“การไหลไป” และ “การขัดจังหวะ” คือเอกลักษณ์เด่นของสื่อโทรทัศน์ แต่กำลังเสื่อมไปตามกาลเวลาเพราะพฤติกรรมการชมคอนเทนต์ในโทรทัศน์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป 

ผลวิจัยของ กสทช. ใน พ.ศ. 2562 พบว่าอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยที่ยังคงดูโทรทัศน์คือกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนสื่อออนไลน์เป็นของคนรุ่นใหม่ ในแต่ละวันคนไทยดูโทรทัศน์ประมาณ 4.10 ชั่วโมงต่อวัน อินเทอร์เน็ต 3.45 ชั่วโมงต่อวัน และวิทยุ 1.34 ชั่วโมงต่อวัน แม้โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่คนไทยใช้เวลามากที่สุด แต่พฤติกรรมการรับชมในทุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นิยมดูคอนเทนต์โทรทัศน์ย้อนหลังผ่านสตรีมมิ่งมากกว่าชมออกอากาศตามผังรายการทีวี พฤติกรรมการชมที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ทำให้ธรรมชาติหรือเอกลักษณ์ของโทรทัศน์ก็ต้องเสื่อมไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน

โทรทัศน์เป็นสื่อที่โดดเด่นในเรื่องการแปลงโฉมสื่ออื่น ๆ (หนังสือพิมพ์ สารคดี ภาพยนตร์) ให้เข้ากับรูปลักษณ์ความเป็นโทรทัศน์อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าจะมีสื่อโทรทัศน์ ผู้คนเสพสื่อในลักษณะเป็นรายการเดี่ยว เช่น ดูภาพยนตร์ในโรงฉายก็จะดูภาพยนตร์เท่านั้น โดยไม่มีอะไรมาคั่นจังหวะ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโทรทัศน์นับตั้งแต่ ค.ศ. 1884 เป็นต้นมา การเสพสื่อก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมเดี่ยวอีกต่อไป เพราะโทรทัศน์ได้จัดจังหวะการสื่อสารใหม่ด้วยการรวมเนื้อหาสื่ออื่น ๆ มาปรากฏในโทรทัศน์ผ่านรูปแบบทอล์กโชว์ ข่าว ละครโทรทัศน์ และโฆษณา โดยเน้นเนื้อหาที่สอดรับกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้ชม   

ในหนังสือ “อ่านทีวี การเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์” ของอาจารย์สมสุข หินวิมาน ชี้ว่าธรรมชาติหรือเอกลักษณ์เด่นของโทรทัศน์คือ การไหลไปและการขัดจังหวะ (Flow and Interruption) เนื้อหาในโทรทัศน์จะถูกนำเสนอแบบหยุดคั่นเป็นจังหวะด้วยช่วงพักเบรกของโฆษณา และแบ่งเป็นตอน ๆ เพื่อออกอากาศในแต่ละสัปดาห์ การถูกคั่นด้วยจังหวะทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้ที่จะหยุดจังหวะอารมณ์โดยไม่เสียอรรถรส เช่น เวลาเราดูละครโทรทัศน์ เราเริ่มจะรู้สึกว่าฉากไหนเป็นจังหวะที่นำไปสู่โฆษณาและจะกลับมาให้เราได้รับชมอีกครั้งในช่วงเวลาไหน ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์ในโรงที่ผู้ชมจะได้ดูเนื้อหาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่ถูกคั่นจังหวะ  

สื่อในโทรทัศน์จะมีการกระจายคอนเทนต์รายการ ข่าวสาร และโฆษณาในลักษณะการไหลไปเรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขของเวลาแบบไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเราจะเห็นได้จากการจัดผังรายการที่สอดรับกับชีวิตประจำวันของผู้คน ตัวอย่างเช่น ช่วงกลางวันเป็นรายการสำหรับแม่บ้านและพ่อบ้าน เช่น รายการทำอาหาร และกีฬา เป็นต้น ตอนเย็นเป็นรายการการ์ตูนสำหรับเด็กที่เลิกเรียน ตอนกลางคืนเป็นละครโทรทัศน์สำหรับครอบครัว และช่วงดึกเป็นรายการเพลงและภาพยนตร์สำหรับวัยรุ่น จะเห็นได้ว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่ใช้เวลาในการจัดการคอนเทนต์ ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์ที่จัดวางโปรแกรมฉายตามโรงภาพยนตร์  

