ครูสนั่น บัวคลี่ หรือ ลุงเหลี่ยม ช่างกลองมือดีแห่งเมืองอ่างทอง อายุ 75 ปี เกิดและเติบโตในหมู่บ้านทำกลอง จังหวัดอ่างทอง ลุงเหลี่ยมเริ่มชีวิตในเส้นทางสายกลองด้วยความชอบตั้งแต่เรียนจบ ป.4  ทั้งชีวิตลุงเหลี่ยมทำกลองมานับหลักหมื่นใบ และเป็นเวลากว่า 50 ปีที่ลุงเหลี่ยมยังผลิตกลองด้วยมือทุกใบ แม้จะมีผู้ช่วยและเครื่องจักรแต่ก็เลือกจะทำด้วยตัวเอง “บ้านกลองลุงเหลี่ยม” เป็นที่รู้จัก ทั้งคณะลิเก วงปี่พาทย์ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป ฯลฯ ลามถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า แม้กระทั่งญี่ปุ่น ฝีมือของลุงเหลี่ยมก็ไปโลดเล่นมาแล้ว

ลุงเหลี่ยมเล่าว่า ส่วนความยากที่สุดของการทำกลอง ก็คือขั้นตอนการแต่งเสียง เพราะกลองต่างชนิดจะให้เสียงต่างกัน และกลองทุกใบจากบ้านกลองลุงเหลี่ยม หากเสียงไม่เป็นที่พอใจของลูกค้า ลุงเหลี่ยมก็ยินดีรับแก้จนกว่าจะถูกใจ ถ้าอยากได้เสียงแบบไหน ลุงเหลี่ยมจัดให้ตามต้องการ ขอให้เชื่อมือและเชื่อใจ  ถึงแม้ว่าบ้านอื่นจะหวงห้ามสูตรการทำกลอง แต่ลุงเหลี่ยมยินดีเปิดบ้านให้ความรู้ ขอให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอยากจะเรียน ลุงเหลี่ยมมักพูดเสมอว่าคุณสมบัติอาชีพช่างกลองต้อง “อดทน” เพราะไม่มีงานไหนบนโลกที่ทำแล้วไม่เหนื่อย

ลุงเหลี่ยมหลงเสน่ห์เสียงดนตรีไทย และหลงรักวิชาชีพ “ช่างกลอง” ลุงเหลี่ยมเล่าว่าภูมิใจในตัวเอง จากเด็กที่เกือบไม่จบ ป.4 พกแค่ความรู้ติดตัว แต่พาตัวเองมาอยู่จุดนี้ได้ จุดที่ผู้คนแวดวงดนตรีไทยให้การยอมรับ จุดที่ใครต่างก็อยากได้และขอครอบครองกลองสักใบจากครูช่างอย่างลุงเหลี่ยม

การที่ลุงเหลี่ยมอยู่มาถึงทุกวันนี้ เพราะลุงไม่เอาเปรียบลูกค้า แล้วก็พยายามรักษาความดีเอาไว้ ลุงไม่เคยทำงานแบบส่ง ๆ ลุงดูแลลูกค้าทุกคนให้เสมอภาคกัน ลุงเหลี่ยมมี “ใจรัก” เป็นแรงขับเคลื่อนให้ลุงทำกลองมาทั้งชีวิต และแรงขับเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การรักษาไว้ไม่ต่างกับภูมิปัญญา

Writer

Related Posts

จากนักรบเจ้าเวหา สู่นักรบผู้พิการ

ป้าแว่น น้ำพริกสร้างชีวิต

พิพิธภัณฑ์ชีวิตของ “เอนก นาวิกมูล” เปรียบตัวเองเป็นคนปะชุนประวัติศาสตร์

“ครูจิ๋ว” ทองพูล บัวศรี ครูนักบูรณาการเพื่อผลักดันให้เด็กทุกคนบนโลกนี้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม

ภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ของ UNFPA ณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

รักยิ่งใหญ่จากชายคนหนึ่ง พ่อตั้มของน้องอิคคิว