ข่าวคราวแบรนด์ใหญ่ที่หันมาลงเล่นตลาดของมือสองเริ่มมีให้เห็นเมื่อ 2-3 ปีมานี้ แบรนด์เริ่มขยับตัวเพื่อแสดงออกว่า “ฉันแคร์เรื่องความยั่งยืนนะ” เพราะแม้แต่แบรนด์หรูระดับไฮเอนด์อย่าง Gucci, Burberry หรือ Mulberry ก็ต้านทานไม่ไหว

นี่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยืดอายุสินค้าให้นานขึ้นและชะลอการเข้าไปสู่หลุมฝังกลบ แต่ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินมาถึงตอนนี้ สินค้ามือสองเคยไม่ได้รับการยอมรับจากคนเอเชียมาก่อน ถึงขั้นปลูกฝังความเชื่อว่าใส่ของใช้แล้วจะโชคร้าย หรืออัปมงคล

“การซื้อขายเสื้อผ้ามือสองเป็นหนึ่งในรูปแบบการใส่เสื้อผ้าที่เก่าแก่ที่สุดเลยทีเดียว” เดนนิตา ซีเวลล์ (Dennita Sewell) อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชันประจำสถาบันด้านการออกแบบและศิลปะเฮอร์เบอร์เกอร์ว่า

ย้อนกลับไปประมาณปี 1300s เมื่อสังคมเริ่มทันสมัยขึ้น ก็มีการเทรดเสื้อผ้ามือสองในแบบระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ เพื่อเสิร์ฟให้กับชุมชนรายได้ต่ำในช่วงยุคกลาง แต่กว่าคอนเซปต์นี้จะเป็นรูปเป็นร่างก็ปาไปในช่วง 1800s

ในปี 1897 เดอะ ซัลเวชัน อาร์มี (the Salvation Army) องค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์คริสเตียน เริ่มรวบรวมเงินที่ได้จากการขายของบริจาค เพื่อจัดหาซื้ออาหารและที่พักให้กับคนไร้บ้าน ไม่กี่ปีถัดมาก็มีองค์กรกู๊ดวิลล์ (Goodwill) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองบอสตันเริ่มบ้าง โดยเพิ่มการจัดหางานให้กับเหล่าคนตกงานด้วย

เมื่อยุคอุตสาหกรรมมาเยือน สินค้าต่าง ๆ ก็ผลิตได้มากขึ้นในราคาที่ถูกลง การซื้อขายของมือสองจึงหายไปอยู่ช่วงหนึ่ง และถูกตราหน้าว่าเป็นของสำหรับผู้อพยพ และเพื่อการกุศลที่ไม่มีใครต้องการ

แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Great Depression มาถึง ผู้คนต่างหันกลับมาให้ความสนใจกับสินค้ามือสองอีกครั้ง และนับได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของสินค้ามือสอง เพราะข้าวยากหมากแพง และทุกคนต้องการ “ประหยัด” เงินในกระเป๋า

ระหว่างยุค 70s-90s ความบูมสุด ๆ ของเสื้อผ้ามือสองส่งผ่านการแต่งตัวของเหล่าฮิปปี้ ที่สร้างมูลค่าให้ตลาดนี้มากขึ้น และทำให้หลายคนมองเห็นความเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร ที่เป็นเสน่ห์ของเสื้อผ้ามือสอง หรือจะเป็นยุคกรันจ์ที่กระตุ้นให้ตลาดเสื้อผ้ามือสองยิ่งทวีความป๊อป พร้อมสร้างมูลค่าให้ตลาดเสื้อผ้ามือสองกว่า 28 พันล้านบาท 

หากให้ชัดกว่านี้ ก็ลองย้อนกลับไปมองช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ผู้คนแห่กันมาเปิดท้ายขายของ นำสินทรัพย์ของตัวเอง (มันก็คือของใช้แล้วหรือของมือสองนั่นแหละ) มาขายเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าประคองเศรษฐกิจส่วนตัว 

สินค้ามือสองไม่เคยหายไปไหนจากสังคม แต่ขึ้นลงเป็นกราฟตามสภาพของเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ของมือสองเป็นทางออกสำหรับช่วงเศรษฐกิจขาลงได้ดี รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ด้วย ที่มีรายงานว่าของมือสองกลับมาบูมอีกครั้ง 

เมื่อกำลังผลิตและการบริโภคอย่างรวดเร็วในราคาที่ถูกลงมาก ๆ จนบางครั้งการซื้อของใหม่ถูกกว่าการเลือกใช้ของมือสอง นั่นตามมาด้วยปัญหายักษ์ใหญ่อีกอย่าง คือ สิ่งแวดล้อมกำลังถูกทำลาย

ทั้งโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่รวมถึงของใช้ทุกชนิด อย่างเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่รถยนต์ การใช้ของมือสองจึงถูกยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดูประนีประนอมต่อโลก

เพราะนั่นตรงกับหนึ่งในคอนเซปต์รักษ์โลก คือ รียูส

เมื่อก่อนสินค้ามือสองอาจถูกมองว่าเป็นของสำหรับรอการบริจาคให้คนด้อยโอกาส แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่แบรนด์ระดับโลกก็เริ่มเคลื่อนไหวในตลาดมือสอง เพราะต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และประกาศจุดยืนในประเด็นสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น Nike, IKEA หรือแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอย่าง H&M ที่พร้อมใจกันตบเท้าเข้าสู่ตลาดเดียวกัน

เหล่าแบรนด์หรูก็ไม่น้อยหน้า พวกเขาเริ่มโปรเจกต์ส่งต่อของมือสอง เช่น Balenciaga, Gucci, Burberry จับมือกับ The RealReal แพลตฟอร์มตลาดรีเซลอันดับต้น ๆ ของโลก หรือ Mulberry เปิดตัว The Mulberry Exchange เพื่อให้ลูกค้าในแบรนด์มาส่งต่อสินค้าของแบรนด์

แม้แต่เหล่าเซเลบริตี้ อย่าง เจนนี่ Blackpink ก็ยังเลือกใช้ของวินเทจ หรือเบลลา ฮาดิด ที่ก็ออกมาบอกว่าตัวเองใช้งาน Depop แพลตฟอร์มซื้อขายของใช้แล้ว เพื่อปล่อยของและซื้อใช้เช่นกัน

การใช้ของมือสองในทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่เหตุผลการประหยัดเงินในกระเป๋า แต่เป็นวิธีที่จะช่วยโลกได้อีกสักหน่อยนึง

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร

ภาพ : Photo by Robinson Greig on Unsplash https://unsplash.com/photos/sKh7dihwHT0

อ้างอิง :

Writer

Related Posts

ควันจากบ้องกัญชาอันตรายกว่าบุหรี่ถึง 4 เท่า

เตรียมเปิดประมูล “มาริลีน” ของ “วอร์ฮอล”

Sound of the Craftmanship – เสียงที่อาจเลือนหายของงานช่างฝีมือ

นักฟุตบอลทีมชาติหญิงสหรัฐฯ ได้รับเงินรางวัลเท่ากับชาย

บ้านอุ่นไอรัก ปัตตานี สถานบำบัดสารเสพติดที่ใช้แนวทางศาสนาอิสลาม

“ถุงผ้า” กับวัฒนธรรมอันยาวนานที่กลายมาเป็นสถานะแสดงความรักษ์โลก

“ถุงผ้า” กับวัฒนธรรมอันยาวนานที่กลายมาเป็นสถานะแสดงความรักษ์โลก