แม้บ่อยครั้งการ์ตูนจะเป็นจำเลยที่ถูกกล่าวโทษว่าทำให้เด็ก ๆ ติดการ์ตูน ใช้เวลาหน้าจอจนล่วงเลย ไม่ยอมทานข้าว ทำการบ้าน เข้านอน หรือข้อที่เป็นกังวลสำหรับผู้ปกครองคือการ์ตูนบางเรื่องอาจบ่มเพาะนิสัยความรุนแรงได้

แต่คงปฏิเสธได้ยากว่าการ์ตูนก็นับเป็นหนึ่ง Pop culture ที่ไม่เพียงมีอิทธิพลทางความสุขของเรา แต่ยังส่งผลถึงการหล่อหลอมตัวตนเชิงความคิด ค่านิยมไปจนถึงพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง และพวกเราทุกคนเองล้วนเติบโตมากับการ์ตูนแห่งยุคไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง

ในเชิงเศรษฐกิจ การ์ตูนขวัญใจเด็กและผู้ใหญ่หลาย ๆ เรื่องสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นสินค้าต่าง ๆ หรือเกม แต่ Soft power อย่างหนึ่งของการ์ตูนที่พบเจอได้ก็คือ “อิทธิพลด้านการกิน” เราจึงเห็นว่าบ่อยครั้งว่า อาหารโปรดของเหล่าตัวการ์ตูนได้กลายร่างมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชีวิตจริง ไม่แพ้เมื่อครั้งที่คนไทยลุกขึ้นมาฮิต หมูโสร่ง กุ้งเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน ตามกระแสออเจ้า หรือที่ตอนนี้หลาย ๆ คนฮิตทานรามยอน เมนูฮิตจากซีรีส์เกาหลี

Humanitas ขอเล่าถึงอาหารโปรดของเหล่าตัวการ์ตูนจากสามชาติมหาอำนาจ ทั้งจากญี่ปุ่น อเมริกา และอังกฤษ ที่ทรงอิทธิพลจนทำให้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ลุกขึ้นมากินตาม แม้ตัวการ์ตูนเหล่านี้จะมีอายุหลายสิบปีไปจนถึงเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม 

Doraemon – Dorayaki

หากนึกถึงอาหารที่เป็นที่รู้จักขึ้นมาได้เพราะการ์ตูน ‘โดรายากิ’ ต้องติดโผลำดับต้น ๆ อย่างแน่นอน ไม่เพียงจะมีชื่อขึ้นต้นว่า ‘โดรา’ เหมือนกัน (โดราเอมอน – โดรายากิ) แต่โดรายากิยังมีชื่อเล่นจากแฟน ๆ ต่างชาติว่า Doraemon pancakes หรือบ้างก็เรียกว่า Doracakes จากความเป็นของโปรดของโดราเอมอน ที่ชอบโดรายากิขนาดว่าฝันอยากกินโดรายากิกองเท่าภูเขาเลยทีเดียว ซึ่งทำให้โดรายากิได้กลายเป็นตัวแทนขนมหวานของญี่ปุ่น (wagashi) ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกชิ้นหนึ่ง 

แม้ขนมโดรายากิจะมีอายุเกินร้อยปีแล้ว ก็ยังอยู่ในความนิยมและยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในญี่ปุ่นเองในฐานะประเทศต้นกำเนิดของโดรายากิ จากไส้ถั่วแดงกวนแบบดั้งเดิม ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาไส้ต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งครีมนมสีขาวนุ่ม ทั้งครีมมัทฉะสีเขียวรสเข้ม ทั้งไส้ครีมถั่วแดงที่ผสมครีมสดกับถั่วแดงเข้าด้วยกันให้รสสัมผัสแบบใหม่ หรือการสอดไส้ด้วยแยม (คล้ายแยมโรล หรือการทานแพนเค้กของชาวตะวันตก) ไปจนถึงการใส่ผลไม้จริง ยกระดับความน่าทานของโดรายากิไปอีกขั้น

ในประเทศไทยเอง โดรายากิเป็นที่รู้จักและถูกวางขายโดยร้านเบเกอรี่หลายร้านไม่ว่าจะเป็น S&P, โดรายากิหอมน้ำผึ้งจาก Yamazaki ไปจนถึงโดรายากิหลากหลายไส้ที่วางขายในร้านสะดวกซื้อหลาย ๆ ร้านจากฟาร์มเฮาส์ 

ความนิยมของโดราเอมอนและโดรายากิยังได้รับความสนใจจากโลกตะวันตก พิสูจน์ได้ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่โดราเอมอนมีอายุครบ 45 ปี ทำให้ JFC International บริษัทผู้จัดจำหน่ายอาหารและขนมชั้นนำในเอเชีย ได้วางขาย Doraemon Dorayaki ในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นหลักฐานว่าโดราเอมอนเป็นผู้ส่งออกโดรายากิตัวจริง

Popeye – Spinach 

ไม่ต้องเอ่ยมาก ทุกคนก็คงเดาได้ว่าป๊อปอาย ตัวการ์ตูนอายุ 93 ปีตัวนี้มีขุมพลังคือผักปวยเล้งในกระป๋องเหล็ก (Spinach – ซึ่งพวกเราชาวไทยส่วนมากอาจจะคุ้นเคยว่าป๊อปอายชอบทานผักโขม) ที่มักจะงัดออกมาทานเพื่อเพิ่มพละกำลัง ก่อนเบ่งกล้ามโต ๆ เพื่อสู้กับเหล่าวายร้ายได้อย่างกระเจิงทุกครั้ง 

