กล่าวถึง ‘ยะลา’ จังหวัดชายขอบทางภาคใต้ พื้นเพเดิมนับเป็นแหล่งรวมพหุวัฒนธรรมทั้งชาวไทย จีน หรือมุสลิม เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะและต้นทุนทางวัฒนธรรมอยู่มาก เห็นได้ชัดจากอาหารการกิน การดำเนินวิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ต่างถูกพูดถึงกันอยู่เนือง ๆ 

แต่หากภาพจำแรกคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งคนในพื้นที่ต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ภาพของความรุนแรง การถูกลิดรอนทางเสรีภาพหรือสิ่งอื่นใดได้ตอกลิ่มในใจของผู้คนราวกับหนังเรื่องเดิมที่ถูกฉายซ้ำ 

จนในที่สุด ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมืองยะลาก็เริ่มกลับมาคึกคักกับโปรเจกต์จากฝีมือนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ชื่อว่า “YALA Stories” โปรเจกต์นี้ส่งตรงมาจาก ‘บอล-เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์’ นักออกแบบงานสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์แบรนด์ ‘YALA ICON’ ร่วมกับทีม ‘SoulSouth Studio’ สตูดิโอออกแบบในเมืองยะลา ทีมงานอาสาสมัคร และผู้สนับสนุนอย่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและเทศบาลนครยะลา โดยยะลาสตอรี่คือการสร้างสรรค์เมืองยะลาด้วยสายตาคู่ใหม่ผ่านคนรุ่นใหม่ เพื่อผลักดันให้ยะลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในอนาคต นั่นถึงกับทำให้ภาพเหตุการณ์ความรุนแรงถูกลบเลือนไปชั่วขณะ  

อย่างไรก็ดี ‘ยะลา’ คือจังหวัดเรียบง่ายตามสามัญ อยากชวนให้เห็นไปพร้อมกัน 

มองให้เห็น ‘ยะลา’ 

“ยะลาเป็นเมืองที่มีสุนทรียภาพ มีรากของวัฒนธรรมและภาพสะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม ตัวเราเองเติบโตมากับยะลา อย่างการเห็นภาพสังคม ธรรมชาติ ผู้คน บรรยากาศตอนเช้า อาหาร หรือเสียงดนตรี พูดได้ว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลอมเราขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราดำเนินชีวิตต่างจากจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงพื้นที่อื่น และสิ่งหนึ่งที่เห็นในยะลาตอนนี้เหมือนถูกสตัฟฟ์ไว้เมื่อสี่สิบปีก่อน เรายังไม่เห็นมุมมองที่โดนทำลายจากภายนอกมากนัก ยังไม่มีห้างใหญ่ๆ ยังไม่มีสิ่งไหนมามุ่งทำลาย ‘ชีวิต’ มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นยะลาสตอรี่ทำให้กลับไปเห็นผู้คน วิถีชีวิต และชวนให้คนข้างนอกมองกลับเข้ามาว่ายะลายังมีมุมน่ารักขนาดไหน” บอลเล่า 

ความฝันที่อยากขับเคลื่อนเมืองยะลา 

เมื่อความสุนทรีย์ในบ้านเกิดหล่อหลอมความเป็นตัวตนของ ‘บอล’ จากคนชื่นชอบและขลุกกับงานสร้างสรรค์อยู่แล้ว เลยคิดอยากคืนสิ่งดี ๆ ให้ยะลาบ้านเกิดตามความฝันบ้าง บอลเริ่มก่อฝันทำโปรเจกต์ขับเคลื่อนเมืองไปสู่มิติอื่น ๆ ด้วยความตั้งใจ  

“ก่อนจะเกิดงานยะลาสตอรี่ มันคือความฝันที่อยากขับเคลื่อนเมืองยะลาด้วยงานสร้างสรรค์ที่อยู่ในพื้นที่ สังเกตว่าคนในยะลาหลายคนเก่งทางด้านการสร้างสรรค์งาน เพียงแต่ยังไม่นำไปเล่าสิ่งเหล่านี้ให้ใครได้เห็นได้ฟัง สาเหตุน่าจะเป็นที่รู้กันว่าในสามจังหวัดมีกรอบภาพความรุนแรงให้เห็นอยู่ตลอด แต่เราเห็นว่าเมืองเรามีมุมมองน่ารัก อย่างตัวเราเองก็ทำงานสร้างสรรค์ แต่เราไม่เคยทำที่บ้านเกิดเราเลย เราอยากให้คนรับรู้ในอีกหลายมุมของยะลาด้วยการเล่าเรื่องเมืองยะลาผ่านคนรุ่นใหม่”

เล่าเรื่องยะลาต้องเล่าผ่านสายตาคนรุ่นใหม่ 

ภายในงานยะลาสตอรี่จึงคลาคล่ำไปด้วยผลงานความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่คนภายนอกยังอาจไม่เคยเห็นมาก่อน บอลบอกกับเราว่า ความแปลกใหม่ในงานคือการเล่าเรื่องวัฒนธรรมในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ใช่ว่าจะไม่เคารพรากของวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม แต่ว่ากันอีกแง่คือคนรุ่นใหม่เข้าไปตีโจทย์ทุนทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนอย่างไรได้บ้าง ซึ่งพอมองแล้วมันคือซอฟต์พาวเวอร์ที่จับต้องได้จริง 

