กระแสภารกิจการกลับเยือนดวงจันทร์ของมนุษย์ชาติ กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเร็วๆนี้ แม้ว่าเรื่องราวของการปล่อยยาน ในภารกิจปล่อยยาน “อาร์ทิมิส1” ยังคงต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบของเชื้อเพลิงที่เป็นกำลังสั่งให้บั้งไฟยักษ์ของนาซา พุ่งทะยานไปทำภารกิจซ้อมบินรอบดวงจันทร์ครั้งสำคัญ ก่อนจะทำการลงไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆในภารกิจ “อาร์ทิมิส3” นี่คือก้าวสำคัญอีกครั้งของวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์โลก และที่สำคัญก็จะเป็นเหมือนการยืนยันว่า นาซานั้นประสบความสำเร็จในการไปเยือนดวงจันทร์จริงๆ และจะไม่เป็นข้อครหาของป้าข้างบ้านว่า ที่ผ่านมานั้น นีล อาร์มสตรอง กับยาน อะพอลโล 11 ที่ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก จนถึงภารกิจ อะพอลโล 17 ที่เป็นการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์มาศึกษานั้น ว่าเป็นละครที่ยกทั้งฮอลลีวุ๊ดมาจัดฉาก เพื่อขิงประเทศไม้เบื่อไม้เมาอย่างรัสเซียว่า เฮียไปมาจริงๆนะโว๊ยยยย ไม่ได้แกล้งแสดงอย่างที่หลายคนคิด แต่หลังจากนั้น เกือบ50ปี ที่สร้างความแปลกใจ ว่าทำไมไม่มีการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง?

ความฝันของมนุษย์ที่อยากไปดวงจันทร์ ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารที่โคจรรอบโลก เรามองเห็นดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่า ทำให้มนุษย์ชาติทุกยุคทุกสมัยใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนที่นั่นสักครั้ง มีภาพยนตร์มากมายสร้างจินตนาการให้คนดูเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะไปสมัครงานที่นาซา เพื่อไปสำรวจว่าดวงจันทร์มีอะไร ยกตัวอย่างสุดคลาสสิกอย่างภาพยนตร์เรื่อง A Trip to the Moon (1902)ของผู้กำกับ Georges Méliès ชาวฝรั่งเศส เป็นภาพยนตร์เงียบ ที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นภาพยนตร์ Sci-fi เรื่องแรกของโลก ก็มีพลอตเรื่องที่สร้างจากความเพ้อฝันว่า สักวันมนุษย์จะต้องไปดวงจันทร์ให้ได้ ด้วยการสร้างซีนให้เหล่านักวิทยาศาสตร์นั่งยาน ที่มองดีๆก็เหมือนปืนใหญ่กระบอกยักษ์ ยิงขึ้นไปตำตาของดวงจันทร์ (น่าสงสาร) และเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ไปผจญภัยกับเหล่ามนุษย์ดวงจันทร์ สนุกสนานกันไปตามท้องเรื่อง แต่จุดเล็กๆที่เป็นแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ส่งเสริมให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ มุ่งมั่นในการพัฒนายานอวกาศ เพื่อจะไปดวงจันทร์ให้ได้ในสักวันหนึ่ง

มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์แล้ว (จริงหรือเปล่า?) 67 ปี ต่อมาหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ก็กลายเป็นกระแสตื่นเต้นขึ้นมาจริง เมื่อยาน อะพอลโล 11 ทำการแลนดิ้งลงบนดวงจันทร์ กับนักบินที่เราคุ้นชื่อกันมายาวนาน นายนีล อาร์ม สตรอง ต้องย้อนไปก่อนนั้นสักนิด ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง โลกของเราก็เกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจน คือโลกขั้วประชาธิปไตยที่นำโดยอเมริกา กับขั้วของคอมมิวนิสต์ ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ สงครามที่ไม่เคยลั่นกระสุนใส่กันแต่กลับกันคือการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ หนึ่งในเรื่องที่ขิงกันอย่างเมามันก็คือ การแข่งขันอวกาศ ใครส่งอะไรไปนอกโลกได้ก่อน คนนั้นโคตรเท่…. โดยศึกบั้งไฟครั้งนี้ เป็นโซเวียตที่ปล่อยหมัดใส่ก่อนในปี 1957 ด้วยการประกาศศักดา ส่งดาวเทียมสปุตนิค1 ขึ้นไปโคจรในอวกาศ และปล่อยหมัดสองตามมา ในปี 1961 กับการส่ง ยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรก ขึ้นลอยละล่องในอวกาศครั้งแรก ลูกพี่ฝั่งอเมริกา มีหรือจะยอมให้คู่แข่งพัฒนาหนีไปไกลกว่านั้น ถึงเวลาเล่นของหนัก กับการวางแผนส่งนักบินอวกาศไปเหยีบยดวงจันทร์ซะเลย นั่นก็คือภารกิจ อะพอลโล 11 ที่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์พร้อมส่ง น้านีล อาร์มสตรอง หรือนีล แขนแข็งแรง ลงไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ครั้งแรก ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1969

คำถามง่ายๆ จอดบนดวงจันทร์ หรือจอดที่ไหนกันแน่ เมื่อมีการประสบความสำเร็จ ก็เกิดเป็นข้อครหา ตั้งข้อสงสัยต่างๆนานาว่า เห้ย!!! เทคโนโลยียุคนั้นมันล้ำขนาดที่สามารถส่งคนไปเดินทอดน่องบนดวงจันทร์ได้จริงหรือ มันเกิดเป็นทฤษฏีสมคบคิดต่างๆขึ้นมามากมาย ว่านี่คือการจัดฉากตบตาคนทั้งโลก เพื่อเป็นการเอาชนะสหภาพโซเวียตที่ไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าไหร่ อเมริกาเมืองแห่งมายา มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพยนตร์มากมาย เทคนิคพิเศษต่างๆ จะต้องนำมาประโคมใส่เพื่อการสร้างละครลวงโลกเรื่องนี้แน่ๆ อะไรบ้างที่ทำให้หลายคนสงสัยว่า น้านีล แขนแข็ง ของเรานั้นไม่ได้ขึ้นไปบนดวงจันทร์จริงๆ

  1. มีข่าวลือว่า มีการจ้างผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังในยุคนั้น สแตนลีย์ คูบริก ผู้ที่โด่งดังกับการสร้างภาพยนตร์อวกาศลือลั่นโลก 2001: A Space Odyssey เข้ามามีส่วนในการสร้างละครลวงโลกครั้งนี้ เพราะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ มีการพัฒนาให้เห็นถึงความสมจริงๆ ของการเคลื่อนไหว และภาพของการเดินทางในอวกาศได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งอะพอลโล 11 ได้เหยียบดวงจันทร์ หลังจากภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ออกฉายได้1ปี เป็นไปได้ว่าจะในเวทมนต์ของวงการมายา มาเนรมิตเรื่องราวเรื่องนี้
  2. ธงชาติสหรัฐปลิวไสว ทั้งๆที่ไม่มีลม หลายคนคงเคยเห็นภาพธงชาติอเมริกาที่ปักอยู่บนดวงจันทร์ มันดูเหมือนปลิวไสวบนยอดเขาที่ไหนสักที่ แต่ความจริงแล้ว ที่นั่นไม่มีอากาศ และไม่มีลมอยู่
  3. ท้องฟ้าบนดวงจันทร์ที่ภาพถ่ายกลับมานั้น ไม่มีดวงดาวเลยสักดวง เหมือนกับเอาผ้าดำผืนใหญ่มาขึงไว้ หรืออยู่สตูดิโอที่ไหนสักที่
  4. รอยเท้าของนีล อาร์มสตอง ประทับลงบนพื้นที่แข็งได้อย่างไร ทั้งๆที่พื้นผิวดวงจันทร์น่าจะเป็นพื้นหินที่แข็งมาก แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงการตั้งข้อสงสัยนะครับ ที่เชื่อว่าใครก็สามารถจับผิดได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะคนที่รู้สึกเสียหน้าอย่างสหภาพโซเวียต ที่เรียกได้ว่า จับผิดกันทุกจุดเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นต่อๆมา ในวงการวิทยาศาสตร์ ก็เริ่มมีผู้ที่ออกมาอธิบายความเป็นจริงของกรณีข้อครหาที่เกิดขึ้น เช่น ธงชาติที่ปลิวไสวสวยงามสง่าบนพื้นที่ที่ไม่มีลมนั้น เกิดขึ้นจากแรงสะเทือนขณะที่ทำการปกธงลงบนพื้น โดยด้านบนของธงมีคานขึงธงให้ได้รูป จึงเกิดภาพที่คล้ายธงโบกสะบัดนั่นเอง และต่อมาทำไมไม่เห็นดวงดาวบนโลกพระจันทร์ เป็นเพราะว่าภาพที่ถ่ายออกมานั้น มีการใช้สปอตไลท์ส่อง จึงเป็นภาพที่มีความสว่างจ้า ทำให้ไม่เห็นแสงของดวงดาวนั่นเอง ส่วนเรื่องรอยเท้าก็ง่ายๆเลยครับ พื้นดวงจันทร์ไม่ได้แข็ง แต่เคลือบด้วยฝุ่นหนา และที่สำคัญด้วยภาวะที่ไม่มีอากาศเคลื่อนไหว ทำให้รอยเท้าของนีล อาร์มสตรอง ไม่ถูกรบกวน และจะคงสภาพแบบนี้ต่อไปเป็นร้อยปีเลยทีเดียว

