ถ้าเอ่ยถามถึง Pop Culture กับคนที่อยู่ในช่วงวัยต่างกัน แต่ละคนอาจจะมีภาพคำตอบที่นึกขึ้นได้ต่างกันด้วย เพราะวัฒนธรรมประชานิยมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย แม้จะถูกมองเป็นวัฒนธรรมที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย บ้างอาจมองว่าไร้สุนทรียะ แต่ Pop Culture นี่เองที่มีอิทธิพลมากกับคนในแต่ละยุค กลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมุมมองความคิด ค่านิยม จุดร่วมของคนในสังคมในวัยที่เติบโตมาพร้อมกัน

นิยามของ Popular Culture หรือ วัฒนธรรมประชานิยม มักจะถูกตีกรอบว่าหมายถึง ความชื่นชอบ ธรรมเนียมปฏิบัติ ความเชื่อ วัตถุสิ่งของ กระทั่งบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยุค ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่งชื่นชอบเหมือนกันหรือมีประสบการณ์ร่วมแบบเดียวกัน

คำคำนี้เริ่มมีปรากฏขึ้นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ในช่วงแรกหมายถึงวัฒนธรรมแบบของคนทั่วไปในระดับแมสที่แตกต่างจาก “วัฒนธรรมโดยรัฐ” หรือวัฒนธรรมของคนชนชั้นปกครอง และต่างจาก “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งนิยมอยู่ในวงจำกัดในพื้นที่นั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในไทยเรามี “โขน” เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูง เป็นสัญลักษณ์ของชาติที่ถูกยอมรับโดยรัฐ ขณะที่ “ลิเก” เป็นวัฒนธรรมประชานิยมที่รู้จักและชื่นชอบกันทั่วประเทศ ส่วน “มโนราห์” เป็นความบันเทิงที่ได้รับความนิยมในท้องถิ่นภาคใต้ เป็นต้น

ในเวลาต่อมา การกล่าวถึง Pop Culture ก็เริ่มมีนัยเป็นมาตรวัดด้านคุณภาพด้วย โดยวัฒนธรรมแบบนี้มักถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความฉาบฉวยทางศิลปะมากกว่า แต่เข้าถึงสังคมระดับ “แมส” หรือเข้าถึงคนวงกว้างได้ดีกว่า

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ Pop Culture เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจนในสังคมช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคทศวรรษ 1950s เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นยุคที่เศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยม” เฟื่องฟูหลังสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ เศรษฐกิจระบบนี้จะอาศัยกระแสบริโภคนิยมเป็นตัวกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการดึง Pop Culture มาเป็นเครื่องมือในการขายสินค้าคือส่วนผสมที่ลงตัวอย่างยิ่ง

เราจะได้เห็นรสนิยมของสังคมและผลิตภัณฑ์ยอดนิยมกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนกันและกัน หนังดัง การ์ตูนดัง ถูกต่อยอดขายเป็นผลิตภัณฑ์สารพัด เช่น เสื้อสกรีนลาย หุ่นฟิกเกอร์ ธีมคาเฟ่ บุคคลดังสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นและทำให้แฟชั่นนั้นกลายเป็นวัฒนธรรม

มีคำกล่าวที่น่าสนใจจาก Joseph Benesh ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะ Phoenix Center of the Arts เขามองกระบวนการส่งเสริมกันของวัฒนธรรมประชานิยมและการขายของไว้ว่า “มีนิตยสารหลายร้อยเล่มที่ขายแต่ Pop Culture เท่านั้น เช่น Vogue, GQs, People หรือนิตยสารวัยรุ่นต่าง ๆ แล้วคนก็จ่ายเงินไปเพื่อให้ตัวเองถูกล้างสมองว่าจะใช้จ่ายเงินครั้งต่อไปกับอะไรดี และจะจ่ายเพิ่มให้กับอะไรก็ตามนั่นด้วย อัจฉริยะจริง ๆ”

หลายคนมอง Pop Culture ที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับทุนนิยมอย่างเป็นปฏิปักษ์เหมือนกับ Benesh ดังนั้นภาพของวัฒนธรรมประชานิยมที่เป็นความชื่นชอบที่ถูกหล่อหลอมจากคนหมู่มาก อีกกระแสหนึ่งมองว่า มันเป็นเพียงภาพที่บริษัทต่าง ๆ ‘ป้อน’ ให้กับสังคมเพื่อให้สังคมชื่นชอบแบบอุปาทานหมู่ และจะได้ขายของได้มากขึ้นเท่านั้น

