ในช่วงนี้ ดนตรีกับพื้นที่สาธารณะกำลังเป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร อย่าง “ดนตรีในสวน” “ดนตรีเปิดหมวก” จนกลายเป็นกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ให้กับเมือง ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความหวัง มีแรงใจเดินทางออกจากบ้านเพื่อสังสรรค์และเยียวยาจิตใจ

ในขณะเดียวกัน ฝั่งนักดนตรี นักการละคร ก็ได้มีพื้นที่ในการแสดง ได้สร้างแฟนคลับ และหารายได้เพิ่มเติมเช่นกัน แต่ทว่าหากมองในมุมเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการสร้างเมืองที่น่าอยู่ การแสดงในพื้นที่สาธารณะยังมีโอกาสในการพัฒนาต่อเพื่อส่งผลกระทบในระยะยาว โดยผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดและตัวอย่าง โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติ ด้วยกัน

อย่างแรก ว่าด้วยเรื่อง “พื้นที่” โดยขออ้างอิงจากหนังสือ Creative City โดย Charles Landry ซึ่งเป็นหนังสือที่นำเสนอแนวคิดต้นแบบการวางพื้นฐานเมืองสร้างสรรค์ที่หลาย ๆ ประเทศมักจะอ้างอิงถึง เขาได้กล่าวไว้ว่า 

“เมืองสร้างสรรค์ควรประกอบด้วย Hard Infrasturcture เช่น พื้นที่ ตึก ออฟฟิศ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ รวมถึง โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้คนใช้งาน ไปบ่มเพาะ เรียนรู้ พัฒนาและแสดงออก ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องมี Soft Infrasturcture หมายถึง สิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น วัฒนธรรม การมีปฏิสัมพันธ์ เครือข่าย โครงสร้างของรายได้และรายจ่าย เป็นต้น โดยจุดสำคัญของการพัฒนานี้คือ เมืองสร้างสรรค์ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้” 

หากพูดถึง พื้นที่การทำการแสดงดนตรี ละคร ที่เป็นสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน โมเดลหนึ่งที่สะท้อนถึงเรื่องนี้คือ “ดนตรีในสวน” ที่เน้นการใช้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่ให้นักดนตรีสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะแนวเพลงสากลมาบรรเลงสร้างบรรยากาศให้กับผู้ที่เข้ามาใช้งาน หรืองาน “Bangkok Street Noise” ที่เป็นการใช้พื้นที่รกร้าง ใต้ทางด่วน หรือตึกเก่า โดยมีคอนเซปต์ให้เป็นพื้นที่แสดงสำหรับศิลปิน นักดนตรีคนรุ่นใหม่มาเจอกับคนฟัง เพื่อขยายพื้นที่ให้กับเสียงและดนตรีที่มากกว่าแนวดนตรีป๊อป นอกจากนี้ยังมีดนตรีใน… อีกมากมายที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่ากระแสดังกล่าวเป็นการนำพื้นที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ โดยอาจจะเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการแสดงสดก็ตาม โดยในมุมของผู้เขียนมองว่า หากตัวเลือกพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการจัดการอย่างมีระบบ น่าจะส่งผลดีต่อทั้งผู้เล่นและผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศอังกฤษ ในหลาย ๆ เมือง ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เช่น ลอนดอน ลิเวอร์พูล บาธ ยอร์ค เอดินเบอระ ฯลฯ จะมี Busking Areas หรือพื้นที่แสดงความสามารถพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น นักดนตรี นักแสดงละคร นักเต้น นักร้อง นักแสดงสายไหน ๆ ก็สามารถสมัครเข้าร่วมและขึ้นแสดงได้ตามเวลาที่กำหนดตามสถานที่ที่จัดไว้ เช่น สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน บนถนนชอปปิง ลานหน้าพิพิธภัณฑ์ ลานหน้าโบสถ์ ฯลฯ การแสดงเหล่านี้ส่งผลทำให้สถานที่นั้น ๆ ไม่เงียบเหงา ไม่น่ากลัว แถมยังสร้างบรรยากาศพิเศษเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นจุดสนใจของทั้งคนในเมืองและนักท่องเที่ยว โดยฝั่งศิลปินเองก็สามารถสร้างรายได้ได้อีกด้วย 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือย่านฮงแด เมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ จนกลายเป็นสถานที่แจ้งเกิดศิลปินหน้าใหม่มากมาย โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว ย่านนี้ใกล้กับมหาวิทยาลัย Hongik ซึ่งมีคณะด้านศิลปะอยู่ด้วย จึงทำให้คนรุ่นใหม่ นักศึกษา มาอาศัย ทำงาน ใช้ชีวิตในย่านนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะ ส่วนฝั่งดนตรีเอง ก็เริ่มเติบโตมากขึ้นตั้งแต่ยุค 90 เมื่อเกิดคลับ บาร์ต่าง ๆ ที่ให้พื้นที่ศิลปินโชว์ความสามารถในหลากหลายแนวเพลง ไม่ว่าจะเป็น ร็อค อัลเทอร์เนทีฟ ฟังก์ จนกลายเป็นพื้นที่แห่งความอิสระในการแสดงออก เรียกได้ว่าเป็นย่านที่พัฒนาไปพร้อมกับนักสร้างสรรค์อย่างไม่มีขีดจำกัด จนทุกวันนี้ละแวกนี้กลายเป็นแหล่งชอปปิงของวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว และยังคงมีพื้นที่ให้การแสดงแบบเปิดหมวกอยู่เหมือนเดิม 