ถึงแม้ว่าในยุคแรก ผู้คนจะเข้าใจผิดถึงคุณค่าของ Spinach ไปอย่างเกินจริงนิดหน่อย อันเนื่องมาจากความผิดพลาดจากการที่นักเคมีชาวเยอรมัน ชื่อว่าคุณ Erich von Wolf ที่ทำการศึกษาปริมาณธาตุเหล็กในผักต่าง ๆ ในปี 1870 ได้ใส่เลขทศนิยมผิด ทำให้ผักโขมที่มีปริมาณธาตุเหล็กประมาณ 3.5 มิลลิกรัม กลายเป็น 35 มิลลิกรัม (ต่อ Spinach 100 กรัม) กว่าจะพบเจอและถูกแก้ไขความจริงก็เมื่อ 67 ปีให้หลัง แต่ภาพลักษณ์ของ Spinach ที่อุดมด้วยธาตุเหล็กก็เดินทางไปไกลแล้ว  

อิทธิพลของป๊อปอายต่อการบริโภคผักเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก โดยการวิจัยในไทยเมื่อ พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) โดย ศ. พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการศึกษาบอกว่าการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับผัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก การเล่าเรื่อง การเล่นเกม การร้องเพลง และการดูการ์ตูนที่แสดงผลเชิงบวกจากผักเช่นป๊อปอาย ส่งผลให้เด็ก ๆ มีการรับประทานผักเพิ่มขึ้นจริง หรือสามารถชักจูงเด็ก ๆ ที่ปกติไม่รับประทานผักมาทานได้ ซึ่งได้มีการตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Nutrition & Dietetics ในภายหลัง

ในสหรัฐอเมริกาประเทศต้นกำเนิดป๊อปอายเอง ก็มีการกล่าวอ้างว่า ปริมาณการบริโภค Spinach เพิ่มขึ้นถึง 33% ในช่วง 1930’s ซึ่งเป็นช่วงที่การ์ตูนป๊อปอายออกฉาย ปัจจุบันป๊อปอายยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ Spinach อีกด้ว

Paddington  – Marmalade 

‘Ma’amalade sandwich Your Majesty?’ คือภาพยนตร์สั้นพิเศษโดย BBC Studios และ Heyday Films/Studiocanal ในวโรกาสควีนเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชสมบัติครบ 70 ปี หรือ Platinum Jubilee ซึ่งปล่อยออกมาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในภาพยนตร์สั้นนี้มีซีนที่เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมทั่วโลก คือการที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 หยิบแซนด์วิชแยมผิวส้มออกมาจากกระเป๋า ว่าพระองค์เองก็มีเช่นกัน หลังจากที่เจ้าหมี Paddington ได้ชวนทานแซนด์วิชแยมผิวส้มอันเป็นของโปรดของเจ้าหมี เป็นการตอกย้ำว่า Marmalade นั้นเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเจ้าหมีที่ใคร ๆ ก็รับรู้และจำได้ โดย Paddington มักจะพกโหลแยมผิวส้มไว้ในกระเป๋าเดินทางสีน้ำตาลของเขา และยังมีแซนด์วิชแยมผิวส้มซ่อนไว้ใต้หมวกเสมอไว้เผื่อยามฉุกเฉิน

Marmalade ไม่เพียงแต่เป็นที่จดจำเมื่อนึกถึง Paddington เท่านั้น แต่ความชื่นชอบของเจ้าหมีอพยพจากเปรูที่มีต่อแยมผิวส้มนี้ ส่งอิทธิพลให้ผู้คนอยากเอร็ดอร่อยตามไปด้วย เพราะหลังจากหนัง Paddington ออกฉายในปี 2014 ก็ส่งผลให้ยอดขายวัตถุดิบหลาย ๆ ชนิดที่เกี่ยวกับการทำแยมผิวส้มหรือ ‘Marmalade’ ขายดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นเพคติน (สารสกัดเนื้อเจลอ่อนนุ่ม) ของแบรนด์ Certo ในประเทศอังกฤษมียอดขายเพิ่มขึ้น 34% รวมทั้งยอดขายของ Seville orange ส้มพันธุ์ที่ใช้ทำแยมผิวส้มใน Waitrose ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในอังกฤษขายดีขึ้น 20% สอดคล้องกับยอดดาวน์โหลดสูตรทำแยมผิวส้มของ Waitrose “Quick and Easy Seville Marmalade recipe.” ที่พุ่งสูงกว่า 282% ปรากฏการณ์เพิ่มขึ้นของยอดขายทั้งตัว Marmalade เองและวัตถุดิบในการทำ Marmalade นี้ถูกเรียกว่า “Paddington effect”

เรื่อง : สุธาสินา เชาวน์เลิศเสรี

ภาพ :

ที่มา : 

Writer

Related Posts

Apple เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พนักงานในสหรัฐฯ

คุยกับ “โจ้” พาร์ตเนอร์ร้าน ‘Lorem Ipsum’ ที่ค้นพบว่าการทำขนมคือชีวิตที่ตอบโจทย์

Kindness Hotel โรงแรมในไต้หวันขวัญใจนักท่องเที่ยว ที่เบื้องหลังความใจดีคือการเลือกลงทุนที่ถูกจุด

ย้อนดูวิกฤตเศรษฐกิจยุค 70 ที่กำลังกลับมาซ้ำรอยเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอีกครั้ง

ย้อนดูวิกฤตเศรษฐกิจยุค 70 ที่กำลังกลับมาซ้ำรอยเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอีกครั้ง

Britney Spears ผนึกกำลัง Elton John ออกผลงานเพลงใหม่ร่วมกัน

‘YALA Stories’ โปรเจกต์สร้างสรรค์ ที่ชวนคนสำรวจรากวัฒนธรรมเดิมของยะลา พร้อมวาด ‘ความหวัง’ ที่เชื่อว่าสักวันต้องดีกว่า