ไม่ถูกวางบนหิ้ง แต่สำคัญกับชีวิต

ไม่ว่าคุณจะมองที่มาของวัฒนธรรมป๊อปอย่างไร จะเป็นเรื่องที่มาจากเบ้าหลอมของสังคมโดยแท้ หรือมาจากการอัดฉีดจากบริษัทพาณิชย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้คือ Pop Culture คืออิทธิพลอันมโหฬารต่อวิถีชีวิตคน

Pop Culture อยู่ในทุกสิ่งรอบตัวเราทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ดนตรี ศิลปะ แฟชั่น ภาพยนตร์ ละคร สถาปัตยกรรม อาหาร ภาษา/ศัพท์สแลง กระทั่งวัฒนธรรมบนโลกอินเทอร์เน็ต

วัฒนธรรมประชานิยมก็เหมือนกับวัฒนธรรมรูปแบบอื่น นั่นคือการเป็นสิ่งที่รวมคนกลุ่มหนึ่งให้รู้สึกว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ในที่นี้มักจะมีอิทธิพลกับ “วัยรุ่น” เป็นพิเศษ เพราะนี่คือกลุ่มวัยที่รับอิทธิพล สร้าง ส่งต่อ และต่อยอดวัฒนธรรมป๊อปในรุ่นของตัวเอง การมีวัฒนธรรมร่วมกันทำให้วัยรุ่นมีการเข้าสังคม ได้สานสัมพันธ์ มีเรื่องให้พูดคุย และเข้าใจกัน (แน่นอนว่าคนที่ไม่สามารถเข้าถึงและไม่รับวัฒนธรรมป๊อปของคนหมู่มาก ก็จะรู้สึกแปลกแยกออกไป)

แม้จะถูกประณามว่าเป็นวัฒนธรรมที่ตื้นเขิน ฉาบฉวย ไร้สุนทรียะทางศิลปะ หรือเป็นเครื่องมือทางการตลาด แต่ Pop Culture พิสูจน์ตนเองมาหลายสมัยว่า “วัฒนธรรมที่เข้าถึงคนในระดับแมสนี่แหละ คือวัฒนธรรมทรงพลังต่อวิธีคิดและสัญลักษณ์ทางสังคม” 

ยกตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ Star Wars ภาพยนตร์ดังที่เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อปี 1977 แม้จะเป็นเรื่องราวแฟนตาซีที่แต่งขึ้น แต่กินใจคนถึงขนาดที่ทำให้เกิด “ศาสนาเจได” (Jediism) มีสาวกที่รับเอาปรัชญาและวิถีเจไดมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง หรือในไทยจะได้เห็นพลังจากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ที่ทำให้การประท้วงทางการเมืองหยิบฉวยสัญลักษณ์ “ชู 3 นิ้ว” จากในภาพยนตร์มาใช้ในชีวิตจริง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่คนในยุคสมัยเดียวกันเข้าใจนัยและอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน

ลื่นไหลและเปลี่ยนแปลงได้

คุณลักษณะที่ทำให้ Pop Culture เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คือการเป็นวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ถูกแช่แข็งหรือมีความพยายามที่จะอนุรักษ์สิ่งใดไว้ วัฒนธรรมประชานิยมจะลื่นไหลไปตามกาลเวลา เมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นและ ‘ฮิต’ มากกว่า สิ่งนั้นจะขึ้นมาแทนที่และทำให้วัฒนธรรมเดิมตกรุ่นได้ แม้บางครั้งจะเห็นการวนซ้ำของวัฒนธรรม เช่น ปัจจุบันที่แฟชั่นยุค 90s เริ่มกลับมาให้เห็นอีกครั้ง แต่ใช่ว่าจะต้องทำเหมือนเดิมทุกกระเบียด แต่สังคมจะต่อยอดหรือปรับเปลี่ยนให้เป็นของยุคสมัยนั้น ๆ

รวมถึงลักษณะของ Pop Culture ในยุคหลังอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียบูมสุดขีดในช่วงทศวรรษ 2010s การจะหยิบจับว่าอะไรอยู่ในกรอบนิยามของ Pop Culture จะยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก เพราะในอดีต สื่อหลักจะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าอะไรที่กำลังมา กำลังเป็นกระแส คนในสังคมรับสาส์นจากช่องทางเดียวกันคือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ ความชอบของคนหมู่มากจึงไม่หนีกันสักเท่าไหร่ 