ดังนั้นแล้วการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น การจัดโซนนิ่ง การจัดวัน-เวลาแสดง การเปิดสถานที่ใหม่ ๆ การคัดเลือกศิลปินให้เหมาะกับสถานที่หรือย่านและกลุ่มคนดูจะช่วยส่งเสริมความเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ในระยะยาว 

องค์ประกอบสำคัญต่อมา “นักดนตรี นักแสดง” เป็นอาชีพหนึ่งของนักสื่อสารที่ใช้ร่างกาย โดยอาจมีเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ในการพัฒนาฝีมือให้กลายเป็นความสามารถพิเศษ เพื่อใช้ในการสื่อสารและสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้มักใช้เวลาในการบ่มเพาะ ฝึกซ้อม ใช้ความมานะและความอดทนในการก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะจากทั้งตัวเองและคนอื่น ๆ มากไปกว่านั้น 

ในกลุ่มนักดนตรีและนักแสดงที่เล่นในพื้นที่สาธารณะยังต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณ เพื่อทำให้คนดูสนุกและควบคุมสถานการณ์ที่อาจไม่เป็นดั่งใจในเวลาเดียวกัน โดยการแสดงในพื้นที่สาธารณะนักแสดงเหล่านี้ก็ควรได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้พื้นที่ที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างในหลาย ๆ ประเทศ จะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น Street Performer หรือนักแสดงบนท้องถนน มากกว่าการใช้คำว่า วณิพก เพราะมีระบบการจัดการทั้งในด้านสถานที่และโอกาสจากทางผู้จัดหรือภาครัฐที่เอื้อต่อคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน อย่างเช่น พื้นที่แสดงบนถนนโคเวนต์ การ์เดน (Covent Garden) ในเมืองลอนดอน โดยสถานที่นี้ถูกจัดไว้เป็นพื้นที่แสดง มีเวลาทำการแสดงทั้งหมด 45 นาทีต่อคน โดยนักแสดงคนหนึ่งได้ทำการแสดงผาดโผน มีผู้นั่งชมมากกว่า 50 คน และในช่วงสุดท้ายของการแสดงนั้น เขาได้บอกกับผู้ชมในบริเวณว่า “หากคุณชอบการแสดงนี้ สามารถเป็นกำลังใจให้ทำอาชีพนี้ต่อได้ด้วยการให้เงิน และถ้าเป็นไปได้ ขออย่างน้อย 5 ปอนด์ (250 บาท) ต่อคน” และเมื่อจบการแสดงก็มีผู้คนเดินหลั่งไหลให้เงินเขา รวมถึงเขายังสามารถเดินเก็บเงินคนในบริเวณร้านอาหารใกล้เคียงได้โดยไม่ถูกไล่ตะเพิดออกมา 

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการจัดระบบและการจัดพื้นที่ที่เข้าใจ ให้คุณค่า และเอื้อต่อคนสร้างสรรค์ จะส่งผลให้ศิลปินทำงานของตนเองได้อย่างเต็มที่ เกิดความมั่นใจและทำให้รู้สึกว่าตนควรได้รับค่าตอบแทนในจำนวนที่คุ้มค่า และคนฟังหรือผู้ชมเองก็ให้คุณค่าผ่านค่าตอบแทนเช่นกัน ซึ่งเมื่อคำนวณรายได้ของศิลปินคนนี้แล้ว คาดว่าต่อหนึ่งรอบการแสดง ได้รับเงินไม่ต่ำกว่า 80-150 ปอนด์ (3,500-6,600 บาท) และเมื่อลองคำนวณรายได้ขั้นต่ำ โดยคิดจากการแสดงเพียง 1 รอบ ต่อ 1 วันในช่วงสุดสัปดาห์ พบว่าใน 1 เดือน ศิลปินคนนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 28,000 บาทต่อเดือน

ฝั่งของประเทศไทยเอง ผู้เขียนคิดเห็นว่า หากกิจกรรมนี้จะเกิดขึ้นต่อไปในระยะยาวจะต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วมและเปิดเผย เช่น เปิดเผยวิธีการเข้าร่วมและการคัดเลือกแบบสาธารณะ เปิดเผยชื่อผู้คัดเลือกนักแสดง มีการเปิดรับแนวดนตรีที่หลากหลาย ศิลปินมีโอกาสเลือกสถานที่การแสดงของตนเอง การจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับคนทำงาน อาจมีอุปกรณ์เบื้องต้นให้กับผู้แสดง เพื่อให้โอกาสดีๆ เหล่านี้กระจายและอยู่ต่อไปได้ 