การดูโทรทัศน์ทำให้ชีวิตประจำวันของเรากลายเป็นความบันเทิงภายในบ้าน เพราะเนื้อหารายการที่มีทั้งสนุก ตื่นเต้น และเศร้าคละเคล้ากันไป เช่น บรรยากาศภายในห้องนั่งเล่น เราและครอบครัวจะได้ร่วมกันหัวเราะในรายการตลก รู้สึกตื่นเต้นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในรายการสารคดี ส่งเสียงเชียร์นักกีฬาในรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล และร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครหรือข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองไปพร้อมกัน กล่าวคือ เราจะรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมไปกับการดูโทรทัศน์ได้เสมอ ราวกับว่าเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งในโลกจินตนาการของสื่อโทรทัศน์ 

ไม่เพียงเท่านั้น การดูโทรทัศน์เราจะได้สัมผัสกิจกรรมอันหลากหลายที่เกิดขึ้นภายในห้องนั่งเล่น เพราะการดูโทรทัศน์เป็นกิจกรรมที่ลื่นไหล ดังที่อาจารย์สมสุข หินวิมาน ในหนังสือ “อ่านทีวี…” เขียนว่า “การดูโทรทัศน์เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะลื่นไหล (fluidity) ที่หมายความว่า ผู้ชมมิได้มีลักษณะจดจ่ออยู่หน้าจอตลอดรายการหรือตลอดเวลาของการชม” ผู้ชมจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดการคั่นโฆษณา เปลี่ยนช่องไปมา และทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปพร้อมกัน เช่น กินข้าว ทำการบ้าน คุยโทรศัพท์ และทำความสะอาดบ้าน เพราะลักษณะการนำเสนอสื่อในโทรทัศน์คือการใช้ภาพและเสียงเข้ามาทดแทนจังหวะที่ถูกลดทอนจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เรากำลังทำความสะอาดบ้าน แต่เราก็ยังได้ยินเสียงบรรยายดังออกมาจากรายการโทรทัศน์ที่เปิดทิ้งไว้ หรือถ้าปิดเสียง เราก็จะเห็นภาพและตัวหนังสือที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องให้เราเข้าใจในประเด็นนั้น ๆ 

ในอนาคตโทรทัศน์ก็ยังคงเป็นสิ่งประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีที่อยู่คู่ความบันเทิงภายในบ้าน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปคือวัฒนธรรมการดูโทรทัศน์ เราอาจจะไม่เห็นกิจกรรมการดูโทรทัศน์ที่ถูกกำหนดด้วยการออกอากาศแบบผังรายการที่สอดรับกับชีวิตประจำวันของเรา พร้อมกับกิจกรรมในห้องนั่งเล่นที่สร้างความใกล้ชิดภายในครอบครัวดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะพฤติกรรมของผู้ชมที่เปลี่ยนมาเสพสื่อออนไลน์บนหน้าจอมือถือมากขึ้นทำให้วัฒนธรรมการชมคอนเทนต์ของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน วัฒนธรรมการชมคอนเทนต์ในสังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคโทรทัศน์สู่ยุคดิจิทัลโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เรื่อง : อภิสิทธิ์ ปานอินทร์

ภาพ : Photo by rawkkim https://unsplash.com/photos/Q-PUzvQrScs

ข้อมูลจาก :

  • สมสุข หินวิมาน. อ่านทีวี : การเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์. กรุงเทพฯ: พารากราฟ, 2558. 
  • ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. อำนาจไร้พรมแดน : ภาษา วาทกรรม ชีวิตประจำวันและโลกที่เปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2561.
  • “ผลวิจัยชี้อีก 10 ปี 50% ของคนไทย ยังคงดูทีวี แต่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ.” จาก https://www.tvdigital
    watch.com/news-nbtc-18-11-62/
  • “TV – Streaming 2022 กับบริบทผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป.” จาก https://marketeeronline.co/arc
    hives/244532

Writer

Related Posts

สหรัฐฯ รีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 5%

หัวใจของชีวิตแบบมินิมัล

วิเวียน ไมเออร์ : พี่เลี้ยงดูแลเด็กที่ใช้เวลาว่างออกไปถ่ายภาพชีวิตผู้คนในเมืองชิคาโกและนิวยอร์ก จนมีภาพถ่ายชั้นเลิศมากว่า 1 แสนภาพ

โซฟี มาร์โซ สาวน้อยขวัญใจชายหนุ่มยุค 80s

จุดเปลี่ยนครั้งสําคัญในชีวิตคุณคืออะไร?

เมื่อ “คนนอก” เริ่มเห็นหัวใจของ Sex Worker