ขณะที่ยุคอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถเลือกกลุ่มความสนใจของตนเองได้ ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างอาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่ากระแสหลัก แต่มีคนกลุ่มใหญ่ที่ชื่นชอบจนสิ่งนั้นก็อาจเรียกว่าเป็น Pop Culture ได้เหมือนกัน เช่น อนิเมะ  คอสเพลย์ สตรีมเมอร์เกม อาหารวีแกน เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมป๊อปของคนยุคนี้แตกแยกย่อยออกไปมากกว่าที่เคย จนเส้นแบ่งการเลือกว่าอะไร ‘ป๊อป’ หรือ ‘ไม่ได้ป๊อปขนาดนั้น’ เริ่มจะพร่าเลือนมากขึ้น

Pop Culture ในแบบไทย ๆ

ในประเทศไทย Pop Culture ของบ้านเราส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ นำมาผสานเข้ากับบรรยากาศแบบไทย ๆ ทำให้เป็นวัฒนธรรมประชานิยมในรูปแบบของเราเอง ตลอดประวัติศาสตร์ป๊อปของเราได้ผ่านยุคสมัยมาตั้งแต่ยุคอเมริกันเฟื่องฟู ยุคกระแสจากแดนปลาดิบ และล่าสุดกับคลื่นเกาหลีใต้ที่ถาโถมเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์วัฒนธรรมป๊อปของเรา

ยุคทศวรรษ 80s 

ทศวรรษนี้เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ทั้งศิลปะ ดนตรี แฟชัน ต่างสะท้อนความรู้สึกของคนหมู่มากที่เต็มไปด้วยความหวัง ความสนุกสนาน และการปลดแอกขีดจำกัดตัวเอง

ประเทศที่ส่งอิทธิพลต่อไทยในยุคนี้หนีไม่พ้นวัฒนธรรมอเมริกัน ในสหรัฐฯ ยุคนั้นมีภาพยนตร์ดังที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอวกาศจำนวนมาก เช่น Back to the Future, Star Trek, The Terminator ในชีวิตคนเริ่มมีเครื่องมือใหม่อย่าง “คอมพิวเตอร์” ซึ่งทำให้ศิลปะคอมพิวเตอร์ยุคแรกกำเนิดขึ้น หรือ “วอล์กแมน” ที่ทำให้คนพกเพลงไปฟังได้ทุกที่

ดนตรีเองก็เริ่มนำเครื่องสังเคราะห์เสียงเข้ามาผสมกับแนวเพลงป๊อป ร็อค และเมทัล มีไอคอนของยุค เช่น ไมเคิล แจ็กสัน และ มาดอนน่า ก่อกระแสสไตล์การแต่งตัวด้วยสีสันสดใสตัดกันแบบ Color Block หรือลวดลายพิมพ์กราฟิก สวมใส่กับกางเกงขาบานหรือยีนส์ฟอกคู่ใจ ฝั่งผู้หญิงยังมีสไตล์แต่งตัวพิเศษที่นิยมการใส่สูทเสริมไหล่หนากว้างเรียกว่าเป็นชุด ‘Power Suit’ เพื่อชูกระแสผู้หญิงมีอำนาจเท่าเทียมชาย

ไทยเราได้รับอิทธิพลเหล่านี้มาเช่นกัน โดยเฉพาะด้านแฟชั่นที่เห็นได้ชัด ส่วนงานดนตรีเรามีวงดังแห่งยุคอย่าง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล, แกรนด์เอ็กซ์ ในสังกัด นิธิทัศน์ โปรโมชัน และเป็นยุคถือกำเนิดของ อาร์เอส โปรโมชั่น จุดกระแสศิลปินเพลงป๊อป เช่น ฟรุตตี้, ซิกเซนต์, บรั่นดี, เรนโบว์ ตามด้วย แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์ ต้นสังกัดศิลปินอย่าง เต๋อ-เรวัต พุทธินันท์, คาราบาว และศิลปินที่จะกลายเป็นตำนานอย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

ยุคทศวรรษ 90s

ยุคนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น (ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในปี 1997) และเทคโนโลยีก็ยังคงก้าวหน้า โดยเฉพาะการมาของ “อินเทอร์เน็ต” เป็นช่วงที่การมี “เบราว์เซอร์” เกิดขึ้น มีเว็บไซต์ดอตคอม ทุกอย่างดูทันสมัยฉับไว และกลายเป็นยุคทองที่คนจะนึกย้อนถึง (nostalgia) มากที่สุดหากให้คิดถึง Pop Culture ในไทย