บอลเล่าต่อว่าคนรุ่นใหม่จะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเมืองยะลาที่น่าสนใจมาเล่า ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ ‘ความหวัง’ อย่างเช่น ในอีก 5 ปีข้างหน้าพวกเขาอยากเห็นการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า หรือเป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และถ้ามองให้เบสิกก็คืออยากเห็นชาวบ้านค้าขายได้ดี เมืองที่มีเทคโนโลยีล้ำ เป็นต้น นี่คือปราการสำคัญที่บอลคิดว่าคนรุ่นใหม่อยากลุยไปด้วยกันกับเขาในโปรเจกต์ยะลาสตอรี่ครั้งต่อไป 

โปรเจกต์ที่ใส่ใจยะลาทุกซอกมุมและเชื่อมสัมพันธ์ของผู้คน

งานยะลาสตอรี่จะปักหมุดที่โรงแรมเมโทร (สายกลาง) เป็นหลัก ที่สำคัญคือได้รับความสนใจจากผู้คนจนกลายเป็นกระแสไวรัลทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ 

จุดเด่นของงานจะขุดเอาวัฒนธรรม การอิงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ล้วนสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ดูน่าสนใจ ทั้งกิจกรรมพิเศษ การฉายหนังสั้น การจัดนิทรรศการ การแสดงดนตรี ฯลฯ ไม่ว่าการแสดงดนตรีจากวง ‘RROP Crew (ดับเบิ้ลอาร์ โอ พี ครูว์)’ แร็ปเปอร์น้องใหม่ที่ร้องเพลงแร็ปด้วยภาษามลายู อย่างการนำดนตรีมาผสานด้วยกันกับภาษาซึ่งเป็นรากของวัฒนธรรมจนเป็นเพลงแร็ปที่เข้ากับยุคปัจจุบัน หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชุมชนอย่าง ‘โคมไฟกรงนก’ ซึ่งเป็นงานคราฟต์ที่ทำจากใบลานแล้วสานเข้ากับวัสดุของกรงนกและนำไปใช้ได้จริง 

อีกหนึ่งงานคราฟต์ที่ใช้แนวคิดการผสมผสานจากความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงไปในผืนผ้า นั่นคือ ‘ผ้าเปอรางี’ หรือผ้ามัดย้อมที่มีลวดลายพิเศษของ ‘ดุลฟิรตรี เจ๊ะมะ’ จากแบรนด์ ‘AdelKraf’ คนรุ่นใหม่ในจังหวัดยะลาที่รักและชื่นชอบใน ‘ผ้า’ จากนั้นจึงนำสตอรี่ความเป็นพื้นถิ่นแทรกซึมเข้ามาอยู่ในลวดลายของผ้า อย่างในโปรเจกต์นี้ดุลใช้เทคนิควาด เย็บ เนา รูด ผูกมัด ย้อม คลาย ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการย้อมจนเกิดลวดลายอันสวยงาม 

ถัดมาเป็นกิจกรรมฉายหนังสั้นสี่เรื่องซึ่งเล่าเรื่องราวของคนในพื้นที่ ทั้ง ‘On My Way Home’ (2021), รุ้งรวี เอียบสกุล หนังสั้นรางวัลรองชนะเลิศรางวัลช้างเผือก (Thai Short Film) จากหอภาพยนตร์แห่งชาติ ต่อมาเรื่องที่สองคือ ‘เด็กปอเนาะ’, ทีมทานตะวันจ้า/Hi Sun Flower by DS Young Filmmaker ส่วนเรื่องที่สาม คือ ‘อาผ่อ’ (Arpor), ไพสิฐ หวังรังสีสถิตย์ และเรื่องสุดท้าย ‘สายป่าน สายสัมพันธ์’, อ.จิราพร เกียรตินฤมล ภาพรวมของหนังสั้นทั้งสี่เรื่องเล่าถึงวิถีชีวิตของคนยะลาหลากหลายมุมมองผ่านฝีมือผู้กำกับคนรุ่นใหม่ 

ส่วนถ้าอยากซึมซับวิถีชีวิตของชาวยะลาต้องเดินสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพอย่างการเดินชมเมือง ชมป่า ชมนก ชมภูเขา อีกทั้งการเดินสำรวจวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเช้า งานสถาปัตยกรรม อาหาร ในย่านการค้ายุคแรก ๆ โดยเฉพาะการทำ ‘ฟอนต์ทัวร์’ ซึ่งมีทั้งจัดแสดงในนิทรรศการแล้วให้ผู้ชมออกไปสังเกตและเก็บฟอนต์ต่าง ๆ ตามย่านการค้าด้วยตัวเอง เช่น ร้านยะลาวิทยุ ร้านยะลาการพิมพ์ ร้านโบตั๋น ฯลฯ ให้คนเรียนรู้ความเชื่อมโยงของตัวอักษรผ่านกาลเวลา 

