คนค้นฅน ตอน Green Road ชีวิตที่สองของขยะพลาสติก

ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดร.เป้า Green Road อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งโครงการ Green Road เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เขาพาลูกไปเที่ยวทะเลครั้งแรก ช่วงกำลังจะขึ้นเกาะ น้ำตื้น เด็ก ๆ จึงสามารถว่ายน้ำเล่นได้ เขาอยู่บนเรือ และได้เห็นภาพขยะมากมายในน้ำลอยไปมา แทนที่เราจะได้สร้างความประทับใจกับธรรมชาติตรงนี้ไว้นาน ๆ กลายเป็นว่าลูกของเขาได้มาเล่นน้ำกับกองขยะ

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ดร.เป้าตัดสินใจหาวิธีแก้วิกฤตขยะในสิ่งแวดล้อมจากมุมของตัวเองเนื่องจากเขามีพื้นฐานด้านวิศวกรรมโยธา จึงเริ่มศึกษางานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับการทดลองแปรรูปขยะ และพบว่าขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลนั้นมีแหล่งกำเนิดเดียวกับยางมะตอย ซึ่งจัดเป็นปิโตรเคมีเช่นกัน จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้

.

โปรเจกต์เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นวัสดุทดแทนจึงเกิดขึ้น โดยดร.เป้า ปรับเปลี่ยนวิธีการจากงานวิจัยดังกล่าวให้เหมาะสมกับบริบทภูมิประเทศของไทย ดังนั้นการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุทดแทนของ ดร.เป้า ขยายใหญ่ขึ้น เมื่อกลุ่มจิตอาสานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาเข้าร่วมภายใต้ชื่อ Green Road โดยมีนักศึกษา และอาจารย์ช่วยกันเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทดลองทำเป็นบล็อกปูถนน

ผลิตภัณฑ์ที่สร้างจากขยะพลาสติกบางอัน มีประสิทธิภาพดีกว่าต้นฉบับ และเมื่อโปรเจกต์ขยายใหญ่ขึ้น จากแค่เดินเก็บขยะในมหาวิทยาลัยมาทำการทดลอง ก็เริ่มรับบริจาคขยะ เอามาทำเป็นบล็อกสำหรับปูถนนในมหาวิทยาลัย จากคนกลุ่มเล็ก ๆ ในสถานศึกษา ขยายตัวเป็นหนึ่งในองค์กรจิตอาสา ที่ตอนนี้แยกตัวออกมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่เฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรืออาจารย์เท่านั้น

.

ขยะพลาสติกจำนวนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้ เมื่อรับขยะมาแล้ว Green Road ต้องเป็นผู้คัดแยกเอง แต่ปัจจุบันผู้คนรับรู้และเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะส่วนใหญ่ที่ส่งมาได้รับการแยกประเภทเรียบร้อยมาตั้งแต่ต้นทาง

ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่ง ได้รับบริจาคจากโรงงานพลาสติก ที่ยินดีส่งบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตแล้วไม่ได้มาตรฐานมาให้ Green Road นำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ แทนที่จะทิ้งพวกมันไป เพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดร.เป้า และทีมนักศึกษา รีไซเคิลขยะเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ บริจาคแก่โรงเรียน วัด อุทยานแห่งชาติ นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบล็อกปูถนนที่เป็นภาพจำของโปรเจกต์ Green Road

Writer

Related Posts

“พลังแห่งการพาย” รัฐสภา มหาชน

๒ เทพบุตรสุดที่รัก “ลิเกซุปเปอร์ฮีโร่”

จากนักรบเจ้าเวหา สู่นักรบผู้พิการ

วิทยา นักพัฒนาชุมชนแห่งทับสะแก

ศิลปะสร้างแรงบันดาลใจจากชายไร้แขน “อาจารย์สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล”

“ภาษ  อินก่ำ” ผู้ไม่แพ้ต่อโชคชะตา เจ้าของเพจแหนมคุณภาษ