ที่บอกว่าเป็นยุคทองเพราะนี่คือช่วงที่วงการเพลงไทยเฟื่องฟูอย่างมากและเป็นต้นสายของวัฒนธรรมป๊อปไทยทั้งมวล จากการแข่งขันดุเดือดของค่ายเพลง ทั้งอาร์เอส แกรมมี่ และค่ายใหม่อย่าง เบเกอรี่มิวสิก ที่ยึดเอาพื้นที่ในสยามสแควร์ สถานที่พบปะสุดฮิตของวัยรุ่น 90s เป็นที่ตั้งค่ายเพลง โดยมีค่ายเพลงลูกของตัวเองในชื่อ โดโจซิตี้ ต้นสังกัดของวงที่จะปลุกกระแส 90s อย่างชัดเจนนั่นคือ Triumph Kingdom ต้นแบบของแฟชั่น “สายเดี่ยว ส้นตึก เกาะอก เอวลอย” ที่ถือว่าแหวกขนบการแต่งตัวของหญิงไทยในยุคนั้น และกลายเป็นกระแสที่วัยรุ่นไทยใจถึง ๆ ต้องแต่งตาม

เพลงไทยในยุค 90s เฟื่องฟูทั้งเพลงป๊อป ร็อค และอินดี้ ดนตรีของไทยมีความหลากหลายและหยิบยืมกลิ่นอายจากฟังก์ แรป เข้ามาผสม แต่กระแสหลักของเพลงยุคนี้มักจะเป็นเพลงสไตล์ ‘ลูกกวาด’ ที่เน้นดนตรีน่ารัก ฟังง่าย ติดหูง่ายเป็นหลัก 

ค่ายเพลงไทยยังมีอิทธิพลไปถึงวงการภาพยนตร์ แกรมมี่ ฟิล์ม มีการผลิตภาพยนตร์ดัง “รักออกแบบไม่ได้” ข้ามฝั่งอาร์เอส ฟิล์มก็มี “โลกทั้งใบให้นายคนเดียว” “เกิดอีกทีต้องมีเธอ” เป็นภาพยนตร์แห่งยุคที่คนคิดถึง

ยุคทศวรรษ 2000s

ยุค 2000s เป็นทศวรรษคาบเกี่ยวอิทธิพลจากช่วง 90s มา ไม่ว่าจะเป็นน้ำพุเซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ ที่เกิดขึ้นในปี 1998 ตามด้วยชานมไข่มุกแก้วสูงที่ฮิตมาตั้งแต่ปี 1999 และกระแสการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดเป็นคอมโบที่รวมกันมาเป็นเทรนด์ในช่วงต้นทศวรรษ 2000s วัยรุ่นไทยมี ‘Starter Kit’ ของคนฮิปคือการแต่งชุดที่ทันสมัยที่สุดในตู้เสื้อผ้า นัดเจอกันที่น้ำพุสยาม ถือแก้วชาไข่มุก และส่ง SMS หากัน

Pop Culture ช่วงนี้มีอิทธิพลใหม่ที่น่าสนใจจากฝั่งญี่ปุ่น ทั้งศิลปิน J-Rock และ J-Pop เป็นกระแสสุดฮิตในไทย เช่น X-Japan, L’arc~en~Ciel, Arashi, Kat-tun, Utada Hikaru สร้างปรากฏการณ์วัยรุ่นไทยต้องตามหานิตยสาร J-Spy ทุกเดือน กระแสจากญี่ปุ่นมีผลต่อแฟชั่นวัยรุ่นไทยกับการแต่งกายแบบเสื้อผ้าทับซ้อนหลายเลเยอร์ กระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต ชุดนักเรียนญี่ปุ่น และที่สำคัญคือทรงผมซอยบาง บิ๊กอาย ในสไตล์แอ๊บแบ๊ว มาพร้อมกับการเข้าตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์ชู 2 นิ้วแบบวัยรุ่นญี่ปุ่น 

กระแสเหล่านี้ถูกนำมาปรับให้เข้ากับ T-Pop ไทยผ่านค่ายเพลงใหม่ของอาร์เอส นั่นคือ “Kamikaze” รวมตัวบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป หรือศิลปินเดี่ยวที่สดใส น่ารัก ขี้เล่น เช่น โฟร์-มด, เฟย์ ฟาง แก้ว, K-OTIC, หวาย-ปัญญริสา ก่อกระแส Kamikaze ฟีเวอร์ นำเทรนด์ทั้งแนวเพลง แฟชั่น บุคลิกภาพของคนร่วมสมัยเดียวกัน