ถึงเวลาลบล้างข้อครหา ด้วยการไปดวงจันทร์อีกครั้งกับภารกิจ อาร์ทิมิส และทั้งหมดที่เล่ามาก็เป็นเหมือนส่วนหนึ่งในความหงุดหงิดใจของนาซา ในเมื่อเทคโนโลยีปัจจุบัน ก็พร้อมกว่าสมัยก่อนเยอะมาก ทำไมจะกลับไปดวงจันทร์อีกไม่ได้ ทำให้เห็นชัดๆไปเลยว่า ข้าคือตัวจริงเรื่องอวกาศ และที่สำคัญนี่คือก้าวสำคัญของมนุษย์ชาติ เพราะว่ามีแผนในการสำรวจดวงจันทร์ในระยะยาวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในภารกิจ อาร์ทิมิส 1 ภารกิจครั้งนี้ จะส่งจรวด SLS เป็นจรวดที่ใหญ่ที่สุด ที่นาซาเคยผลิตมา มีน้ำหนักถึง 2.6 ล้านกิโลกรัมเลยทีเดียว ด้วยจรวด SLS จะนำแคปซูลโอไรออล ที่บรรทุกหุ่ยนต์จำลองนักบิน ทะยานโค้งรอบดวงจันทร์ แล้วกลับมาสู่โลก เพื่อเป็นข้อมูลศึกษาสำหรับภารกิจ อาร์ทิมิส 2 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 และครั้งสำคัญในภารกิจ อาร์ทิมิส 3 ในปี 2026 ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการส่งมนุษย์ลงไปเหยียบดวงจันทร์ ถึง2คน เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลของดวงจันทร์ เพื่อโอกาสในการส่งมนุษย์ไปใช้ชีวิตบนดาวดวงใหม่ และเพื่อการศึกษาหลายๆเรื่องที่เราไม่เคยรู้กับดาวดวงเล็กที่โคจรรอบโลกของเรานั่นเอง จักรวาลของเรานั้นกว้างไกลนักนะครับ ยังมีเรื่องราวความลับซ่อนอยู่อีกเยอะ เรามาช่วยลุ้นให้โครงการภารกิจ อาร์ทิมิส1 ประสบความสำเร็จ สามารถส่งจรวดขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ เพื่ออนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ของโลกใบนี้

Writer

Related Posts

ทำไมปากจู๋ = ลมเย็น ปากอ้า = ลมร้อน

ค่า FT คืออะไร ?

นางเหงือกพันธุ์ไทย มีกับเขาบ้างไหม ?

เราใช้ขวบจนถึงอายุเท่าไร ?

อยากเป็น Influencer ต้องใช้สูตร 3 ป.

ไหว้พระจันทร์เสาร์นี้ ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?