ทางด้านการจัดแสดงนิทรรศการที่ดูสอดคล้องกับเมืองยะลาชื่อว่า ‘ยะลา…ทุกวันล้วนเป็นวันธรรมดา’ คือการเล่าเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงโดยสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่มาบอกต่อให้ผู้เข้าชมเห็นว่าทุกคนคือผู้ประสบภัย เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น หรือจะเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการอย่าง ‘อาร์ตสุไลมาน’ ศิลปะแนวสตรีตอาร์ต กับการนำอินสไปร์จากตัวศิลปินที่มองเห็นผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยภาพลักษณ์ใหม่ 

นอกจากนี้ ยังมีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหารอย่าง ‘นิบงฟรุตแลนด์’ หรือ ‘ยะลาฟรุตแลนด์’ โดยใช้ภาพตัวแทนจังหวัดยะลาที่เด่นเรื่องผลไม้นำมาทำเป็นสูตรเมนูม็อกเทลสุดพิเศษ ส่วนฝั่งของคาวจะเป็น ‘ไก่เบตง’ ในงานเล่าถึงความยากเย็นของการเลี้ยงไก่เบตงที่ต้องประคบประหงมเพื่อขายให้ได้ราคาดี และกิจกรรมเวิร์กช็อปคือ Chef’s table ซึ่งถือว่าครบครัน จะเห็นว่าอาหารการกินเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานรากของเมืองยะลาได้เช่นเดียวกัน  

อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่หยิบยกจากงานมานำเสนอ สำหรับความตั้งใจที่แท้จริงของการจัดงานที่โรงแรมย่านเก่าแก่ของยะลาอย่างโรงแรมเมโทร (สายกลาง) นั้นบอลบอกว่า สิ่งที่อยากเห็นจริง ๆ คือการมองเห็นภาพชาวบ้าน ร้านค้า คนในเมืองเกิดพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างกันในแต่ละเจนเนอเรชัน พอเห็นภาพอย่างที่คิดไว้แล้วมันเกิดความ ‘trust’ แม้แต่ผู้คนต่างเชื้อชาติยังได้เข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน  

ให้ทุกวันดำเนินไป แต่ไม่ละทิ้ง ‘ความหวัง’ 

แม้งานยะลาสตอรี่จะผ่านไปแล้ว แต่การดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงเป็นเรื่องของปัจจุบัน  

บอลอธิบายว่า “เมืองยะลาถูกเล่าผ่านแค่ภาพเดียวผ่านสื่อต่าง ๆ มาเป็นเวลากว่าสิบปีแต่ทำอะไรไม่ได้เลย แต่จะปฏิเสธว่ามันไม่มีก็ไม่ได้ ‘สิ่งหนึ่งสำหรับเราคือต้องเดินต่อไป ทุก ๆ วันของเรามันกลายเป็นวันธรรมดาไปแล้ว’ เรายังใช้ชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้นเมืองเรา เราก็อยากจะเดินหน้าต่อ เราไม่อยากเห็นสิ่งที่ retreat จากความทรงจำของคนอื่นมากนัก การเล่าเรื่องใหม่ ๆ ในยะลามากกว่าที่เราอยากเห็นและอยากให้มันเกิด” 

เรื่องราวของโปรเจกต์ ‘YALA Stories’ จึงเหมือนการแปลรหัสลับจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ทั้งการขับเคลื่อนเมืองและยังขับเคลื่อน ‘ความหวัง’ ให้เดินหน้า แน่นอนว่าทั้งบอลเและผู้ที่อยู่เบื้องหลังต่างสำเร็จไปอีกก้าวกระโดด เพราะพวกเขาได้พาจิตใจผู้คนเดินทางสำรวจจนมองเห็นแก่นแท้ของ ‘ยะลา’ ได้ชัดเจนขึ้นอีกโข 

เรื่อง : ศรีวลี หลักเมือง 

ภาพจาก : YALA Stories

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บอล–เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ และทีมงานยะลาสตอรี่, https://fapot.or.th/main/cinema/view/110, https://shorturl.asia/NKR8k

Writer

Related Posts

หาดทราย เกลียวคลื่น และกำแพง กับภาพยนตร์สามเรื่องในห้วงเวลาสิบปีของ อิฐ–ปฏิภาณ บุณฑริก

ฉลอง 100 ปีกำเนิด Gummy Bear : Haribo กัมมี่แบร์ที่ไม่ธรรมดา โดยคนธรรมดา เพื่อความสุขของคนธรรมดาทั่วโลก

“Star is Born”

ซีรีส์วายดึงดูดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น

ลูกจ้างสตาร์บัคส์แห่ขอตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จ นับแต่ 1980

สภาพอาการณ์โลกปีล่าสุด ย่ำแย่อย่างหนัก