ทศวรรษ 2000s ยังเป็นยุคแห่งการเชื่อมต่อถึงกันแบบดิจิทัลได้เต็มที่ เพราะนี่คือยุคแห่งการ “แชท” ตั้งแต่โปรแกรม QQ, ICQ, Pirch98, MSN จนถึงโทรศัพท์ Blackberry ในช่วงปลายทศวรรษ โลกได้เปิดกว้างให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันได้ไกลขึ้น เราไม่ได้รู้จักแค่คนในวงสังคมเดียวกัน แต่สามารถรู้จักกันข้ามโรงเรียน ข้ามจังหวัด หรือข้ามโลกก็ได้

ยุคทศวรรษ 2010s ถึงปัจจุบัน

ยุคแห่ง K-Pop หลังจากเริ่มเข้าสู่ไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2000s ยุค 2010s คือยุคทองของวัฒนธรรมเกาหลีที่กลายเป็นต้นขั้ว Pop Culture ไทย ทุกสิ่งทุกอย่างในกระแสนิยมอ้างอิงจากเกาหลีเป็นหลัก ตั้งแต่ดนตรี ซีรีส์ ภาพยนตร์ อาหาร แฟชั่น กระทั่งสไตล์การถ่ายภาพลง Instagram

สไตล์แฟชั่นไปจนถึงของแต่งบ้านในยุคนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นยุคแห่ง “มินิมอล” ทุกอย่างเน้นความเรียบง่าย สีขาว เบจ น้ำตาล การจัดวางดูโล่ง สะอาดตา โดยมีแบรนด์ที่เป็นต้นทางของการออกแบบอย่าง Muji ตามด้วยแบรนด์ที่แมสมากขึ้นด้วยกลไกราคาอย่าง Xiaomi และแพร่ไปสู่การออกแบบโดยทั่วไป ไม่ว่าใครก็ต้องเกาะกระแสมินิมอลไว้ก่อน

แม้จะปล่อยให้เกาหลีครองเมืองอยู่พักใหญ่ แต่ไทยเราก็รับเอาวัฒนธรรมมาดัดแปลงให้เป็น Pop Culture ของตัวเองได้อีกครั้ง โดยวงการเพลงไทย T-Pop เริ่มมีคลื่นลูกใหม่อีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 2010s กับยุครุ่งเรืองของเกิร์ลกรุ๊ป บอยแบนด์ ที่กลับมาในมาดใหม่ เน้นความสามารถครบ (เหมือนกับเกาหลี) ร้อง เต้น หน้าตา บุคลิก พร้อมที่จะเป็นไอดอล นอกจากนี้ยังผสมผสานกับกระแสเพลงแรปที่มาแรงจนเป็นกระแสหลักสำเร็จในยุคนี้

2010s ยังเป็น “ยุคแห่งการตื่นรู้ทางการเมืองและสังคม” การตระหนักรู้และเรียกร้องคือวัฒนธรรมที่กลับมาใหม่หลังจากหล่นหายไปหลังยุค 70s กระแสนิยมมีการตื่นรู้ทุกประเด็น ตั้งแต่ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย ฯลฯ วัฒนธรรมที่เปิดกว้างขึ้นทำให้บางกระแสที่เคยต้องหลบซ่อนหรือเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เช่น ซีรีส์วาย สามารถเป็น Pop Culture ของคนหมู่มากโดยเปิดเผยได้

เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากยุคแชท ก็เข้าสู่ยุคแห่งโซเชียลมีเดีย พร้อม ๆ กับสมาร์ตโฟนที่แพร่หลาย ทำให้ Pop Culture ในปัจจุบันแตกแขนงได้หลายกลุ่มย่อยกว่าที่เคย แม้บางอย่างมองราวกับว่าเป็นวัฒนธรรมกระแสรอง แต่ก็รวมคนได้มากพอที่จะส่งอิทธิพลกับสังคมเช่นกัน ทำให้การมองหาสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของยุคนี้อาจจะไม่ง่ายเช่นในยุคก่อน ๆ อีกแล้ว

เรื่อง : พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล

ภาพประกอบ : อับดุลกะริม ปัตนกุล

ที่มา :

Writer

Illustrator

Related Posts

พรรคประชานิยมฝ่ายขวาขัดขวางนโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

“เกาะพะงัน” ถูกจัดอันดับให้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 สำหรับคนทำงานในแบบ workation

โป๊ปขอเยือนมอสโก

สภาพอาการณ์โลกปีล่าสุด ย่ำแย่อย่างหนัก

Homeless Bar การต่อยอดจาก Homeless House ที่อยากให้เห็นถึงความเป็นเมืองที่เข้าถึงได้และตอบสนองอุดมการณ์โดยไร้ความตะขิดตะขวง

ห้ามนำถุงพลาสติกเข้าเขตอุทยานฯ ปรับสูงสุด 100,000 บาท