การจ้องแต่จะซื้อ “ถุงผ้ารักษ์โลก” เพราะคิดว่าซื้อมาใช้แล้วจะช่วยลดโลกร้อน อาจไม่จริงเสมอไป เพราะ 1 ใบต้องใช้มากถึง 152 ครั้ง (หรือมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก็ยิ่งดี)
เพราะการบอกรักโลกที่ดีที่สุดก็คือการใช้ถุงที่มีอยู่แล้ว ซ้ำไปเรื่อย ๆ นั่นเอง เหมือนดังลายสกรีนว่า “I’m reusable” และเราคงไม่อยากเห็นวัฒนธรรมการใช้ถุงผ้าจบลงในฐานะตัวร้ายที่ทำลายโลกซ้ำอีกอย่างแน่นอน…จริงไหม
เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
ภาพ : https://www.strandbooks.com
อ้างอิง :