มิติสุดท้าย “กฎหมาย” เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เนื่องจากกฎหมายเปรียบเสมือนใบเบิกทางเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพ โดยในประเทศไทย นักแสดงในพื้นที่สาธารณะสามารถยื่นเรื่องเพื่อทำ “บัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ” ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้ โดยหากต้องการทำการแสดงที่ใด จะต้องทำเรื่องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นในพื้นที่รับทราบก่อนจะทำการแสดง ซึ่งจากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า มีนักดนตรีเปิดหมวกรุ่นใหม่หลายคน รู้สึกว่าตนเองไม่แน่ใจและเข้าใจถึงกฎหมายนี้ว่ามีขอบเขตอย่างไร รวมถึงรู้สึกไม่กล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวถูกมองว่าเป็นขอทาน

ซึ่งหากดูจากบทกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 จะพบว่ามีการแบ่งระหว่าง ผู้มีความสามารถด้านดนตรีกับขอทานอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพได้ แต่ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า หากศิลปินต้องการแสดงในสถานที่ใดต้องมีการทำเรื่องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาตามมาได้ จากตรงนี้ ในมุมของผู้เขียนมองว่าเป็นจุดที่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากสถานที่ในการทำการแสดงเป็นปัจจัยสำคัญ และหากตัดทอนกระบวนการบางขั้นตอนลงได้หรือมีการจัดการที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการทำงานมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากจัดการแสดงดนตรีแนว K-Pop ที่สยามสแควร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ ย่อมมีคนที่สนใจมากกว่าการแสดงที่ย่านพระรามเก้า ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนทำงานออฟฟิศ เป็นต้น จากตรงนี้ จะส่งผลไปยังรายได้และชื่อเสียงของศิลปิน

นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาถึงกฎหมายลิขสิทธิ์สำหรับนักดนตรีแนวคัฟเวอร์ โดยเฉพาะขอบเขตการนำบทเพลงมาใช้แสดงในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากมีโอกาสหารือกันในวงกว้าง ทั้งฝั่งภาครัฐและภาคเอกชน ก็จะสามารถเอื้อให้เกิดการนำไปใช้งานและสร้างสรรค์ได้กว้างขึ้น

จาก 3 มิติที่ผู้เขียนได้เสนอมานี้ เป็นเพียงการใช้ประสบการณ์ ข้อมูล และการทำงานในสายดนตรีมาวิเคราะห์ ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาในหลาย ๆ ประเด็น แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือโอกาสและความเป็นไปได้เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว โดยมีข้อสรุปว่า การแสดงในพื้นที่สาธารณะ หากมีการจัดการที่เหมาะสม เช่น การคัดเลือกสถานที่ การจัดตารางและกำหนดระยะเวลาการแสดง การเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจอย่างเป็นระบบและเปิดเผย การปรับบทกฎหมายและกระบวนการให้เอื้อต่อการทำงาน รวมถึงการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ในการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ถูกใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับหลาย ๆ ฝ่าย เช่น ฝั่งศิลปิน โดยเฉพาะ นักดนตรี นักแสดง นักร้อง นักเต้น และอีกหลาย ๆ กลุ่ม จะได้มีพื้นที่ในการแสดงออก มีโอกาสในการพัฒนาตนเองและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ต่อเติมความฝันของตนเองได้ในระยะยาวและมั่นคงมากขึ้น ผู้คนมีส่วนร่วมในการดูแลสถานที่และเกิดความหวงแหน ไปจนถึงทำให้ร้านค้าบริเวณนั้นมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นต่อเติมความเป็น “เมืองน่าอยู่” ที่มีความสามารถในการรองรับคนหลากหลายอาชีพแบบมองกันในระยะยาว

ขอบคุณภาพจาก : SiamSquareOfficial

https://www.facebook.com/SiamSquareOfficial/

ขอบคุณข้อมูลจาก

Writer

Related Posts

ลูกจ้างสตาร์บัคส์แห่ขอตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จ นับแต่ 1980

สร้างโลกด้วยสองมือของเธอ

สร้างโลกด้วยสองมือของเธอ

กระแส NFT แจ้งเกิดอาชีพ Creator สู่วงการเมทาเวิร์ส

เมื่อ “คนนอก” เริ่มเห็นหัวใจของ Sex Worker

วิเวียน ไมเออร์ : พี่เลี้ยงดูแลเด็กที่ใช้เวลาว่างออกไปถ่ายภาพชีวิตผู้คนในเมืองชิคาโกและนิวยอร์ก จนมีภาพถ่ายชั้นเลิศมากว่า 1 แสนภาพ

มีเคือง เมื่อ Kim Kardashian สวมเดรสในตำนานของ Marilyn Monroe